สิ่งที่ส่งมาด้วย “Exposure : Portrait Of A Corporate Crime” และเอกสารเรื่อง 20 ปีเหตุการณ์โภปาล

นี่เป็นจดหมายค่อนข้างจะเป็นทางการของผมในรอบหลายปีที่เป็น “จดหมายถึงบรรณาธิการ” ผมติดตาม A Day Weekly มาตั้งแต่ต้นโดยตลอด (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิก) จดหมายฉบับนี้ส่งมาพร้อมกับหนังสือภาพเล่มใหญ่ “EXPOSURE : PORTRAIT OF A CORPORATE CRIME” ซึ่งเป็นผลงานของช่างภาพชั้นนำคนหนึ่งในอินเดียชื่อ Raghu Rai ที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดยกรีนพีซสากล/อินเดีย

Exposure : Portrait Of A Corporate Crime ร่วมจัดพิมพ์โดยกรีนพีซสากลในปี 2002 ผลงานภาพถ่ายของ Raghu Rai /https://raghuraifoundation.org/product/exposure-portrait-of-a-corporate-crime/

วันที่ 2 ธันวาคม 2547 ที่จะมาถึงนี้เป็นวันครบรอบ 20 ปีของหายนะภัยของอุตสาหกรรมเคมีซึ่งเกิดขึ้นที่จากก๊าซพิษรั่วไหลจากโรงงานบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์(ปัจจุบันยุบรวมกับบริษัทดาว เคมิคอล) ที่เมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ อินเดีย คงคล้าย ๆ กับหลายเหตุการณ์ที่ในแต่ละปีจะมีการรำลึกกันโดยเฉพาะปีที่ 20 แต่สำหรับกรณีโภปาล นอกจากมันถูกเรียกว่า “ฮิโรชิมาแห่งอุตสาหกรรมเคมี” แล้ว (มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จนถึงปัจจุบันราว 20,000 คน – เฉลี่ยวันละคน, เด็กรุ่นหลังที่เกิดตามมาเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และผู้รอดชีวิตอีกราวแสนห้าหมื่นคนยังคงต้องได้รับการรักษาและเยียวยา หลังเกิดเหตุการณ์ โรงงานถูกสั่งปิดและทิ้งกากสารพิษไว้จนถึงปัจจุบันโดยไม่ได้รับผิดชอบใด ๆ และน้ำใต้ดินที่ชุมชนรอบ ๆ ใช้มีการปนเปื้อนสารพิษในระดับสูง) หายนะภัยดังกล่าวยังเป็น “เสียงปลุกให้พวกเราทั้งหมดในอุตสาหกรรมตื่นขึ้น” ตามคำกล่าวอ้างของรองประธานฝ่ายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัทดาวเคมิคอล แต่แท้ที่จริงชาวโภปาลก็ไม่ได้เห็นอะไรเกิดขึ้นจากคำพูดดังกล่าว

หลังเกิดเหตุการณ์ที่โภปาลในปี พ.ศ.2527 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา การผลักดันอย่างเข้มแข็งของประชาชนและองค์กรสิ่งแวดล้อมทำให้รัฐบาลอเมริกันต้องออกกฎหมายการวางแผนฉุกเฉินและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของชุมชนในปี พ.ศ. 2529 เพื่อสนับสนุนความพยายามการวางแผนฉุกเฉินในชุมชน ปรับปรุงการเตือนภัยฉุกเฉินในกรณีที่เกิดสารเคมีอันตรายรั่วไหลและพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่สิ่งแวดล้อม

ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คนอเมริกันและคนทั่วโลกมีสิทธิที่จะรู้ว่าอุตสาหกรรมที่ดำเนินการในสหรัฐฯ ปล่อยสารเคมีชนิดไหนออกมาและเป็นอันตรายอย่างไร (สามารถค้นหาได้จากเวบไซต์ ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม ข้อมูลทางเวบไซต์เข้าถึงยากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายนเพราะมาตรการป้องกันการก่อการร้าย) ในขณะที่ชุมชนในประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้เพราะรัฐบาลไม่มีกฎหมายและบริษัทข้ามชาติมีอำนาจล้นฟ้า

นอกจากหนังสือภาพ ผมได้แนบเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมกรณีโภปาลมาให้ด้วย เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน ในกรณีมลพิษอุตสาหกรรมของประเทศไทย คุณอธิคมอาจรับรู้ถึงกรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ สารเคมีระเบิดที่คลองเตย โรงงานลำไยระเบิดที่เชียงใหม่ มลพิษอากาศจากโรงงานปิโตรเคมีที่มาบตาพุด และอื่น ๆ ซึ่งไม่อาจเทียบเท่าโศกนาฎกรรมที่โภปาลอินเดีย แต่ก็ถือว่าเป็นหายนะภัยที่เราจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อมิให้เกิด “ภาวะซ้ำรอย” ขึ้น เรายังไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่รับรองสิทธิที่จะรู้ของชุมชนเป็นการเฉพาะในเรื่องการจัดการสารเคมี มีแต่สิทธิชุมชนลอย ๆ อยู่ในรัฐธรรมนูญซึ่งยากเหลือเกินที่จะเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิของประชาชนในกรณีเกิดเหตุการณ์สารพิษสารเคมี ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเต็มขั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการในเชิงบังคับให้อุตสาหกรรมจัดทำทะเบียนการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและรับรองสิทธิชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องสุขภาพอนามัยของตนเองและสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายนี้ แม้สาธารณชนในประเทศไทยรู้ไม่มากนักเกี่ยวกับ 20 ปีของโภปาล ผมก็อยากจะฝากมาทาง A Day Weekly ให้พิจารณาหนังสือภาพนี้ ภาพหลายภาพสะท้อนด้านมืดของเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งกำหนดโดยอำนาจและความละโมบของบรรษัทข้ามชาติ ผมขอจบจดหมายฉบับนี้โดยการยืมคำพูดของ Anita Rockdick ผู้ก่อตั้ง Body Shop ที่ว่า “Corporate Crime kills far more people and costs tax-payers far more money than Street Crime”

ด้วยความนับถือ
ธารา บัวคำศรี