TARAGRAPHIES

A Conversation With Society

การบังคับอพยพชุมชนจากการสร้างเขื่อน : เรื่องราวของแม่ฮักพัฒนา

ในช่วงกลางปี 2539 ถึงปี 2540 ด้วยการสนับสนุนของกัลยาณมิตรชาวญี่ปุ่นที่ต้องการทราบถึงผลกระทบด้านต่างๆ จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการแห่งญี่ปุ่น (Japan Official Development Assistant)ในประเทศไทย ผมได้มีโอกาสรับรู้ถึงประสบการณ์และความเป็นไปที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านแม่ฮักพัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรรองรับชุมชนดั้งเดิมที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา


จากบันทึกของผมในช่วงปลายฤดูฝน 2540

“แม่ฮักพัฒนาตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ในทางกายภาพ ชุมชนแห่งนี้อยู่ชายขอบแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน(Chiangmai-Lamphun valley) แต่ในอาณาเขตทางสังคม แม่ฮักพัฒนาในยุคนั้นยังอยู่ ณ ชายขอบของการพัฒนาอีกด้วย

เมื่อเดินทางออกจากเวียงเจียงใหม่ไปทางทิศตะวันออก แนวเทือกเขาผีปันน้ำปรากฎชัดในวันท้องฟ้าแจ่มใส ตามเส้นทางที่เบี่ยงขึ้นทางเหนือเล็กน้อยผ่านอำเภอสันทรายและชุมชนนับไม่ถ้วนตามรายทาง แม่ฮักพัฒนาต้อนรับผมด้วยเส้นทางลาดยางใหม่ และป้ายชื่อหมู่บ้านใหญ่โต ดูเหมือนว่า ชุมชนแห่งนี้ได้รับการพัฒนาอยู่ในระดับที่บรรลุเป้าหมายของรัฐแล้ว

แต่แม่ฮักพัฒนากลับดูห่างเหิน โดยเฉพาะคนมาเยือนเช่นผมซึ่งเป็นผู้อื่น(Otherness) ระยะห่างของแปลงที่ดินที่ได้รับการจัดสรรคือความแตกต่างประการแรกเมื่อเทียบกับแบบแผนการตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิมในภาคเหนือ ในระยะห่างนั้นยังเป็นระยะห่างระหว่างความทุกข์ยากและความหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ผมพบว่า คนในชุมชนแม่ฮักพัฒนาที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป (เมื่อปี พ.ศ. 2539) การย้ายถิ่นฐานจากชุมชนเดิมในที่ราบหุบเขาริมฝั่งแม่น้ำกวงตอนบนคือประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม หลายคนยังเก็บเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำนา แม้ว่าจะกลายเป็นตำนานของพวกเขาไปแล้ว

สิ่งที่ซ่อนเร้นสายตาคนภายนอกคือผลพวงจากการที่ชุมชนถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบ โครงการและงบประมาณจากหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนที่ถูกบังคับอพยพ ความทุกข์ของชุมชนแม่ฮักพัฒนามิได้มาจากการขาดแคลนทางวัตถุที่รัฐนำเข้าไป หากแต่เป็นความทุกข์จากการที่พวกเขาไร้ซึ่งสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง”


แน่นอนว่า ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แม่ฮักพัฒนาก็เช่นกัน รายงานภาคสนามของผมชิ้นนี้ไม่ได้มีอะไรมากกว่า การบันทึกประวัติศาสตร์เล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของชุมชน ที่อาจพอเป็นประโยชน์ในการสะท้อนถึงกาลสมัยและวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและการรับรองสิทธิของชุมชนในการกำหนดอนาคตของตนเอง

%d bloggers like this: