บทนำ

รายงานฉบับนี้เป็นรายงานการศึกษาเบื้องต้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิธีการจัดการวัสดุเหลือใช้โดยการเผาและนำเสนอทางเลือกในการจัดการขยะมูลฝอยเทศบาลในเขตกรุงเทพมหานคร
โดยการใช้เทคนิคขั้นพื้นฐานในการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การลดปริมาณของเสีย และการทำปุ๋ย รวมทั้งยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่เป็นประสบการณ์จากทั่วโลก ทางเลือกดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีความน่าสนใจทั้งในทางเศรษฐกิจและการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ในทางเศรษฐกิจ ทางเลือกนี้ทำให้เราใช้ทรัพยากรที่จะต้องขุดขึ้นมาจากพื้นโลกน้อยลง(Reduce) นำวัสดุต่าง ๆ มาใช้ซ้ำ (Reuse) และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ยิ่งกว่านั้น ทำให้วัสดุเหลือใช้ถูกนำไปฝังกลบน้อยลงอีกด้วย โดยการหลีกเลี่ยงวิธีการเผาขยะ ประชาชนในกรุงเทพมหานครจะไม่ต้องเผชิญกับมลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยออกจากปล่องควันของโรงงานเผาขยะ
ในทางสิ่งแวดล้อม การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าระบบการจัดการแบบเดิมอย่างมาก มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่น้อยกว่า และทำให้เกิดการก่อตั้งธุรกิจการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่และเพิ่มการจ้างงานอีกด้วย
การจัดการของเสียของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
พื้นที่ : 1,568.74 ตารางกิโลเมตร (980,463 ไร่)
ประชากร : 8,557,100 คน ใน พ.ศ. 2542 (รวมประชากรทะเบียน 5.8 ล้านคน และการคาดประมาณประชากรแฝง ประชากรเข้ามาทำงาน/เรียน และนักท่องเที่ยว)
ยุทธศาสตร์การจัดการของเสียของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันเน้นการเก็บขนขยะมูลฝอยในปริมาณมากและระบบกำจัดขนาดใหญ่ ระบบดังกล่าวไม่ยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การพัฒนาประเทศดำเนินไป ปริมาณของเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานคร ได้จัดหาแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการการจัดการของเสียแบบผสมผสานซึ่งประกอบด้วยโรงงานแยกขยะ โรงงานทำปุ๋ย และโรงงานเผาขยะ
ถึงเวลาของกรุงเทพมหานครในการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การจัดการของเสียโดยเน้นไปที่ระบบการจัดการของเสียด้วยวิธีการที่หลากหลาย แต่ละวิธีการควรมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและมีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจมากที่สุด ด้วยแนวทางเช่นนี้ กรุงเทพมหานครจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหา “ขยะล้นเมือง” ได้
ปริมาณขยะมูลฝอย
สำนักรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร รายงานว่าในปี พ.ศ. 2542 มีการขนถ่ายขยะมูลฝอย 8,700 ตันต่อวันหรือ 3.18 ล้านตัน ไปยังสถานีขนถ่ายมูลฝอย 3 แห่ง ปริมาณขยะนี้ไม่รวมถึงวัสดุเหลือใช้ที่ถูกแยกออกก่อนที่จะส่งไปกำจัดหรือขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และยังไม่รวมขยะที่ตกค้างซึ่งเป็นปัญหาเกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วน แม้ว่าจะมีการลักลอบทิ้งขยะหรือการเผากลางแจ้ง ใน พ.ศ. 2541 กรุงเทพมหานครรายงานว่าประสิทธิภาพการเก็บขนอยู่ที่ร้อยละ 80 ของปริมาณขยะทั้งหมด ด้วยสมมุติฐานนี้ สถาบันเพื่อการพึ่งตนเองระดับชุมชน (Institute of Local Self-reliance ; ILSR) จึงคาดประมาณการเกิดขยะต่อวันไว้ที่ 12, 100 ตัน
การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
กรุงเทพมหานครสนับสนุนการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่โดยการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกและโดยการพัฒนาแนวทางและนโยบาย แต่ไม่ได้ให้บริการด้านการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่โดยตรง
ความพยายามในการส่งเสริมการนำวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในกรุงเทพมหานครดำเนินการโดยบริษัทเอกชนและภาคเศรษฐกิจนอกระบบ บางครัวเรือนแยกวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และขายตรงให้กับคนเร่เก็บขยะ ถึงแม้ว่าไม่มีการบังคับให้แต่ละครัวเรือนแยกวัสดุที่สามารถนำมาใช้ใหม่
คนเก็บขยะได้ทำการแยกวัสดุต่าง ๆ เหล่านั้นจากขยะที่เก็บจากบ้านเรือนและสำนักงานและคนเก็บขยะจะดึงเอาวัสดุเหลือใช้จากหลุมฝังกลบ สำนักงานของธุรกิจขนาดใหญ่ขายวัสดุเหลือใช้ให้กับร้านรับซื้อและพ่อค้าคนกลางโดยตรง ประมาณว่าวัสดุเหลือใช้ราว 1,000 ตันต่อวัน มีการนำมาหมุนเวียนผ่านความพยายามเหล่านี้
องค์กรที่เกี่ยวข้อง
สำนักรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตทุกเขตจะรับผิดชอบในการจัดการของเสีย สำนักรักษาความสะอาดจะดูแลการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ มูลฝอยจากการตลาด สถานที่สำคัญต่าง ๆ และการทำความสะอาดถนน สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตจะดูแลการเก็บขนขยะจากอาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด และพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ
กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอแผนงานระดับชาติในการจัดการของเสีย พ.ศ. 2540-2544 เป้าหมายหลักของแผนประกอบด้วยการคงระดับการผลิตของเสียต่อคนไม่เกิน 1 กิโลกรัมต่อวันและบรรลุเป้าหมายในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ร้อยละ 10 ภายใน พ.ศ. 2544 และร้อยละ 15 ภายใน พ.ศ. 2549 แผนแม่บท 5 ปี ของกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่อย่างก้าวหน้าไว้ที่ร้อยละ 20
การเก็บขนขยะมูลฝอย
ขยะมูลฝอยจากบ้านเรือนโดยทั่วไปทิ้งรวมกันในถังขยะที่จัดรองรับไว้ รถเก็บขนมูลฝอย จะปฏิบัติงานระหว่าง 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า เพื่อที่หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดและทางเดินเท้าในตรอกซอกซอยแคบ ๆ จะปราศจากขยะมูลฝอยระหว่างชั่วโมงทำงาน
กรุงเทพมหานครจัดวางถังขยะ รองรับอยู่ตามป้ายรถเมล์ แผงลอย ตลาดสดและห้างสรรพสินค้า กรุงเทพมหานครรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ โดยใช้ถังเขียวสำหรับ “เศษอาหาร” ถังสีเหลืองสำหรับ “ขยะยังใช้ได้” และถังสีเทาสำหรับ “ขยะมีพิษ” พนักงานเก็บขนขยะให้บริการเก็บขนด้วยรถบรรทุกขยะและใช้เรือในกรณีมูลฝอยตามแม่น้ำลำคลอง
การกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้าย
ขยะมูลฝอยที่เก็บขนแล้วจะส่งไปยังสถานีขนถ่าย 3 แห่งขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่ที่เก็บขน แต่ละสถานีขนถ่ายดำเนินการโดยผู้รับเหมาเอกชนภายใต้การว่าจ้างของกรุงเทพมหานคร สถานีขนถ่าย เหล่านี้ได้แก่
- สถานีขนถ่ายและฝังกลบมูลฝอยท่าแร้ง ผู้รับเหมาเอกชนทำการขนถ่ายขยะมูลฝอยไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน จ. นครปฐม สถานีขนถ่ายท่าแร้งสามารถจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 2,185 ตันต่อวันในปี 2542
- โรงกำจัดมูลฝอยหนองแขม ผู้รับเหมานำมูลฝอยบางส่วนไปทำปุ๋ย ก่อนขนถ่ายไปฝังกลบที่ อ. กำแพงแสน ที่สถานีขนถ่ายหนองแขมนี้มีการจัดการขยะราว 2,161 ตันต่อวันในปี 2542
- โรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีการนำมุลฝอยไปทำปุ๋ยหมัก 1,000 ตันต่อวัน มุลฝอยที่เหลือขนถ่ายไปฝังกลบที่ลาดกระบัง โรงกำจัดมูลฝอยอ่อนนุชสามารถจัดการขยะได้ราว 4,357 ตันต่อวันในปี 2542
ค่าใช้จ่าย
ในปีงบประมาณ 2540 กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย 3,322 ล้านบาท (เท่ากับ 89.8 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะนั้น) ความพยายามในการเพิ่มค่าธรรมเนียมยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ในปี 2539 กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณในการเก็บขนขยะมูลฝอย 285 บาทต่อครัวเรือน
มีการเก็บค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอยจากที่พักอาศัยและแหล่งพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในอัตราที่น้อยมาก สำนักรักษาความสะอาดรายงานว่าในปี 2540 ค่าธรรมเนียมที่เก็บได้น้อยกว่าร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายที่กรุงเทพมหานครได้ให้บริการ
งบประมาณที่ได้รายงานออกมาข้างต้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างมหาศาลซึ่ง เป็นผลมาจากการเก็บขนมูลฝอยที่ไม่เพียงพอ ระบบการกำจัดมูลฝอยที่ไม่ปกป้องคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืน ต้นทุนเหล่านี้ได้แก่ :
- การเจ็บป่วยและอาการบาดเจ็บเนื่องจากการอยู่อาศัยและทำงานในสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
- มลพิษทางอากาศ ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมต่อดินและน้ำผิวดินจากน้ำชะขยะ และน้ำไหลบ่าในพื้นที่ฝังกลบและพื้นที่ทิ้งขยะมูลฝอย
- การจ่ายค่าธรรมเนียมในการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ (ในขณะที่วัสดุอย่างเดียวกัน ถูกนำไปฝังกลบ)
ข้อเสนอแนะ
เพื่อกำหนดระบบการจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร กรีนพีซและสถาบันเพื่อการพึ่งตนเองระดับชุมชน (ILSR) มีข้อเสนอแนะดังนี้คือ
- ทำการวิเคราะห์งบประมาณของโครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะอย่างกว้างขวางครอบคลุม รวมถึงเงินทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการทำหลุมฝังกลบเถ้าและการคาดประมาณที่เป็นจริงของรายรับที่คาดว่าจะได้จากการขายไฟฟ้า
- ทำการวิเคราะห์งบประมาณของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในกรุงเทพมหานครบนฐานการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้อย่างรอบด้าน
- ทำการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะอย่างรอบด้านเปรียบเทียบกับโครงการจัดการของเสียที่อยู่บนฐานของการลดปริมาณขยะ ณ แหล่งกำเนิด การหมุนเวียนใช้ใหม่และการทำปุ๋ยที่มีลักษณะก้าวหน้าและเข้มข้น
ลดขยะลงครึ่งหนึ่ง
ในขณะที่กรุงเทพมหานครและประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจัดการขยะมูลฝอย และก็เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้จากความสำเร็จของประเทศเหล่านั้นด้วย ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาในปี 2541 บรรจุภัณฑ์ หีบห่อและสินค้าที่ไม่คงทนปริมาณกว่า 90 ล้านตันถูกนำไปฝังกลบ แม้ในมลรัฐที่มีกฎหมายการมัดจำถังรับขยะ อัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ของวัสดุเหลือใช้ภายในระบบดังกล่าวมีมากกว่าร้อยละ 85 โดยการดำเนินการระบบมัดจำ-คืนเงิน กรุงเทพมหานครจะลดการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดขั้นสุดท้ายและการทิ้งขยะมูลฝอยลงในที่สาธารณะได้
ประสบการณ์ทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพในระบบที่มีนำเอาวัสดุเหลือใช้ประเภทต่างๆ มาทิ้งรวมกัน หลุมฝังกลบและโรงงานเผาขยะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากรและก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ ส่วนเทคโนโลยีการทำปุ๋ยจากขยะมูลฝอยเทศบาลที่ทิ้งรวมเข้าด้วยกันก็ไม่อาจทำให้มีการปรับปรุงดินตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป
แนวทางการลดการกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้ายลงร้อยละ 50 หรือมากกว่านั้น จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์จากระบบการจัดการของเสียแบบเดิม ชุมชนที่ต้องการจะลดภาระการกำจัดขยะมูลฝอยลงและต้องการประหยัดเงิน จะต้องพัฒนาระบบแยกขยะขึ้นเพื่อรองรับวัสดุประเภทต่าง ๆ ในสายธารของเสีย ระบบแยกขยะจะแยกวัสดุที่เก็บรวบรวมได้ออกจากกันตามลักษณะเฉพาะเพื่อนำกลับมาใช้ตามคุณค่าที่แท้จริงโดยการดึงวัสดุเหล่านั้นออกมาจากการนำไปกำจัดในขั้นสุดท้าย การจัดสรรทรัพยากรใหม่จากระบบการกำจัดและการเก็บขนที่มีราคาแพงมากกว่าและการใช้ประโยชน์จากคุณค่าเชิงวัตถุดิบของวัสดุเหลือใช้นั้นผ่านการใช้ซ้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่จะช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้น
การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุเหลือใช้และลดความจำเป็นในการกำจัดขั้นสุดท้ายเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่จำเป็นต้องมีการปฏิบัติการและความร่วมมือจากรัฐบาล หน่วยงานรัฐระดับ ภูมิภาคและท้องถิ่นและบุคคลทั่วไป การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดดังกล่าวนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืนหรือไม่อาจประสบผลสำเร็จได้โดยปราศจากการลงทุนทางสังคมอย่างจริงจัง จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงใดๆ เกิดขึ้นเลยตราบเท่าที่ผู้กำหนดนโยบายและวางแผนการจัดการขยะมูลฝอยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น
ยิ่งกว่านั้น ประสบการณ์จากที่ต่างๆ แสดงให้เห็นแล้วว่า ระบบการจัดการของเสียแบบยั่งยืนไม่สามารถสั่งการจากข้างบนลงมาข้างล่าง รัฐบาลและผู้วางแผนต้องนำภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการวางแผน ในกรณีของกรุงเทพมหานครเห็นได้ชัดว่ายังขาดการมีส่วนร่วมอยู่มาก การอภิปรายต่อไปนี้ เป็นการเสนอแนวทางของโครงการและนโยบาย ซึ่งถ้ามีการดำเนินการ จะลดความจำเป็นในการกำจัดขยะ มูลฝอยขั้นสุดท้าย ปกป้องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ท้องถิ่น แต่ถ้าผู้วางแผนการจัดการขยะมูลฝอยเพียงแต่พูดตามความคิด ให้ความสำคัญกับการ ลงทุนในด้านนี้น้อยและไม่มุ่งมั่นในความยากลำบากตอนเริ่มต้น ประชาชนในกรุงเทพมหานครจะยังคงทนอยู่กับปัญหาขยะล้นเมืองต่อไป
(หมายเหตุ : ด้วยข้อจำกัดด้านข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนบนฐานการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ในประเทศไทย กรีนพีซและสถาบันเพื่อการพึ่งตนเองระดับชุมชนพยายามหยิบยกตัวอย่างโครงการนำร่องหรือโครงการที่มีการดำเนินการแล้วในประเทศไทยเท่าที่จะทำได้ รวมถึงตัวอย่างโครงการลดขยะในประเทศอื่น ๆ เข้าไปด้วย)
หน่วยงานรัฐทุกหน่วย
รัฐบาลสามารถสนับสนุนความต้องการสำหรับผลิตภัณฑ์รีไซเคิลผ่านการซื้อโดยการให้พันธะสัญญาที่จะซื้อสินค้าที่สามารถรีไซเคิลได้ รัฐบาลอาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตลงทุนในแง่ของศักยภาพด้านกระบวนการผลิตเพิ่มเติมเพื่อสร้างผลกำไรจากการซับพลายของรัฐบาล
ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลควรนำให้เป็นตัวอย่าง ยุทธศาสตร์การลดขยะมูลฝอยและการแยกวัสดุเหลือใช้ที่แห่งกำเนิดสำหรับการรีไซเคิลต้องกลายเป็นมาตรฐานขั้นตอนการดำเนินงานในทุก ๆ โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โครงการหรือหน่วยงานของรัฐบาลในทุกระดับควรดำเนินการลดขยะและกระตุ้นการเปลี่ยนวัสดุจากการกำจัด ได้แก่
การลดปริมาณและความเป็นพิษของขยะมูลฝอย
สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ระบบสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ (จดหมายอิเล็กทรอนิกส์, โทรศัพท์ และอื่น ๆ) แทนกระดาษ ตามเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม
- ใช้กระดาษถ่ายสำเนาสองหน้า
- สนับสนุนการใช้แบตเตอรีที่สามารถชาร์ตใหม่ได้แทนการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
- ไม่สนับสนุนให้ลูกจ้างและพนักงานใช้ถ้วยบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง
การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ดำเนินการ/ขยายโครงการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่สำหรับวัสดุต่อไปนี้
- กระดาษสำนักงาน
- กระดาษลูกฟูก
- กระป๋องบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม
หมึกพิมพ์
- ไม่สนับสนุนให้ลูกจ้างและพนักงานใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้
- ประสานความร่วมมือกับศูนย์การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในการก่อสร้างหรือการออกแบบอาคารของหน่วยงานรัฐบาล
การทำปุ๋ย
- จัดให้มีพื้นที่หรือศูนย์การทำปุ๋ยจากเศษอาหารและพีชผักที่เกิดจากอาคารและที่ทำการ ของรัฐบาล
การจัดซื้อ
- ปรับปรุงนโยบายในการระบุวัสดุสิ่งของที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ทุกชนิดให้ได้สูงสุด เช่น กระดาษ เป็นต้น
- ปรับปรุงนโยบายการจัดซื้อเครื่องถ่ายเอกสารที่ถ่ายได้ 2 หน้าและเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์สำหรับการประยุกต์ใช้งานให้ได้ปริมาณมากที่สุด
- ปรับปรุงนโยบายที่เอื้อให้หรือกระตุ้นให้ผู้ขายปรับปรุงนโยบายที่คล้ายคลึงกัน
- ผนวกข้อกำหนดการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ เข้าไปในสัญญาการรับเหมางานของบริษัทรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง
การสนับสนุนและการให้การศึกษา
- ดำเนินการ/ขยายโครงการศูนย์ข้อมูลการลดขยะมูลฝอยอย่างครอบคลุมสำหรับลูกจ้างและพนักงาน เช่น แผ่นปลิว ผู้ประสานงานอาสาสมัคร และการประกวด เป็นต้น
โครงการที่ทำงานสีเขียวเป็นโครงการการจัดซื้อที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรและการลดปริมาณขยะมูลฝอยแนวใหม่ซึ่งมีการพัฒนาและดำเนินงานในสถานที่หน่วยราชการระดับจังหวัดในเมืองออนตาริโอ แคนาดา โครงการนี้ทำให้เกิดการลดขยะมูลฝอยมากถึงร้อยละ 95 ในสถานที่ราชการบางแห่ง หน่วยงานของรัฐในประเทศไทยอาจนำตัวอย่างในการลดขยะอย่างเป็นผลสำเร็จนี้มาปรับใช้ได้
แผนงานระดับชาติ
การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต
เป็นระบบซึ่งจัดการวัสดุที่ผู้ผลิตยังคงจะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนหลังจากที่ได้ขายออกไป ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เริ่มลงมือทำเรื่องนี้โดยที่เป็นวิธีการที่ผนวกค่าใช้จ่ายที่ในการจัดการของเสียที่ขยายครอบคลุมทั้งระบบ ภายใต้ระบบการจัดการของเสียที่ใช้งบประมาณของเทศบาล ผู้เสียภาษีต้องจ่าย 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ ครั้งที่สองเพื่อการเก็บขนและกำจัด และครั้งที่สามคือจ่ายค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกี่ยวข้องการผลิตและการกำจัด ประเภทของการขยายความรับผิชอบของผู้ผลิตรวมถึงการห้ามใช้และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ระบบมัดจำและคืนเงิน และโครงการนำส่งคืนผู้ผลิต การดำเนินการเพื่อขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตจะเป็นหลักประกันว่าวัสดุประเภทต่าง ๆ จะไปด้วยกันได้กับการใช้ซ้ำและการใช้ใหม่ และการแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิดเพื่อการนำมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกัน เป็นการผลักค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลไปสู่ผู้ผลิตและผู้บริโภค
การยกเลิกและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์
บางประเทศได้ใช้มาตรการนี้ในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการบริโภค ตัวอย่างเช่น ในเบลเยี่ยม ภาษีนิเวศถูกวางให้เป็นเป้าหมายในการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำและที่นำมาใช้ใหม่ รับประกันอัตราการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์เฉพาะ (เช่น กระป๋องบรรจุเครื่องดื่ม กระดาษ กล้องถ่ายรูปใช้แล้วทิ้ง) ซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ และป้องกันสารอันตราย ( เช่น แบตเตอรี่ บรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม) ที่จะเข้าไปสู่สายธารของเสีย แนวทางในการบรรจุภัณฑ์และของเสียประเภทบรรจุภัณฑ์แห่งยุโรปได้มีการจำกัดระดับความเข้มข้นของตะกั่ว แคดเมียม ปรอทและเฮกซาวาเลนต์โครเมียมในบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบของบรรจุภัณฑ์
การที่ประเทศไทยมีความมั่งคั่งมากขึ้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ผลิตสินค้าได้มุ่งเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวและใช้แล้วทิ้ง ผลิตภัณฑ์สิ่งของเหล่านี้เองที่กลายเป็นภูเขาขยะ ณ พื้นที่ที่กำจัดในประเทศพัฒนาแล้วและสังคมแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ในฐานะที่ประเทศไทยพัฒนานโยบายการจัดการของเสียที่สมเหตุสมผลในเชิงนิเวศ การสร้างระบบภาษีที่ไม่สนับสนุนการขายสินค้าที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จะช่วยลดความจำเป็นในการกำจัดขั้นสุดท้ายลง ขณะเดียวกันก็เป็นการบอกใบ้ให้ผู้บริโภครู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นซึ่งสะท้อนต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ระบบมัดจำ-คืนเงิน
ระบบนี้อาจเป็นระบบที่เก่าแก่ที่สุดของนโยบายขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ในระบบนี้ ผู้บริโภคจ่ายค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บคืนได้เพื่อยืนยันว่าจะมีการคืนผลิตภัณฑ์หลังจากหมดอายุการใช้งาน ระบบที่คุ้นเคยที่สุดคือ ค่าเก็บขวด ในมลรัฐ 10 แห่งในสหรัฐอเมริกา กฎหมายบังคับให้ผู้ค้าปลีกจ่ายค่าคืนขวดเปล่าให้กับผู้บริโภค และให้ผู้ค้าส่งเครื่องดื่มจ่ายค่าขวดให้กับผู้ค้าปลีก อัตราการนำขวดเบียร์และขวดบรรจุเครื่องดื่มกลับมาใช้ใหม่ใน 10 มลรัฐดังกล่าว เฉลี่ยร้อยละ 80 มีอัตราสูงเป็น 2 เท่าของรัฐที่ไม่มีกฎหมายนี้ ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้มีการดำเนินการระบบนี้โดยสมัครใจสำหรับขวดบรรจุเครื่องดื่มและน้ำ แต่ละขวดที่มีการเติมใหม่ได้จะมีการใช้โดยเฉลี่ย 44 ครั้งในช่วงชีวิตของมัน ซึ่งทำให้ลดของเสียลงอย่างมาก ระบบมัดจำ-คืนเงินที่มีขอบข่ายกว้างกว่านี้จะเปลี่ยนความรับผิดชอบทางการเงินในการจัดการของเสียจากชุมชนไปสู่ผู้ผลิต ขณะเดียวกัน จะลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการผลิต การบริโภค และการกำจัด ประเทศเกาหลีใต้ได้ดำเนินการระบบนี้อย่างเข้มข้นโดยครอบคลุมกล่องบรรจุอาหาร ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ น้ำมันหล่อลื่น ถังบรรจุยาฆ่าแมลงและพลาสติก
ระบบนำส่งคืน
ระบบนี้ ผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบในทางกายภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดช่วงชีวิตการใช้งานหรือหมดหน้าที่การใช้สอย ผู้ผลิตจะสร้างองค์กรไตรภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายใต้โครงการนี้ ตัวอย่างเช่นใน พ.ศ. 2534 ประเทศเยอรมนีได้ปรับปรุงกระบวนการออกกฎหมายที่รับผิดชอบบรรจุภัณฑ์หลังจากมีการบริโภค เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมันจัดตั้งองค์กรไตรภาคีขึ้นเรียกว่า Duales System Deutschland (DSD) ระบบ DSD จะรับผิดชอบในการเก็บขนและนำของเสียบรรจุภัณฑ์ทั่วประเทศมาใช้ใหม่ ภาคอุตสาหกรรมจะให้เงินทุนสนับสนุนผ่านค่าธรรมเนียมในการอนุญาต
การสร้างอุปสงค์และอุปทาน
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทั้งในการสร้างอุปสงค์และอุปทานสำหรับสินค้าที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนที่จะลงทุนนับพันล้านบาทเพื่อสร้างระบบกำจัดขยะมุลฝอยที่ไม่ยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณการลงทุนที่มีลักษณะเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการจัดการวัสดุเหลือใช้อย่างยั่งยืน ยิ่งกว่านั้น การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การให้เงินกู้ และ/หรือสัมปทานกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น ธุรกิจและกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ในการลงทุนด้านการแยกขยะมูลฝอย การเก็บรวบรวมและการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากมายหลายเท่าในแง่ของการสร้างงาน การลดความจำเป็นในการกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้ายและการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่าง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ในสหรัฐอเมริกา
มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา มอบเงินรางวัลมากกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับบริษัทและหน่วยงานรัฐในระดับชุมชนเพื่อขยายตลาดการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้และโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบัน บริษัทในมลรัฐแห่งนี้มากกว่า 100 แห่ง ได้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์จากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ และเกิดการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 4 ของงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตในสหพันธรัฐ
กลุ่มผู้ลงทุนเพื่อการจัดการและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งเอ็มไพร์สเตท มลรัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา (เดิมคือสำนักงานพัฒนาตลาดการรีไซเคิล) มีโครงการให้ความช่วยเหลือหลายล้านดอลลาร์จนถึงปัจจุบัน ในการสร้างงาน 681 คน และทำให้เกิดการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่จำนวน 940,000 ต่อปี ในภาคอุตสาหกรรม
โครงการพัฒนาตลาดรีไซเคิลแห่งแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการจัดการของเสียแบบผสมผสานของมลรัฐ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 12 พื้นที่ในปี 2535เป็น 40 พื้นที่ จนถึงปัจจุบัน โครงการออกเงินกู้มูลค่า 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลคือทำให้เกิดการจ้างงาน 690 คน และมีการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ 1.6 ล้านตันต่อปี
โครงการสร้างงานจากการรีไซเคิลขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ผู้ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากโครงการในปี 2537 มีเงินออกดอกออกผลมากกว่า 329 ล้านเหรียญสหรัฐในการลงทุนธุรกิจรีไซเคิล การลงทุนเหล่านี้เป็นผลมาจากการพัฒนาศักยภาพในการแปรสภาพวัสดุเหลือใช้ 3.6 ล้านตันต่อปี เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากกว่า 1,900 แห่ง และสร้างงานเกือบ 2,500 คน
ความสำเร็จอาจทำได้มากขึ้นโดยใช้เงินลงทุนต่ำโดยเปรียบเทียบ ธุรกิจรีไซเคิลขนาดเล็กต้องการเงินลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงการทำปุ๋ยหมัก, การหลอมอลูมิเนียมขนาดเล็ก, เศษวัสดุจากการก่อสร้างและการขายวัสดุอาคารที่ใช้แล้ว ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์รีไซเคิลวัสดุด้วยมือ การผลิตเอธานอลจากกระดาษที่ใช้แล้ว การผลิตกระดาษและการกลั่นน้ำมันใหม่ ธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนาในลักษณะร่วมทุนระหว่างบริษัทเอกชนและองค์กรพัฒนาชุมชน
หน่วยงานรัฐระดับภูมิภาค
สำนักรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในการจัดการขยะมูลฝอยในเขตกรุงเทพมหานคร การตัดสินใจในอนาคตของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยจะกำหนดโอกาสการลดของเสีย ประสบการณ์ทั่วโลกได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างโรงงานเผาขยะไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการลดขยะมุลฝอย มีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งจะไม่มีงบประมาณเหลือไว้ให้กับระบบทางเลือกแบบอื่น ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมีวัสดุเหลือใช้ไปสู่หลุมฝังกลบมากขึ้น การสร้างโรงงานเผาขยะหรือหลุมฝังกลบโดยเป็นทางเลือกการกำจัดเบื้องต้นจะทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นจำนวนมากไหลออกจากระบบเศรษฐกิจชุมชนในสองทางด้วยกัน ทางแรกคือ ไหลผ่านการลงทุนจำนวนมหาศาลที่จำเป็นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ออกแบบอย่างดีและมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะกำจัดขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น และอีกทางหนึ่งคือ การที่ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สามารถนำมาใช้เพื่อการผลิตใหม่ระดับท้องถิ่น จะถูกนำไปเผาในเตาหรือนำฝังกลบ
การลงทุนที่มีราคาถูกกว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงงานเผาขยะในกรุงเทพฯ กรุงเทพมหานครอาจพัฒนาระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่มีขนาดเล็กกว่า ดำเนินการโครงการด้านการศึกษาอย่างกว้างขวาง ดำเนินงานระบบรวบรวมวัสดุที่แยกประเภทออกมา ณ แหล่งกำเนิด สร้างเสริมแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและลดการกำจัดมูลฝอยขั้นสุดท้าย ให้เงินทุนในการพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการแยกขยะมูลฝอยและการแปรสภาพวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ และโครงการทำปุ๋ยทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โครงการและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะลดความจำเป็นในการกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้ายลงร้อยละ 50 หรือมากกว่า
โครงการความช่วยเหลือและการให้การศึกษา
การดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนในระบบการจัดการขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องมีการให้ความช่วยเหลือและการศึกษาอย่างกว้างขวาง
ความพยายามในแง่ของการศึกษาจำเป็นต้องมีการแนะนำและให้ข้อมูลกับประชาชน ธุรกิจและเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการของเสีย ในประเด็นที่ว่าทำไมระบบการจัดการแบบใหม่จึงมีความจำเป็นและระบบดังกล่าวทำงานอย่างไร
ความพยายามเชิงการศึกษาในการลดของเสียในโรงเรียนให้ผลประโยชน์ระยะยาว เด็กนักเรียนสามารถโน้มน้าวใจให้ครอบครัวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ยิ่งกว่านั้น ถ้าความพยายามด้านการศึกษาในโรงเรียนถูกผนวกเข้ากับการดำเนินการลดขยะมูลฝอยในโรงเรียน โรงเรียนจะประหยัดเงินในการนำขยะมูลฝอยไปกำจัด
เครื่องมือสำหรับการลดของเสียในภาคธุรกิจได้มีการพัฒนาในสหรัฐอเมริกา ทรัพยากรเหล่านี้อาจนำมาดัดแปลงใช้กับกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งคือเมืองมอนโกเมอรี่ มลรัฐแมรีแลนด์ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจที่มีพนักงานประจำ 100 คน หรือมากกว่านั้น จัดทำโครงการลดของเสียและการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในเชิงธุรกิจ โครงการนี้ต้องการให้ภาคธุรกิจสร้างโครงการรีไซเคิลและเสนอรายงานผลความสำเร็จประจำปี โดยที่หน่วยงานรัฐในเมืองคอยสนับสนุนและรายงานความพร้อมโดยใช้รูปแบบมาตรฐานที่พัฒนาขื้นมาใช้กับภาคธุรกิจและโครงการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค
หน่วยงานรัฐท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และประชาชนอาจได้ผลประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือโดยตรงทางการเงินหรือการจัดหาอุปกรณ์ เช่น โครงการฝึกอบรมการหมุนเวียนใช้วัสดุเหลือใช้ในสำนักงานอาจเสริมด้วยการจัดหาถังรองรับวัสดุที่หมุนเวียนใช้ใหม่ ประชาชนอาจจะทำปุ๋ยจากเศษอาหารหากมีจัดหาถังรองรับเศษอาหาร
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐระดับภูมิภาคควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือหน่วยงานระดับท้องถิ่นและผู้รับเหมาในการทำระบบการเก็บขยะมูลฝอยแยกประเภทโดยการจัดหาอุปกรณ์เก็บขนหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงิน/เงินกู้ในการจัดซื้ออุปกรณ์
แรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการลดการกำจัด
แรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์และมีประสิทธิภาพในการลดการกำจัด สามารถพุ่งเป้าไปยังหน่วยงานรัฐบาลอื่น ๆ บริษัทการจัดการของเสียและปัจเจกชนทั่วไป
ปัจจุบัน ประชาชนและภาคธุรกิจรับบริการการกำจัดขยะมูลฝอยจากกรุงเทพมหานคร ประชาชนไม่ได้รับสัญญานทางเศรษฐกิจในการกระตุ้นให้พวกเขาลดการกำจัดขยะ ถึงแม้ว่างานวิจัยจะระบุว่า ค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า “จ่ายตามถุง” (Pay-as-you-thrown) โดยเป็นแรงจูงใจของประชาชนในการลดการกำจัด
ระบบจ่ายตามถุงได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการลดขยะ แต่จะเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้นเมื่อพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของระบบการจัดการของเสียแบบผสมผสานที่พัฒนาไปอย่างเต็มที่แล้ว
ค่าธรรมเนียมของระบบจ่ายตามถุงควรทำในระยะยาวหลังจากประชาชนคุ้นเคยกับระบบการเก็บรวบรวมวัสดุสิ่งของในครัวเรือนที่เหลือใช้ออกจากกัน
อัตราค่าธรรมเนียมในระบบจ่ายตามถุงจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการค้าลดการกำจัดขยะมูลฝอยในขั้นสุดท้าย เช่น โครงสร้างค่าธรรมเนียมอาจเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียกเก็บจากการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดให้มากกว่าการนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ค่าธรรมเนียมกำจัดขยะมูลฝอยอาจเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับขั้นเพื่อเรียกเก็บให้มากขึ้นถ้ามีการนำไปกำจัดในปริมาณมากขึ้น ค่าธรรมเนียมเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็นเชิงเส้น เช่น โครงสร้างค่าธรรมเนียมในพื้นที่ที่มีระบบถังเก็บรวบรวมมูลฝอยลำดับที่สองหรือมีการเก็บขนมูลฝอยประจำสัปดาห์ซึ่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมากกว่าร้อยละ 100 ของอัตราที่เก็บจากการเก็บขนและถังรวบรวมมูลฝอยลำดับต้นจะมีการกระตุ้นให้เกิดการลดของเสีย
การพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการแยกและแปรสภาพวัสดุเหลือใช้
กรุงเทพมหานครเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยจากสถานที่สาธารณะ ธุรกิจและบ้านเรือน การพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานในการแยกและการทำปุ๋ยจะลดความจำเป็นในการกำจัดของเสียขั้นสุดท้ายลงได้อย่างมหาศาล การทำให้อัตราการนำวัสดุเหลือใช้กลับคืนมาใช้ใหม่มากกว่าร้อยละ 50 ประสบผลสำเร็จคือการที่กรุงเทพมหานครเก็บรวบรวมและแปรสภาพวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่และของเสียอินทรีย์ซึ่งมีการแยก ณ แหล่งกำเนิด ระบบเหล่านี้ยังสร้างโอกาสการจ้างงานแก่ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการขยะมูลฝอยอีกด้วย
ด้านอุปสงค์ของวัสดุสิ่งของที่แยก ณ แหล่งกำเนิดได้มีอยู่บ้างแล้ว เช่น มีการนำเข้าแก้ว พลาสติกและอลูมิเนียมมาป้อนความต้องการของอุตสาหกรรรมรีไซเคิลในประเทศ ไม่มีเหตุผลเลยที่ วัสดุที่ใช้แล้วในประเทศจะถูกนำไปเผาหรือฝังกลบในขณะที่เราต้องนำเข้าวัสดุที่ผ่านการใช้จากประเทศอื่นๆ เพื่อป้อนให้กับโรงงานในประเทศไทย การลงทุนเพิ่มเติมด้านศักยภาพในการผลิตจะช่วยรักษาให้ตลาดวัสดุเหลือใช้มีความมั่นคง ขณะเดียวกัน เป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
โครงการทำปุ๋ยขนาดเล็กและขนาดใหญ่
การทำปุ๋ยถือเป็นทางเลือกการจัดการของเสียของกรุงเทพมหานคร มากกว่าครึ่งของสายธารของเสียในกรุงเทพมหานครประกอบด้วยเศษอาหารจากครัวเรือน เศษหญ้าและไม้ อีกร้อยละ 17 ของสายธารของเสียเป็นกระดาษ ขณะที่กระดาษมีมูลค่ามากกว่าในฐานะเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษขึ้นมาใหม่ การทำปุ๋ยเป็นทางเลือกสำหรับกระดาษที่ปนเปื้อนเศษอาหารและไม่เหมาะสมที่จะนำมาผลิตใหม่ ข้อดีของการทำปุ๋ยจากเศษวัสดุอินทรีย์ ได้แก่
ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี มีปุ๋ยหมักที่สะอาดมาแทนที่ปุ๋ยเคมี ดังนั้นเป็นการลดการพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ
เพิ่มการจ้างงาน การเก็บขนขยะมูลฝอยที่แยก ณ แหล่งกำเนิด และการทำปุ๋ยหมักเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่าการเก็บขนและการกำจัดมูลฝอยที่ถูกทิ้งรวมกันในปริมาณมาก การสำรวจการทำปุ๋ยหมักในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดการจ้างงานเต็มเวลาจำนวน 40 คนต่อวัสดุที่ผ่านการแปรสภาพทุก100,000 ตันต่อปีในทางตรงกันข้าม โรงงานเผาขยะและหลุมฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลเกิดการจ้างงาน 13 คน ต่อมูลฝอย 100,000 ตันที่นำมากำจัดต่อปี
โครงการสาธิตจำนวนมากชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของการทำปุ๋ยหมักในฐานะเป็นทางเลือกของการจัดการของเสีย แม้กระทั่งในเขตเมือง ตัวอย่างเช่น
เมืองมาริเลา บูลากัน ในฟิลิปปินส์ 20 ไมล์จากมะนิลา ดำเนินโครงการทำปุ๋ยเทศบาล เป็นโครงการซึ่งเมืองเสนอให้เพิ่มความถี่ในการเก็บขนแก่ประชาชนที่ทิ้งเศษอาหารที่แยกแล้ว สองในสามของครัวเรือนในเมืองเข้าร่วมโครงการ ปุ๋ยบางชนิดที่ผลิตจากเศษอาหารในครัวเรือนใช้ปลูกผักสวนครัว
การรื้อถอนเศษวัสดุก่อสร้าง
เศษวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนจำนวนมากในปริมาณของเสียที่อยู่ในเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เศษวัสดุที่มีการรื้อถอนจากอาคารด้วยมือจะช่วยเก็บรักษาเศษวัสดุเหล่านั้นให้มีการนำไปใช้อีกครั้งตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม เช่น เศษไม้ ประตู หน้าต่างและการติดตั้งท่อน้ำ เป็นต้น การรื้อถอนเศษวัสดุก่อสร้างจะลดภาระของหลุมฝังกลบอย่างน่าทึ่ง โดยการให้ความสำคัญกับวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่เพื่อนำมาใช้ในธุรกิจก่อสร้างและอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ โดยทั่วไป ทุก ๆ 10,000 ตารางฟุตของอาคารที่รื้อถอนจะเกิดเศษวัสดุ 40,000ตัน จากการศึกษา อัตราการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในระดับร้อยละ 50 ถือเป็นอัตราทั่วไปในพื้นที่ที่มีการรื้อถอนอาคาร และในหลาย ๆ กรณี มีการนำเศษวัสดุจากการรื้อถอนอาคารมาใช้ใหม่และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่มากถึงร้อยละ 90
หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น
การเก็บขนขยะมูลฝอยที่แยกประเภทแล้ว ณ แหล่งกำเนิด
การเก็บขนขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดเป็นจุดสำคัญมากที่จะนำไปสู่การลดการกำจัดขยะมูลฝอยในขั้นสุดท้าย แม้ว่า ชาวกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ไม่ยอมแยกขยะ และคนเก็บขยะหรือซาเล้งกลายเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างที่สุดของสังคม แต่มีความหวังที่มาจากกิจกรรมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลาย ๆ กิจกรรมซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาชนจะทำการแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดหากพวกเขาได้รับแรงจูงใจ เช่น ชุมชนคลองเตยจัดทำโครงการขยะแลกไข่ โดยที่คนในชุมชนมีโอกาสในการนำเอาขยะที่แยกแล้วของตนมาแลกไข่ ภายในครึ่งหลังของปี 2543 ประชาชนมากกว่า 10,000 คน จากชุมชนต่าง ๆ 15 ชุมชนเข้าร่วมในโครงการนี้
การประมาณระดับการลดการกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร
สถาบันเพื่อการพึ่งตนเองระดับชุมชนคาดประมาณระดับการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ในกรณีที่นโยบายและโครงการลดของเสียดังที่อภิปรายข้างต้นได้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธภาพ ดังตาราง
ตารางการคาดประมาณระดับการลดขยะมูลฝอย พ.ศ. 2553
ประเภทวัสดุ | การเกิดขยะ(ตัน/วัน) | รีไซเคิลและทำปุ๋ย | การกำจัดขั้นสุดท้าย | การเกิดขยะ(ตัน/วัน) | รีไซเคิลและทำปุ๋ย | การกำจัดขั้นสุดท้าย |
เศษอาหาร | 3,850 | 1390 | 2460 | 4,170 | 2,500 | 1,670 |
พลาสติก | 2,530 | 630 | 1900 | 2,730 | 1,640 | 1,090 |
กระดาษ | 1,460 | 580 | 880 | 1,580 | 1,190 | 390 |
แก้ว | 1,330 | 470 | 860 | 1,440 | 1,080 | 360 |
ผ้า/สิ่งทอ | 930 | 190 | 740 | 1,010 | 510 | 500 |
เศษหญ้า/กิ่งไม้ | 400 | 160 | 240 | 430 | 340 | 90 |
เศษหนัง/ยาง | 400 | 60 | 340 | 430 | 170 | 260 |
อื่น ๆ | 2,390 | 360 | 2,030 | 2,590 | 780 | 1,810 |
รวม | 13,290 | 3,840 | 9,450 | 14,380 | 8,210 | 6,170 |
อัตราการใช้ประโยชน์ใหม่ | 29% | 57% |
การคาดการณ์ใช้ข้อมูลจาก : การผลิตขยะมูลฝอย พ.ศ. 2542 ซึ่งเท่ากับ 12,100 ตันต่อวัน การนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ พ.ศ. 2542 เท่ากับร้อยละ 17 คิดจากการทำปุ๋ยหมัก 1,100 ตันต่อวัน และการหมุนเวียนกลับมาใหม่1,000 ตันต่อวันซึ่งทำโดยคนเก็บขยะ การลดขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด ทำให้อัตราการผลิตขยะต่อคนคงที่ การผลิตขยะจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ระดับการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่จะเพิ่มขึ้นตามเวลา ตราบเท่าที่โครงการลดของเสียต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายในรายงานนี้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
ตารางการจ้างงานจากระบบจัดการของเสียแบบผสมผสาน พ.ศ. 2553
ตันต่อปี | การจ้างงานแปรสภาพวัสดุเหลือใช้โดยประมาณ | การจ้างงานในภาคการผลิตโดยประมาณ | |
การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ | 1,661,663 | 2816 | 7813 |
การทำปุ๋ย | 1,166,905 | 468 | 0 |
การใช้ซ้ำ | 168,000 | 857 | 0 |
การกำจัดในขั้นสุดท้าย | 2,252,000 | 219 | 194 |
รวม | 5,248,700 | 4,405 | 8,007 |
หมายเหตุ : เป็นการคาดประมาณบนพื้นฐานการจ้างงานของธุรกิจวัสดุเหลือใช้ในสหรัฐอเมริกา จำนวนที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในท้องถิ่นและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการพัฒนาในประเทศไทย จำนวนในตารางไม่รวมถึงการจ้างงานสำหรับกิจกรรมเก็บขนมุลฝอยและการให้การศึกษา สถาบันเพื่อการพึ่งตนเองระดับชุมชนจะไม่นำเสนอการประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการการจัดการของเสียที่นำเสนอในรายงาน การทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีข้อมูลมากขึ้น และจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ในทางวิศวกรรมด้วย
ในปีงบประมาณ 2540 กรุงเทพมหานครใช้เงิน 3,322 ล้านบาทในการจัดการของเสีย ความพยายามที่จะสร้างระบบกำจัดขั้นสุดท้ายแห่งใหม่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานครประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย (รวมเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะ) มากกว่า 6,400 ล้านบาทต่อปี จาก พ.ศ.2544-2561 นอกจากนี้ แผนการนี้ประมาณว่า กรุงเทพมหานครต้องทำการฝังกลบขยะมูลฝอยมากกว่า 3,000,000 ตัน ใน พ.ศ. 2010 และ 3,300,000 ตัน ใน พ.ศ. 2561 ในทางตรงข้าม โครงการลดของเสียที่มีลักษณะก้าวหน้า ได้แก่ การใช้ซ้ำ การทำปุ๋ยการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การลดขยะ ณ แหล่งกำเนิด ดังที่เสนอในรายงานนี้ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงงานเผาขยะ ลดความจำเป็นในการกำจัดแบบฝังกลบต่ำกว่า 2,300,000 ตันต่อปี และสร้างงานที่ยั่งยืนให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร
ประสบการณ์ในชุมชนอื่น ๆ ทั่วโลกแสดงให้เห็นอย่างสอดคล้องต้องกันว่าระบบการจัดการของเสียแบบผสมผสานบนพื้นฐานการลดขยะมูลฝอย การใช้ซ้ำ การหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ และการทำปุ๋ยมีราคาถูกกว่าระบบการกำจัดขยะมูลฝอยขั้นสุดท้ายอย่างมาก แม้ว่าการลงทุนในช่วงเริ่มต้นจะอยู่ในระดับสูง แต่หากกรุงเทพมหานครไม่นำเอาระบบทางเลือกเพื่อการจัดการของเสียดังที่ได้นำเสนอมาปรับใช้แล้ว เราจะสูญเสียทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก่อมลภาวะเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ต้องหาพื้นที่ในการกำจัดขยะมูลฝอยแห่งใหม่อีกต่อไป และเสียโอกาสในการนำพาชุมชนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับขยะมูลฝอยออกจากวิถีชีวิตที่ยากจนและเสี่ยงภัยไปสู่การจ้างงานในระยะยาว มีหลักประกัน และปลอดภัยกว่า