ผลงานเด่นของการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม Landsat
ดาวเทียม Landsat 1 เริ่มใช้งานในเดือนกรกฎาคม 1972 เป็นการเริ่มต้นภารกิจสำรวจโลกจากอวกาศที่ต่อเนื่องและยาวนานที่สุด ต่อไปนี้เป็นผลงานด้านวิทยาศาสตร์และการส่งเสริมการพัฒนาสังคมของโครงการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมดวงนี้ช่วงระยะเวลา 40 ปี
รัฐ Rondônia ของบราซิล
19 มิถุนายน 1975
การทำลายป่าไม้ในผืนป่าเขตร้อนแห่งอะเมซอนเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ในรัฐ Rondônia ทางตะวันตกของบราซิล การทำลายป่ามีแบบแผนเป็นรูปก้างปลาดังที่เห็นจากภาพถ่ายดาวเทียมนี้ที่เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 1975 และปี 2012.
การรุกคืบเข้าไปในพื้นที่อันห่างไกลนี้เริ่มจากการสร้างถนนสายหลักที่ยาวจากเหนือจรดใต้ ทางหลวงสายรองค่อยตามเข้ามาตัดผ่านผืนป่าอันหนาแน่นที่อย่บริเวณมุมขวาของภาพถ่ายดาวเทียม ผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานเริ่มหักล้างถางพงและเผาป่า พื้นที่เกษตรกรรมค่อยๆ ขยายตัวขึ้นและต่อเข้าหากัน กลายเป็นการทำลายป่าที่กินพื้นที่ใหญ่ขึ้นเป็นผืนเดียว
Compton Tucker นักชีววิทยาประจำ ณ Goddard Space Flight Center ของนาซา กล่าวว่า เนื่องจากมีการสร้างทางหลวงตัดผ่านเข้าไปในป่าลึกและการทำลายป่าขยายจากด้านในออกด้านนอก การสูญเสียสัตว์ป่าและพรรณพืชจึงเกิดขึ้นมากกว่าการทำลายป่าไม้ในพื้นที่เดียว จำนวนของพื้นที่บริเวณชายขอบป่ามีความสำคัญอย่างมากต่อสถานะของความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษาในรายละเอียด (A detailed study) จากภาพถ่ายดาวเทียม Landsat ของ Tucker และ David Skole จากมหาวิทยาลัย Michigan State พบว่า อัตราการทำลายป่าในอะเมซอนต่ำกว่าที่คิดกัน แต่ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพมีมากกว่าเนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืชถูกทำลายแยกออกเป็นส่วน ๆ
Tucker กล่าวว่าภาพที่แย้งกันนี้ก็เนื่องมาจากแบบแผนการทำลายป่าไม้ที่เป็นรูปก้างปลาซึ่งทำให้ผืนป่าดั้งเดิมมีความเสี่ยงในการถูกทำลายเนื่องจากอยู่ประชิดกับพื้นที่ป่าที่โดนตัดโค่นทำลายไปแล้ว ระหว่างพื้นที่ชายขอบนั้นเสี่ยงต่อผลกระทบจากลมและความแห้งแล้งได้ง่าย และคนสามารถเข้าถึงเพื่อล่าสัตว์และลักลอบทำไม้ได้ง่ายขึ้น
Skole และTucker พบว่าระหว่างปี 1980 และ 1992 ผืนป่าในรัฐ Rondônia ถูกทำลายมากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ รัฐบาลบราซิลดำเนินโครงการพัฒนาโดยการสร้างถนนติดผ่านผืนป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม ภาพถ่ายดาวเทียมจากการวิจัยในรัฐ Rondônia เป็นที่รับรู้ในวงกว้างหลังจากลงตีพิมพ์ในวารสาร Science ในปี 1993 และเป็นภาพตัวอย่างของการทำลายผืนป่าเขตร้อนที่ใช้นำเสนอไปทั่วโลก
จากนั้นมา การทำลายล้างผืนป่าอะเมซอนขยายไปทางด้านตะวันออกในรัฐ Mato Grosso and Pará โดยเป็นการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อระบบเกษตรกรรมที่ใช้เครื่องจักรกล มากกว่าการทำการเกษตรรายย่อย ปัจจุบัน อัตราการทำลายป่าในอะเมซอนลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการยุติการทำไม้ที่ผิดกฎหมาย
———————–
ธารา บัวคำศรี – แปล (NASA images courtesy Landsat team. Caption by Aries Keck)