ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐซึ่งถูกชี้นำโดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่นธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย เป็นต้น ได้ผลักดันให้โรงบำบัดน้ำเสียรวมเป็นคำตอบมหัศจรรย์ในการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมและ/หรือชุมชน โดยสามัญสำนึกผนวกกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ให้เห็นว่า โรงบำบัดน้ำเสียรวมไม่ใช่ทั้งสิ่งมหัศจรรย์หรือทางออกของปัญหา โรงบำบัดน้ำเสียรวมไม่สามารถขจัดมลพิษให้หมดไปได้ ความเป็นจริงคือทุกพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียรวมดำเนินการอยู่เป็นพียงสถานที่รวบรวมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมและปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

แม้จะรับรู้ถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียรวม รัฐบาลยังคงสนับสนุนโครงการก่อสร้างระบบบำบัด    น้ำเสียรวมในฐานะเป็นคำตอบทั้งหมดเพื่อตอบรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนต่อปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นของ  มลพิษในดินและน้ำจากอุตสาหกรรมสกปรกทั้งหลาย   ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่าทำไมโรงบำบัดน้ำเสียรวมจึงล้มเหลว เสนอเหตุผลเพื่อยุติการลงทุนที่จะมีขึ้นต่อไปกับเทคโนโลยีที่ไร้ประสิทธิภาพนี้ และมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่แท้จริงซึ่งนำเราไปสู่เส้นทางของการผลิตที่สะอาด

โครงการบำบัดน้ำเสียรวมสมุทรปราการ

กรมควบคุมมลพิษและธนาคารพัฒนาเอเชียอ้างว่า   โครงการจัดการน้ำเสียสมุทรปราการซึ่งประกอบด้วยโครงข่ายท่อรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียรวมเป็นทางเลือกที่เป็นจริงทางเลือกเดียวที่จะช่วยฟื้นฟู   คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและในอ่าวไทย รวมทั้งลดปริมาณสารมลพิษและโลหะหนักต่างๆ ที่ไปตกตะกอนสะสมอยู่ก้นอ่าว โดยการดักน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือนและสถานประกอบการต่าง ๆ ผ่านท่อลอดใต้ดินและส่งไปยังโรงบำบัดน้ำเสียส่วนกลางที่ตำบลคลองด่าน หลังจากผ่านกระบวนการบำบัดต่าง ๆ เช่น การบำบัดขั้นต้นโดยการกรอง การตกตะกอน การบำบัดทางชีวภาพโดยการเติมอากาศและตกตะกอนจุลินทรีย์เป็นต้น น้ำเสียจากโรงบำบัดพร้อมที่จะปล่อยออกสู่ทะเลทางท่อระบายน้ำทิ้ง

โรงบำบัดน้ำเสียรวมทำอะไร

เมื่อพิจารณาว่าน้ำเสียจากอุตสาหกรรม (หรือจากบ้านเรือน) มีคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกัน น้ำเสียก็สามารถเข้ากับพารามิเตอร์พื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปริมาณของแข็งละลายทั้งหมด (TDS), ปริมาณของแข็งแขวนลอยทั้งหมด(TSS), ความต้องการออกซิเจนทาง  ชีวเคมี(BOD), ความต้องการออกซิเจนเชิงเคมี(COD) และความเป็นกรดด่าง(pH)เพื่อเป็นไปตามค่ามาตราฐานน้ำทิ้งสำหรับพารามิเตอร์ดังกล่าว

น้ำทิ้งที่บำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียรวมมีความสะอาดและไร้มลสารพิษปนเปื้อนหรือไม่

ไม่เลย แม้ว่ามาตรฐานสำหรับพารามิเตอร์พื้นฐานจะเป็นตามที่กำหนดไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำทิ้งจากโรงบำบัดรวมจะปลอดภัยหรือไร้มลพิษ น้ำเสียอุตสาหกรรม(แม้ว่าจะถูกนำมาบำบัดรวมกับน้ำเสียจากบ้านเรือนในกรณีของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน) มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีสารมลพิษตกค้างยาวนานที่คุกคามต่อชีวิต สารอินทรีย์ระเหย และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม อาร์เซนิก โครเมียม และปรอท เป็นต้น โรงบำบัดน้ำเสียมักไม่ได้ชี้ให้เห็นปัญหาเหล่านั้น หรือไม่ได้ถูกเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบหรือบำบัดมลพิษเหล่านั้น

โรงบำบัดน้ำเสียรวมไม่สามารถกำจัดสารมลพิษตกค้างยาวนานที่มีอยู่หลายชนิด ไม่สามารถกำจัดโลหะหนัก และไม่พูดถึงแม้กระทั่งสารประกอบอินทรีย์ระเหย

ทำไมโรงบำบัดน้ำเสียไม่ใช่ทางออกของปัญหา

ในทางทฤษฎี โรงบำบัดน้ำเสียรวมก็ยังไม่ใช่คำตอบของการบำบัดน้ำเสียอุตสาหกรรมจากแหล่งอุตสาหกรรมที่หลากหลาย น้ำเสียจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีสารพิษที่หลากหลายในระดับที่แตกต่างกันไม่เพียงแต่เท่านั้น บ่อยครั้งน้ำเสียอุตสาหกรรมที่มีส่วนผสมอันสลับซับซ้อนของสารพิษซึ่งต้องการวิธีการที่แตกต่างกันในการบำบัดหรือทำลาย ส่วน

การนำน้ำเสียจากบ้านเรือนมาบำบัดรวมกับน้ำเสียอุตสาหกรรมในโครงการบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน สมุทรปราการ เป็นเพียงการเจือจางสารมลพิษ และแพร่กระจายมลพิษจากตัวกลางสิ่งแวดล้อมหนึ่งไปสู่    สิ่งแวดล้อมอีกอันหนึ่งเท่านั้น

ปัญหาเหล่านี้จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วยความจริงที่ว่าโรงบำบัดน้ำเสียต้องทำงานให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด น้ำเสียที่เข้ามาจำเป็นต้องถูกควบคุมและมีความคงที่สม่ำเสมอ และคุณลักษณะของน้ำทิ้งจำเป็นต้องสอดคล้องต้องกันเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในทางปฏิบัติสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น

แทนที่จะกำจัดมลพิษ โรงบำบัดน้ำเสียรวมจะทำการกระจายมลพิษจากของเหลวไปสู่รูปของกากตะกอนซึ่งลดการปนเปื้อนมลพิษในน้ำผิวดิน แต่ทำให้เกิดกากของเสียเป็นพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการจัดการอีกต่อไป

โดยมุ่งความสนใจไปที่ของเสียที่เป็นของเหลว โรงบำบัดน้ำเสียรวมมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า ไม่เพียงแต่สร้างของเสียที่เป็นกากตะกอนจำนวนมหาศาล  แต่ยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากมลสารระเหยออกสู่     สิ่งแวดล้อมใน พ.ศ. 2542 กรีนพีซทำการวิเคราะห์คุณภาพ น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียรวมหลายแห่งในรัฐกุจราช ประเทศอินเดีย ตัวอย่างเช่น โรงบำบัดน้ำเสียที่วาปี น้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมีมลสารอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบหลายชนิด เช่น เฮกซาคลอโรเบนซีนและโพลีคลอริเนเตดไบฟีนีลซึ่งมีความเป็นพิษสูง น้ำเสียที่บำบัดแล้วยังมีแคดเมียมในระดับสูง โครเมียม คอปเปอร์ ตะกั่ว แมงกานีส ปรอท นิเกิล และสังกะสีในระดับที่สามารถวัดได้ [1]

มีการอ้างถึงความสำเร็จของ Werribee Treatment Complex ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นต้นแบบที่นำมาใช้กับโครงการบำบัดน้ำเสียรวมที่คลองด่านโรงบำบัดน้ำเสีย Werribee มีพื้นที่มากกว่า1 ล้านเฮกแตร์ รับน้ำเสียประมาณ 40 % จากชุมชน และอีกราว 70-80 % เป็นน้ำเสียอุตสาหกรรม เนื่องจากขนาดที่ใหญ่โตของระบบบำบัด จึงไม่มีการพูดถึงผลกระทบจากของเสียอุตสาหกรรมมากนัก เมื่อเทียบกับระบบบำบัดน้ำเสียอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าสารพิษตกค้างจะไม่ถูกทำลายในกระบวนการนี้ แต่จะสะสมอยู่ในกากตะกอนของเสียการศึกษาในปี พ.ศ. 2536 โดยภาควิชาเคมีประยุกต์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเมลเบอร์น พบว่ากากตะกอนของโรงบำบัดน้ำเสียที่ Werribeeมีโลหะหนักจำพวกโครเมียม ทองแดง สังกะสีแคดเมียม นิเกิล ตะกั่ว ดีบุก ปรอท อาร์เซนิก ปนเปื้อนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 10 เท่า ของข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้

คณะกรรมการด้านโยธาเทศบาลนครเมลเบอร์น และ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รัฐวิคตอเรียได้เก็บตัวอย่างไดออกซินที่ Warribee และ Port Phillip Bay ในปี พ.ศ. 2533 มีการศึกษาของMelbourne Water ในปี พ.ศ.2536 ที่ Werribee และโรงบำบัดน้ำเสียอื่นๆ ในรัฐวิคตอเรีย เมื่อนำมาพิจารณารวมกัน ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการปรากฏตัวของไดออกซินในน้ำเสีย, กากอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมทางทะเล

การศึกษาใน พ.ศ.2536 เรื่อง สารพิษที่โรงบำบัดน้ำเสีย Werribee โดยภาควิชาเคมีประยุกต์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเมลเบอร์น พบว่า การนำเข้าไดออกซินและฟูรานไปสู่ Werribee Treatment Complex มีค่าสูงกว่าน้ำเสียจากบ้านเรือนถึง 10 เท่า สาร 2,3,7,8 TCDD ซึ่งเป็นรูปของไดออกซินที่เป็นพิษมากที่สุดถูกพบในน้ำทิ้งที่เป็นวัตถุดิบ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำ แต่เป็นสิ่งยืนยันว่าแหล่งกำเนิดจากอุตสาหกรรมมีส่วนต่อการปรากฎไดออกซินและฟูรานของน้ำเสียที่เข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสีย Werribee ตัวอย่างกากตะกอนพบไดออกซินมีค่ามากกว่า 1 ส่วนในพันล้านส่วน นอกจากนี้ 2,3,7,8 TCDD มีค่าสูงกว่าในกากตะกอนของเสียที่ตกค้างอยู่เดิมซึ่งสะท้อนให้เห็นระดับของไดออกซินและฟูรานระดับต่ำที่เข้ามาสู่โรงบำบัดน้ำเสียในช่วงเวลาที่ผ่านมา [2]

โรงบำบัดน้ำเสียที่ Werribee ไม่เพียงเป็นต้นแบบที่ล้มเหลว หากยังไม่ใช่ทางออกของปัญหามลพิษอีกด้วย

ทางออกของวิกฤตมลพิษที่เกิดขึ้น

วิกฤตการณ์ปัญหามลพิษในปัจจุบันเป็นผลมาจากการวางแผนในระยะสั้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี เทคโนโลยีการบำบัดแบบปลายท่อ เช่น โรงบำบัดน้ำเสียรวม เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความจริงที่ว่านักพัฒนาอุตสาหกรรมและรัฐบาลไม่สนใจที่จะแก้ต้นตอของปัญหามลพิษ และทำลายระบบนิเวศที่ค้ำจุนทุกชีวิตเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแต่ถ่ายเดียว

กุญแจสำคัญต่อยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ประสบผลสำเร็จซึ่งจะนำเราออกไปจากวิกฤตการณ์มลพิษ คือ การผลิตที่สะอาด ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลและตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและปริมาณสารเคมีเป็นพิษที่ใช้หรือปล่อยออกมาโดยอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสร้างยุทธศาสตร์การลดของเสียที่ไปด้วยกันกับโครงการจัดการของเสียอื่น ๆ กากของเสียที่มีปัญหาเฉพาะจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาที่แหล่งกำเนิด และวิธีการกำจัดของเสียเหล่านี้ต้องเริ่มที่ระดับโรงงานโดยการทดแทนสารเคมีที่เป็นพิษด้วยสารเคมีที่เป็นพิษน้อยกว่า หรือโดยการเปลี่ยนกระบวนการที่สามารถจัดการกับสารเคมีที่ก่อปัญหาน้อยกว่า

สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะในรายละเอียดของสารเคมีในสายธารของเสียที่ผลิตขึ้นมานำไปสู่การประเมินใหม่ของวัตถุดิบและกระบวนการที่ใช้ ที่จะระบุให้เห็นถึงกลไกการลดวัตถุดิบและกระบวนการที่ใช้ ท้ายที่สุด อาจจำเป็นต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายระยะยาวในการกำจัดสารพิษที่แหล่งกำเนิด


[1]Geenpeace Australia, Dioxin Hotspots : Known and Potential Sources of Dioxin Pollution in Australia, December 1998.


[2] Labunska, I., Stephenson, A., Brigden, K., Santillo, D., Stringer, R., Johnston, P.A.&Ashton, J.M. “Toxic Hotspots : A Greenpeace Industrial Estates, Organic and heavy metal contaminants in sample taken at three industrial estates in Gujarat, India, Greenpeace Research Laboratories, Exeter 1999.