จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การค้นพบรูโหว่ในชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์กติกา (Antarctica) ในปี1985 ซึ่งถึงแม้จะนำไปสู่ความเข้าใจที่สับสนระหว่างชั้นโอโซนที่บางลงและภาวะโลกร้อนมาจนถึงปัจจุบัน แต่นั่นเป็นสัญญานบอกว่า ชั้นบรรยากาศของโลกนั้นเปราะบางและอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วิบัติภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนของปี 1988 ในสหรัฐอเมริกา เกิดไฟป่ารุนแรงในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) หลายส่วนของแม่น้ำมิสซิสซิบปี (Mississippi) แห้งเหือด ขณะที่ในกรุงวอชิงตันดีซี (Washington D.C.) ร้อนเป็นประวัติการณ์ ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์อเมริกันชั้นนำเริ่มออกมาเตือนภัยจากโลกร้อน ความสนใจของสื่อมวลชนเพิ่มมากขึ้น นิตยสารไทม์ (Time) ยกให้ ‘โลกที่ถูกคุกคาม (Endangered Earth)’ เป็นโลกแห่งปี (Planet of the Year) แทนบุคคลแห่งปี แม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมในช่วงนั้นอย่างจอร์จ บุช ผู้พ่อ (Gorge Bush) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรก็ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เหตุการณ์ธรรมชาติวิบัติปี 1988 ยังทำให้นักวิชาการอย่างเจอเรมี เล็กเกต (Jeremy Leggett) ซึ่งสอนอยู่ที่สำนักบัณฑิตยสภาด้านเหมืองแร่แห่งสหราชอาณาจักรได้ลาออกมาทำงานเป็นที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ในงานรณรงค์ด้านภาวะโลกร้อนของกลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) เจอเรมีมีผลงานหนังสือหลายเล่มรวมถึง ‘สงครามคาร์บอน (Carbon War)’ และ ‘ครึ่งหนึ่งหายไปแล้ว (Half Gone)’ ซึ่งว่าด้วยการเจรจาเรื่องโลกร้อนของกลุ่มประเทศต่างๆ วิกฤตน้ำมัน ผลกระทบจากโลกร้อนและทางออก
การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในปี 1989 เพื่อเป็นเวทีของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการประเมินและสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบ การปรับตัวและความอ่อนไหว และการลดผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ รายงานฉบับแรกของ IPCC ในปี 1990 เป็นพื้นฐานของการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหานี้ให้กับสาธารณชน
»»อ่านเพิ่มเติม