ธาราบัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก Disposable Heroes : The ‘Fukushima 50’ are all but forgotten a year after a tsunami crippled one of Japan’s biggest nuclear facilities. By Takashi Yokota and Toshihiro Yamada. Newsweek, 12 March 2012

หมายเหตุ : ชื่อบุคคลในบทความนี้ใช้ชื่อสมมุติเพื่อปกป้องแหล่งข่าวจากการคุกคามของบริษัท TEPCO

บางครั้งโคชิิ นากากาว่าสงสัยว่าเขาควรจะพาเพื่อนร่วมงานและพนักงานคนอื่นๆ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิจิิออกมาได้เร็วกว่านี้ เขาควรจะออกมาในวันที่เขาทำงานเพื่อกู้ระบบไฟฟ้าให้กลับมาทำงานเหมือนโดยยังใส่ชุดทำงานตามปกติในขณะที่คนอื่นๆ ต่างสวมชุดป้องกันภัย หรือออกมาในวันที่เขามองดูกลุ่มควันรูปดอกเห็ดสีชมพูก่อตัวอยู่เหนือโรงไฟฟ้าหลังจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ได้ระเบิดขึ้น

หรือเขาควรจะขับรถออกมาในวันที่ 11 มีนาคม เมื่อปีก่อน(2554) ตอนที่เขารู้สึกว่าผืนโลกเคลื่อนขยับเมื่อเวลาบ่ายสองโมงสี่สิบหกนาที พื้นซีเมนต์แข็งเริ่มแตกเป็นเหมือนคลื่นในน้ำ หน้าต่างแตกร้าว คนงานหญิงประกาศอย่างตื่นตระหนกผ่านเสียงตามสาย “ออกจากพื้นที่ ออกจากพื้นที่” หลังจากนั้นคนงานนับร้อยต่างมุ่งไปยังอาคารสำนักงานใหญ่ที่ซึ่งนากากาว่ายืนตัวแข็งทื่อทำอะไรไม่ถูก

สี่สิบนาทีหลังจากนั้น พวกเขาได้เห็นมหาสมุทรทั้งมวลถาโถมเข้ามา เพียงเสี้ยวนาที คลื่นสึนามิสูง 14 เมตร ก็เข้าถล่มท่วมอาคารเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 แห่ง ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงเหนืิอของญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดไม่ทำงาน มีเพียงอาคารสำนักงานที่ยังมีไฟฟ้าใช้
นากากาว่าควรจะออกมาตั้งแต่ตอนนั้น เขาเป็นผู้รับเหมาที่เพิ่งมารับงานตรวจสอบและซ่อมบำรุงตามปกติ แต่เขาคิดว่าถ้าเขาออกไปก็จะเป็นผลเสียกับงาน “ผมไม่อาจบอกปฏิเสธได้เพราะพวกเขาจะให้งานที่บริษัทในอนาคต”

นากากาว่าและคนงานอื่นๆ ไม่สำเหนียกเลยว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงเพียงใด ข้อมูลต่างๆไม่ได้เผยแพร่ไปให้คนงานในโรงไฟฟ้าท่ามกลางความโกลาหลหลังจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ นากากาว่าบอกว่าเขาไม่รู้ถึงระดับรังสีในจุดที่เขาทำงานในวันนั้นหลังจากธรณีพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเกิดขึ้นและนำไปสู่หายนะภัยนิวเคลียร์ จนกระทั่งนักข่าวนิวส์วีคชี้ประเด็น “จริงหรือ? ยี้ ผมไม่รู้เลย” นากากาว่ากล่าว

และกล่าวให้ถึงที่สุดจริงๆ เขาไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนขี้ขลาด

ด้วยเหตุนี้ นากากาว่าได้เป็นวีรบุรุษ หนึ่งในกลุ่มคนงานที่สื่อมวลชนโลกขนานนามว่า “ฟูกูชิมาห้าสิบ(Fukushima 50)” ที่ปฏิบัติภารกิจอันห้าวหาญเพื่อกอบกู้โศกนาฏกรรมที่มิอาจบรรยายได้ ในวันและสัปดาห์ต่อมา คนนับร้อยได้เข้าร่วมภารกิจ ประทังชีวิตด้วยอาหารสำเร็จรูปและนอนพักในห้องประชุมที่แน่นขนัดเพื่อจัดการกับวิกฤตซึ่งต่อมากลายเป็นหายนะภัยครั้งร้ายแรงที่สุดนับจากหายนะภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล

เช่นเดียวกับนักผจญเพลิงที่มุ่งหน้าไปยังตึกเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ในวันที่ 11 กันยายน 2544 คนงานที่ได้รับการขนานนามว่าวีรบุรุษแห่งสามหายนะภัย หรือ 3/11 ในญี่ปุ่น สื่อมวลชนนานาชาติยกย่องพวกเขาว่า “วีรบุรุษไร้หน้า” ผู้ชึ่งยืนหยัดอยู่ด้านหลังและสื่อมวลชนญี่ปุ่นสลักไว้ในความทรงจำ แต่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน ผู้กล้าหาญเหล่านี้ถูกหลงลืมไปเกือบหมดแล้ว

ในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมการครบรอบหนึ่งปีธรณีพิบัติแผ่นดินไหว-สึนามิ ชาวญี่ปุ่นเองก็ตกอยู่ในความหวาดกลัวจากรังสีนิวเคลียร์ การถกเถียงและต่อต้่านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการโจมตีบริษัทเทปโกซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาในการรับมือกับวิกฤต คนงานผู้เสี่ยงชีวิตยังคงเป็นวีรบุรุษนิรนาม พวกเขายังไม่มีพลังในการเรียกร้องใดๆ เพราะเกรงกลัวว่าจะมีส่วนพัวพันกับบริษัทถ้าเขาพูดถึงว่าอะไรเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา คนงาน 6 คนเล่าเรื่องให้กับนิวส์วีคบนเงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการใช้ชื่อจริงเพื่อเขาจะให้ข้อมูลชั้นต้นที่เกี่ยวกับความกลัวและความกล้าหาญของพวกเขา และอธิบายถึงสิ่งที่เขามองว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่ปลอดภัยในช่วงต้นของการกอบกู้โรงไฟฟ้า

ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก นากากาว่าและลูกทีมของเขาทำการเก็บกวาดเศษปฏิกูลในโรงไฟฟ้า เพื่อเปิดทางให้หน่วยดับเพลิงชั้นนำจากโตเกียวซึ่งได้รับคำสั่งให้ฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ที่มีความร้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนากากาว่ากลับมายังอาคารสำนักงานใหญ่ เขาบอกว่ามันเหมือนโรงพยาบาลสนามของทหารผู้อ่อนล้า ห้องโถงนั้นเต็มไปด้วยคนงานซึ่งหมดเรี่ยวแรงและคุยกันเรื่องการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และระดับของรังสีในโรงไฟฟ้า คนงานของบริษัทเทปโกบางคนนั้นใส่ชุดป้องกันรังสีระหว่างการปฏิบัติการกู้ภัย แต่นากากาว่าไม่ได้ใส่ เขายังคงอยู่ในชุดผ้าฝ้ายสีเทาของบริษัทรับเหมา “ในใจผมโหวงเหวง รู้สึกเหมือนถูกย่าง” เขาเริ่มคิดว่าทำอย่างไรจึงจะออกไปจากที่นี่ได้โดยไม่มีใครรู้

ขณะเดียวกัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังไปสู่สถานะเกิดการหลอมละลาย ยังไม่มีไฟฟ้าที่จะป้อนเข้าระบบเพื่ออัดน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ที่มีความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แท่งเชื้อเพลิงได้ระเบิดขึ้นทำให้อาคารเตาปฏิกรณ์เต็มไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน คนงานเทปโกต่างเร่งฉีดน้ำทะเลเข้าไปเตาปฏิกรณ์ แต่พวกเขาสายเกินไป สองสามนาทีต่อมาหลังจากที่พวกเขาพร้อม อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ได้ระเบิดขึ้น “ผมคิดว่าประเทศนี้จบลงแล้ว” จิโร คิมูระซึ่งเป็นพนักงานคนหนึ่งของเทปโกมายาวนานกล่าว

(โปรดติดตามตอนต่อไป)