มีการพูดถึง economic integration ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะบทบาทของไทยในเวทีดังกล่าวนี้มากขึ้น ในสัปดาห์หน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันในเดือนมิถุนายนที่จะมาถึงนี้ก็เป้นวาระครบรอบ 20 ปี ของ Earth Summit ที่จัดขึ้น ณ กรุงริโอ เอด จาเนโร บราซิล ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็นกระแสหลัก และเศรษฐกิจสีเขียวจะเป็นระเบียบวาระหลัก

ด้วยเหตุบังเอิญที่ผมไปพบรายงานเรื่องผลกระทบนิเวศวิทยาและสังคมจากโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ที่ทีมงานวิชาการของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชในพระบรมราชินูปถัมภ์ทำไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หยิบขึ้นมาดูแล้วพบว่า สิบห้าปีผ่านไป สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ  เรายังคงเผชิญกับสถานการณ์สองด้านที่ขัดแย้งกัน : เรารู้ว่ามีการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลมีเจตจำนงที่แน่วแน่ ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังคงไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง

สหภาพพม่ากลายเป็นพื้นที่ใหม่ล่าสุดที่โลกาภิวัตน์ของทุนนิยมกำลังสยายปีกเข้าไป รวมถึงทุนนิยมแบบไทย ๆ ที่พัวพันกับผลประโยชน์ขนาดใหญ่ระยะสั้นมาตั้งแต่ต้น รายงานผลกระทบนิเวศวิทยาและสังคมจากโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ที่ทำไว้เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา เป็นเสียงสะท้อนว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งถูกช่วงชิงไปแล้วด้วยอำนาจของบรรษัทขนาดใหญ่ นั้นไม่มีอะไรมากไปกว่า “ลมปาก”