หัวข้อบทความนี้ยืมมาจากเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ที่รวมพลังล้มแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งมีการจัดรับฟังความคิดเห็นขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในช่วงปีที่ผ่านมา

หากดูเผิน ๆ เราจะเห็นว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพยายามจะหาทางออกว่าจะมีนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร จึงมีการจัดทำแผนแม่บทออกมา ล่าสุดก็เป็นอย่างที่เห็นคือเป็นแผนระยะยาว 10 ปี

ปัญหาของมันก็คือว่า ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องที่ใช้วิธีการแบบเดิมมาใช้จัดการไม่ได้อีกแล้ว มากไปกว่านั้น มิติที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ “ความเป็นธรรม” ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและสำคัญกว่า “วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เป็นเรื่องที่ต้องเปิดหัวใจรับฟังคนที่อยู่ติดกับผืนแผ่นดิน ไร่นา ป่าเขาและท้องทะเล

นักวิทยาศาสตร์ที่อยู่แวดวงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า คนที่ยากจนที่สุดที่เจอกับผลกระทบอันร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัวน้อยกว่า

แต่พอมาถึงเรื่องแผนแม่บทเพื่อที่จะแก้ปัญหา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดย สผ. กลับจัดทำแผนเหมือนกับแผนกระจายงบประมาณไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่มีอะไรว่าด้วยเรื่องของ “ความเป็นธรรม” แม้แต่น้อย มีการระบุถึงเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ” ซึ่งก็เน้นไปที่โครงการพื้นฐานขนาดใหญ่และการใช้เทคโนโลยี ซึ่งหลายเรื่องก็เป็นทิศทางการแก้ปัญหาแบบมิจฉาทิฐิ มองแยกส่วน เช่น เห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์น่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งของเรื่องเหล่านี้ ก็กลายมาเป็นการรวมพลังของเครือข่ายภาคใต้เพื่อล้มแผนแม่บทโลกร้อนที่พวกเขาเห็นว่า “มันตอแหล”

ผมอ่านแผนแม่บทที่ส่งมาทางอีเมล์เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน อ่านแล้ว ผมก็เห็นด้วยว่าต้องใช้คำว่า “ตอแหล” นั้นแหละ เห็นภาพดี

แผนแม่บทดังกล่าว อ่านแล้วน่าสงสารสังคมไทย เพราะแต่แผนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมองไม่ออกว่า ตกลงจะแก้โลกร้อนได้อย่างไร บนพื้นฐานที่ประเทศไทยดำรงอยู่ในฐานะรัฐชาติ และในฐานะประชาคมโลก

เป็นแผนแม่บทที่แยกส่วน ไร้ทิศทาง ขาดการบูรณาการอย่างยิ่ง

แยกส่วนเพราะตอบคำถามไม่ได้ว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่จะมีปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็ก โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขื่อน ฯลฯ มันเกี่ยวกับแผนโลกร้อนอย่างไร เพราะรองเลขาธิการ สผ. ชี้แจงกับเครือข่ายภาคใต้ว่า สผ. ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ สภาพัฒน์ซึ่งเป็นผู้วางแผนการพัฒนาภาคใต้ เป็นต้น

สรุปแล้ว ไม่มีความหวังกับหน่วยงานที่เรียกตัวเองว่า “สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ที่ยังมองเห็นเป็นตัวเองเป็น “ชนชั้นนำ” ในการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศ ในสถานการณ์ที่ชุมชนท้องถิ่นหลายต่อหลายแห่งได้รวมตัวกันมองไปข้างหน้าและพยายามวางอนาคตอันยั่งยืนที่แท้จริงให้กับชุมชนและสังคมไทยโดยรวม

จนกว่าจะพบกันอีก

ธารา