ธารา บัวคำศรี

มนุษย์ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังทำให้แม่น้ำสายใหญ่เหือดแห้ง เราดึงน้ำบาดาลที่เป็นแหล่งน้ำสำรองขึ้นมาใช้ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดนี้กำลังหมดลง การคงอยู่และหายไปของน้ำมีผลสะเทือนต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างใหญ่หลวง แม่น้ำเหลืองของจีนที่ไหลลงผ่านที่ราบลุ่มจะมีน้ำเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเพราะถูกดึงไปใช้ในระบบชลประทานเพื่อป้อนประชากรกว่า ๕๐๐ ล้านคน

คนในชนบทของอินเดียใช้น้ำบาดาลมากเกินขีดจำกัดจนต้องเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปอีกนับร้อยเมตรซึ่งมักปนเปื้อนด้วยสารพิษอย่างฟลูออไรด์ ในซีเรียและอิหร่าน อุโมงค์โบราณที่ดึงน้ำมาจากใต้ภูเขากำลังเหือดแห้งลง ชาวนาในปากีสถานละทิ้งทุ่งนาแห้งแล้งไว้กับแม่น้ำสินธุที่แห้งเหือด ทะเลทรายทางตอนใต้ของสเปนกำลังขยายตัว ปริมาณฝนในภาคพื้นทวีป จากตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจนถึงตอนใต้และตะวันออกของแอฟริกากำลังลดลง ยังไม่นับการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเมือง ที่ตึงเครียดขึ้นทุกขณะในประเทศไทย

แม้ธรรมชาติจะทำความสะอาดน้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทุกๆ ๑๐ วันจากการระเหยและตกลงมาในรูปของฝนและหิมะ แต่เรานำน้ำจากธรรมชาติมาใช้มากกว่า ๓ เท่าของอัตราที่คนรุ่นก่อนเคยใช้ ธรรมชาติจึงไม่อาจรักษาสมดุลนี้ไว้ได้

รายงาน The Economics of Climate Change: The Stern Review (นิยมเรียกย่อๆ ว่า Stern Report) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่เป็นอิสระและเข้าถึงได้ง่ายในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย นิโคลัส สเติร์น อดีตหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษ และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ให้ภาพว่า แหล่งน้ำจืดของโลกร้อยละ ๗๐ ใช้ในการเพาะปลูกพืชในระบบชลประทาน และการผลิตอาหารเลี้ยงประชากร ร้อยละ ๒๒ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน (น้ำหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าและเขื่อนผลิตไฟฟ้า) ขณะที่ร้อยละ ๘ ใช้เพื่อบริโภค การสุขาภิบาล และนันทนาการในภาคครัวเรือนและธุรกิจ

รายงานยังระบุอีกว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังประสบ “วิกฤตขาดแคลนน้ำ (Water Stress)” ระดับปานกลางถึงระดับสูง และมีคนราว ๑.๑ พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ทั้งนี้วิกฤตขาดแคลนน้ำเป็นตัวชี้วัดถึงการมีอยู่ของน้ำ แต่ไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดเสมอไป และแม้ไม่มีปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อนมาเกี่ยวข้อง การเพิ่มของประชากรก็ทำให้คนนับพันล้านคนต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด

ในช่วงศตวรรษหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ ๒ องศาเซลเซียส แม้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างมากก็ตาม สิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญมิใช่เพียงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น แต่คืออุทกวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป แบบจำลองสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่มีน้ำมากอยู่แล้วจะมีน้ำมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำน้อย-ที่ซึ่งน้ำคือความเป็นความตาย-จะแห้งแล้งมากขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำของมนุษย์

พิบัติภัยทางน้ำยังมาจากมหาสมุทร นักธารน้ำแข็งวิทยากล่าวว่า พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกตะวันตกซึ่งมีมวลน้ำแข็งเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น ๑๓ เมตร ได้ส่งสัญญาณร้ายออกมา พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์สูญเสียมวลน้ำแข็ง ๑ ลูกบาศก์กิโลเมตรทุกๆ ๔๐ ชั่วโมง เจมส์ แฮนเซน ผู้อำนวยการสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศประจำองค์การนาซา(GISS) กล่าวว่า ทันทีที่พืดน้ำแข็งเริ่มแยกตัว ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น ๑-๕ เมตร สามารถไหลเข้าท่วมคนนับร้อยล้าน ทลายปราการป้องกันน้ำท่วมของเมืองใหญ่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองนิวออร์ลีนส์ในปี ๒๕๔๘ เป็นเพียงการเริ่มต้น ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันในฤดูแห่งพายุเฮอริเคนเพียงฤดูเดียว นึกถึงน้ำท่วมในเมืองลากอส กรุงเทพฯ ซิดนีย์ หรือลอนดอน นึกถึงคนนับล้านที่ต้องอพยพในบังกลาเทศหรือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

มนุษย์อาศัยประโยชน์จากยุคที่สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมีความสมดุล เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถวางแผนล่วงหน้า สร้างบ้านแปงเมือง และทำการเพาะปลูกตามสภาพดินฟ้าอากาศและน้ำ แต่การแทรกแซงธรรมชาติทำให้ช่วงเวลาเหล่านั้นกำลังหมดลง จากนี้ไปสภาพภูมิอากาศจะโหดร้ายทารุณ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ทะเลทรายขยายตัว วิกฤตขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น แม้มนุษย์จะมีสัญชาตญาณในการปรับตัว ซึ่งทำให้เราอยู่รอดจากยุคน้ำแข็งมาได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่าสังคมทันสมัยนั้นช่างเปราะบางต่อความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้

ไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า น้ำเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของโลกในศตวรรษที่ ๒๑

อ้างอิง :

Fred Pearce. When the Rivers Run Dry: What Happens When Our Water Runs Out?. Eden Project Books, 2006.
Nicholas Stern. The Economics of Climate Change. Cambridge University Press, 2006.
Sucharit Koontanakulvong. Water Situation in Thailand in the Year 2003. Faculty of Engineering, Chulalongkorn University, 2003