สถาบันวัปเปอร์ทัลในเยอรมนีมอบหมายให้ Friend of the Earth(FoE) ในยุโรปศึกษาขนาดของผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคของชาวยุโรปที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศของตน รวมถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อประเทศกำลังพัฒนา
จากการทำรอยพิมพ์ทางนิเวศ FoE หาขนาดของการบริโภคต่อหัวของคนในยุโรปแล้วนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานสำหรับการบริโภคทั่วโลกอย่างเท่าเทียม จากผลการศึกษา มีการกำหนดให้ลดระดับของการบริโภคภายในปี พ.ศ.2553 และปี พ.ศ.2583 มีการเสนอแนะแนวทางเพื่อไปสู่การลดการบริโภคลง วิธีพยากรณ์ย้อนหลังช่วยเสริมให้เกิดการอภิปรายว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และควรลงมือเร็วเพียงใด การวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อริเริ่มการแสดงความคิดเห็นทั้งในระดับชาติและทั่วทวีปยุโรป และเพื่อเชื่อมโยงปัญหาเรื่องการบริโภคเข้ากับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
ต่อไปนี้คือบทคัดย่อว่าด้วยข้อเสนอแนะเรื่องการลดการบริโภคทรัพยากร จากรายงาน ยุโรปที่ยั่งยืน ของกลุ่ม Friend of The Earth
พลังงาน ภายในปี พ.ศ.2548 ควรลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 20-30 ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาในปี พ.ศ.2530 และลดลงเป็นร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2563 และลดให้ได้ถึงร้อยละ 80 ภายในปี พ.ศ.2593
ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน ใช้แหล่งพลังงานทดแทนใหม่ได้ให้มากขึ้น เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนต่ำลง และควบคุมความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของภาคบริการที่ใช้พลังงานมหาศาล
วัตถุดิบที่ทดแทนใหม่ไม่ได้ ในปัจจุบัน ประชากรโลกร้อยละ 20 บริโภคทรัพยากรมากถึงร้อยละ 80 เมื่อคำนวณการใช้ทรัพยากรโดยยึดหลักความเท่าเทียมกันพบว่า ยุโรปต้องลดปริมาณการใช้ทรัพยากรลงในสัดส่วนที่สูงกว่าทวีปอื่น วัสดุที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายว่าควรลดการใช้ลงภายในปี พ.ศ. 2583 ได้แก่ ซีเมนต์ ควรลดลงร้อยละ 85 เหล็กลดลงร้อยละ 87 ลดการใช้อลูมิเนียมร้อยละ 90 และคลอรีนลดลงร้อยละ 100
ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดย 1.ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ซ่อมแซมได้ มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ใช้ซ้ำได้ และรีไซเคิลได้ทั้งหมด 2.เพิ่มการนำวัสดุมาใช้ซ้ำ 3.ใช้วัสดุปลอดสารพิษแทนวัสดุที่มีสารประกอบคลอรีน และ 4.เช่าหรือใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกันให้มากขึ้น
การใช้ที่ดิน การนำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรจากประเทศกำลังพัฒนาของยุโรปเป็นการจำกัดพื้นที่ทำกินเพื่อเลี้ยงปากท้องประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น การลดการใช้ที่ดินของยุโรปต้องรวมถึงการลดการใช้ที่ดินในประเทศที่ส่งออกผลิตผลการเกษตรให้กับยุโรปด้วย ยุโรปควรพึ่งตนเองในการผลิตอาหารให้ได้มากกว่านี้
การลดปริมาณการบริโภคนั้นเป็นสิ่งจำเป็น การใช้ดินเพื่อปลูกธัญพืชต้องลดลงถึงร้อยละ 58 พื้นที่เลี้ยงสัตว์ต้องลดลงร้อยละ 47 การนำเข้าผลผลิตทางเกษตรกรรมต้องลดลงถึงร้อยละ 100 พื้นที่ป่าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองต้องลดลงร้อยละ 16 และพื้นที่เมืองควรลดลงร้อยละ 3
ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดย วิธีการทำฟาร์มเชิงนิเวศ หยุดนำเข้าหญ้าแห้งสำหรับเลี้ยงสัตว์ภายในปี พ.ศ.2553 และใช้พืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากขึ้น
ไม้ ควรลดการใช้ไม้ลงร้อยละ 15 ของปริมาณที่ใช้ในปัจจุบันภายในปี 2553
ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดย การบำรุงป่าให้มีการใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย การทำไม้แบบเลือกตัดและเปิดโอกาสให้มีการทดแทนตามธรรมชาติ การทำป่าไม้ที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และไม้ต่างถิ่นที่โตเร็ว การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ลดการผลิตไม้โดยรวมแต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการใช้ไม้เช่น ใช้ไม้ในการผลิตพลังงานและกระดาษให้น้อยลง ดังนั้นเราจึงต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น และหันมาใช้เส้นใยทางเลือกในการผลิตกระดาษให้มากขึ้น
น้ำ การนำน้ำมาใช้อย่างยั่งยืนขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นทดแทนตามธรรมชาติ ซึ่งอัตราการทดแทนต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ปริมาณการใช้น้ำที่ควรลดลงของประเทศในยุโรปไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ก็สามารถวางแผนการใช้น้ำได้ เช่น ความเป็นไปได้ในการลดการใช้น้ำที่สะอาดดื่มได้ร้อยละ 50 ในหน่วยงานสาธารณะ เช่น โรงเรียน สระว่ายน้ำ และสถานอำนวยความสะดวกอื่นๆ ความเป็นไปได้ที่จะลดการใช้น้ำลงร้อยละ 40 ในภาคอุตสาหกรรม
ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดย ใช้น้ำที่ดื่มไม่ได้ทุกครั้งที่เป็นไปได้ (เช่น น้ำใช้ในห้องน้ำ น้ำที่ใช้ล้างรถ เป็นต้น) ควรนำน้ำผิวดินควรมาใช้โดยตรง เช่น เพื่อการชลประทานในอุทยานโดยตรง ควรนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในอาคารต่างๆ ควรแยกติดตั้งท่อน้ำดื่มน้ำกับท่อน้ำที่ดื่มไม่ได้ในเขตที่เมืองที่ประชากรหนาแน่นเพื่อกักเก็บน้ำฝนซึ่งเป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติมาก่อนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว