บทความนี้เรียบเรียงจากบทสรุปผู้บริหารในรายงาน Up in smoke? Asia and the Pacific. The threat from climate change to human development and the environment โดย Working Group on Climate Change and Development
ชะตากรรมของเหล่ามนุษยชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้ชัดเจนในทวีปเอเชีย ที่ซึ่งประชากรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์หรือราวสี่พันล้านคนอาศัยอยู่ ประชากรมากกว่าครึ่งของทั้งหมดอาศัยอยู่ใกล้แนวชายฝั่ง ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงวัฎจักรน้ำในภูมิภาคซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังได้คุกคามความมั่นคงและความสามารถในการผลิตของระบบอาหาร (Food systems) ที่ประชากรต้องพึ่งพา จากการรับรู้ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนี้ การประชุมครั้งสำคัญทั้งสองครั้งในปี 2007 และ 2008 เพื่อบรรลุข้อตกลงว่าด้วยภูมิอากาศโลกจึงจะจัดขึ้นในทวีปเอเชีย
ความเห็นร่วมกันทางวิทยาศาสตร์ (scientific consensus) ทั่วโลกล่าสุด จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า อากาศในทวีปเอเชียมีแนวโน้มจะร้อนขึ้นในช่วงศตวรรษนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นจะตามมาด้วยรูปแบบของฝนที่รุนแรงและยากแก่การคาดการณ์ รวมไปถึงภัยแล้งและภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงยิ่งขึ้น
คาดการณ์กันว่าพายุหมุนเขตร้อนจะทวีขนาดความรุนแรงและเกิดบ่อยยิ่งขึ้น ในขณะที่ลมมรสุม ซึ่งกำหนดระบบการเพาะปลูกจะแปรปรวนทั้งด้านความแรงและช่วงเวลาที่เกิด และที่ตลกร้ายก็คือ หากมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมบางชนิดลดลง อากาศที่เย็นตัวลงชั่วคราวจากกลุ่มควันพิษที่ปกคลุมอยู่ กลับอาจเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่า แค่การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่มีในขณะนี้ก็แย่พออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม คำว่า “โลกร้อน” นั้นทำให้คนเข้าใจผิด ในขณะที่ภาวะเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้นโดยรวม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค พื้นที่อันกว้างใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคหมายความว่าทวีปประกอบไปด้วยเขตภูมิอากาศ (Climatic zones)ที่หลากหลายอย่างมาก ดังนั้น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ-อากาศจึงหลายหลากพอกัน ตั้งแต่เขตป่าไม้หนาแน่นอากาศหนาวเย็นทางตอนเหนือ (เอเชียเขตหนาว) จนถึงทะเลทรายในภูมิภาคที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลบริเวณทวีปยูเรเชีย (the Eurasian continent) (เอเชียเขตแห้งแล้งและเขตกึ่งแห้งแล้ง) เขตอบอุ่นทางตะวันออกของทวีป (เอเชียเขตอบอุ่น) และภูมิภาคที่อุดมไปด้วยสิงสาราสัตว์และพืชพรรณในเอเชียเขตร้อน
ในบรรดาเขตภูมิอากาศต่างๆเหล่านี้ ภูมิภาคเขตแห้งแล้งและเขตกึ่งแห้งแล้งต้องเตรียมพร้อมรับปัญหาปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอและการขาดแคลนน้ำ (Water stress) ที่มากขึ้น ในขณะที่เอเชียเขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตหนาวมีแนวโน้มต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น
หมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งกระจายตัวบนพื้นที่มหาสมุทรหลายพันตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ในเขตร้อน ประเทศแปซิฟิกหลายประเทศเป็นเกาะรูปวงแหวนที่เกิดจากปะการัง (atolls) บนพื้นที่ต่ำและเกาะหลายเกาะซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ประกอบด้วยพื้นที่ป่าเขตร้อน ป่าโกงกางและชายหาดที่เรียงรายด้วยต้นปาล์ม ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของปริมาณน้ำในมหาสมุทรเนื่องจากความร้อน (Thermal expansion of ocean water) รวมทั้งธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายนั้น ทำให้ชุมชนหลายชุมชนที่อาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้ได้กลายเป็นเหยื่อของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว
ในขณะเดียวกัน ปัจจัยหลายๆ ประการเป็นสาเหตุของความเครียดจากสภาวะแวดล้อม (Environmental stress) ที่เติบโตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด (exponential rise) ซึ่งได้ทำให้มนุษย์และระบบนิเวศน์เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นตามลำดับ ปัจจัยเหล่านี้ประกอบไปด้วย มลพิษทางอากาศและน้ำ การขาดแคลนน้ำ และการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเมื่อประกอบกับการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก (mass production) เพื่อป้อนตลาดโลกแล้ว ได้สร้างภูเขาขยะกองโตขึ้นเรื่อยๆ
ความแปรปรวนของภูมิอากาศตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนิโญและความผันผวนของระบบภูมิอากาศบริเวณซีกโลกใต้ (El-Niño-Southern Oscillation) หรือ ENSO และปรากฏการณ์ลมมรสุมเอเชีย (Asian monsoon phenomena) ทั้งสองปรากฏการณ์เป็นผลจากความสัมพันธ์ระหว่างชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร และมีผลกระทบในวงกว้าง ถึงแม้ว่า ENSO จะส่งผลกระทบต่อทั้งโลก แต่ก็ถือเป็นลักษณะเด่นของสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ระหว่างที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ เมื่อน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้น ภัยแล้งก็เกิดขึ้นทั่วไปในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าสูงขึ้น การที่ลมมรสุมเอเชียอ่อนกำลังลงอันเป็นผลจากปรากฎการณ์ ENSO และเปลี่ยนตำแหน่งการเกิดเข้าใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้น (Equator-ward shift) มักจะนำภัยแล้งฤดูร้อนมาสู่แคว้นทางตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางของประเทศอินเดียและทำให้ฝนตกหนักในแว่นแคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate models)
คาดคะเนว่า ปรากฎการณ์ ENSO ที่ทวีขนาดและความรุนแรงจากภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มทำให้ลมมรสุมเอเชียอ่อนกำลังลง แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถคาดเดาได้ รวมทั้งงานวิจัยบางชิ้นได้ชี้ให้เห็นว่า การหดตัวของพื้นที่ปกคลุมด้วยหิมะในบริเวณทวีปยูเรเชียอาจส่งผลตรงกันข้ามและทำให้ลมมรสุมมีกำลังสูงขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งสองทางก็ยังคงเพิ่มความกดดันให้มนุษย์ต้องปรับตัวไม่ต่างกัน
มีความเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความท้าทายที่ทวีปเอเชียต้องเผชิญในปัจจุบันและสิ่งที่จำเป็นในการรับมือ เรายังคงมีเหตุผลให้ตั้งความหวังได้ เพราะในขณะนี้เรามีความรู้และความเข้าใจมากพอที่จะบอกได้ว่าสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร เราจะบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร และเราจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร
มีมาตรการด้านบวก (positive measures) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันโดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการแหล่งน้ำทางเลือก (Alternative water) และระบบจัดสรรพลังงาน การจัดการระบบนิเวศน์ในเชิงยุทธศาสตร์ (strategic ecosystems) และพื้นที่คุ้มครอง การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงภัยพิบัติ และการใช้เครื่องมือด้านกฎข้อบังคับและนโยบายอย่างมีประสิทธิผล ความท้าทายนั้นเห็นได้ชัดและทางแก้หลายทางก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การลงมือ
ความท้าทายที่สำคัญที่สุดสามประการคือ
1. เราจะชะลอและปรับเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นผลมาจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร?
2. เราจะดำรงชีวิตอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายในระดับที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้อย่างไร?
3. เราจะออกแบบแบบ “ความก้าวหน้า” และ “การพัฒนามนุษย์” ที่ปกป้องและเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ( climate proof and climate friendly) และจัดสรรส่วนแบ่งทรัพยากรที่เราต้องพึ่งพาให้กับทุกคนอย่างยุติธรรมได้อย่างไร?
คำตอบนั้นอยู่ที่พวกเราทุกคน