ธารา บัวคำศรี บทนำเสนอในการเสวนาเรื่อง “องค์กรประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง >ณ โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น วันที่ 4 ตุลาคม 2546

กราบคารวะดวงวิญญาณของพี่สำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง สวัสดี ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน และขอขอบคุณทางผู้จัดงานที่ให้เกียรติผมมาร่วมงานในวันนี้ โดยเฉพาะคุณยอร์ช ที่ประสานและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

ผมได้รับมอบหมายให้มาพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม ผมคิดอยู่เสมอว่า “การมีส่วนร่วม หรือ participation” เป็นคำที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกดี มีความหวัง คล้าย ๆ กับเราได้ยินคำว่า “ประชาธิปไตย” แต่ในระยะหลัง ๆ ผมกลับมีความรู้สึกค่อนข้างจะไปในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าหลายครั้งคำเหล่านี้ได้ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมเชิงสถาบันและสถานะที่ดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจ เช่นว่า ประชาธิปไตยคือเลือกตั้งกันไปแล้วก็จบ ดูง่าย ๆ จากคนกรุงเทพเลือกผู้ว่า ปรากฏว่า ไปๆ มาๆ ผู้ว่าคนนี้ไม่ค่อยได้ทำอะไรสักเท่าไร วัน ๆ แกก็ “ชิมไปบ่นไป” วันดีคืนดีก็พาเทศกิจพา ตำรวจมาช่วยรัฐบาลทักษิณรื้อเต็นท์สมัชชาคนจนหน้าทำเนียบ เร็วๆ นี้ก็บอกว่าจะเก็บสนามหลวงไว้รับ APEC ไม่ใช่พื้นที่สำหรับรำลึก 14 ตุลา ประชาธิปไตย

เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เหมือนกัน ผมคิดว่าความหมายจริง ๆ ของมันถูกช่วงชิงไปอาจจะตั้งแต่เราแปลมันมาจากคำว่า people participation แล้วก็ได้…คือในที่สุดแล้วก็กลายเป็นว่าการเรียกร้องให้มีส่วนร่วมเพื่อปกป้องระบบนิเวศลำน้ำพองขององค์กรชุมชนกลายมาเป็นการสูญเสียผู้นำกลุ่ม

การมีส่วนร่วมที่ว่ามันมีหลายระดับมันก็เลยอยู่โทนเดียวคือไปเป็นตราประทับให้กับคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาเต็มไปหมดโดยหน่วยงานต่าง ๆ ระดับสูงขึ้นมาหน่อยก็เป็นประชาพิจารณ์ซึ่งที่ผ่านมาเป็นกระบวนการที่มีแต่บทเรียนแห่งความเจ็บปวดอย่างที่รู้ๆ กันอยู่

คุณยอร์ชบอกว่า ให้ผมช่วยเล่ากรณีศึกษาในต่างประเทศที่พอจะสะท้อนให้เห็นประเด็นในทางสากลของกรณีการสังหารพี่สำเนา ผมกลับคิดว่า จริง ๆ แล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องไปถึงต่างประเทศเพราะในบ้านเราเองก็มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นแบบเดียวกัน ทั้งในภาคอิสานเอง และอีกหลายๆ พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ผมจะลองนำเสนอดูเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นที่กว้างขึ้นในเวทีนี้

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นสำคัญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่สำเนามันมีนัยสำคัญในเชิงเปรียบเทียบและเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทั่วโลกที่มีลักษณะเดียวกันอย่างไร

ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ตรงที่ไปเจอมาสักนิด หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่อง แก็สพิษรั่วจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงที่ชื่อบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ในเมืองโภปาล อินเดีย เมื่อสักประมาณ 17-18 ปีที่ผ่านมาซึ่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตและล้มป่วยของผู้คนนับเรือนหมื่นเรือนแสนมาจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2545 ผมได้ไปอยู่ที่นั่นเพื่อร่วมกิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ โดยเราจัดทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจเข้าไปในโรงงาน โรงงานนี้ถูกทิ้งร้างหลังจากเกิดหายนภัยและมีกากสารพิษทิ้งแพร่กระจายทั่วพื้นที่ น้ำใต้ดินบริเวณนั้นก็มีสารก่อมะเร็งหลายชนิดปนเปื้อน ยังไม่ทันที่ทีมปฏิบัติการจะนำเอากากสารพิษเข้าบรรจุลงในถัง ก็ปรากฏว่า กำลังตำรวจมาถึงและหยุดปฏิบัติการของเรา จับตัวนักกิจกรรมกว่า 50 คน ไปรอลงบันทึกอยู่หน้าเรือนจำกลาง นักกิจกรรมชาวอินเดียถูกจับแยกไว้อีกที่ ไอ้พวกเราโดนจับยังไม่เท่าไร ที่แย่มาก ๆ คือ เราได้ทราบข่าวว่า ชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงานซึ่งเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราได้ทำการปิดถนนประท้วงที่ตำรวจจับตัวนักกิจกรรมไปนั้น ในที่สุดแล้ว ก็ถูกกำลังตำรวจสลายไปด้วยวิธีการที่รุนแรงและโหดร้ายมาก

ผมมีประเด็นสำคัญสองสามประเด็น

ประเด็นแรก – กรณีของน้าสำเนาเป็นส่วนหนึ่งในปรากฏการณ์ของการโต้กลับเพื่อที่จะสลาย/ทำลายหรือทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเองอ่อนกำลังลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก ทั้ง 5 ทวีป – อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์-แปซิฟิค คล้ายกันหมด

ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าโอโกนีในประเทศไนจีเรียที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับไปฆ่า ไปทรมาน และนำเอาผู้นำกลุ่มคนสำคัญไปแขวนคอประจานโทษฐานที่ไปต่อต้านบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาทำลายพื้นที่เพื่อขุดเจาะน้ำมัน เป็นการต่อสู้ที่ถึงชีวิตกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็น การที่สายลับของรัฐบาลฝรั่งเศสเข้าขัดขวางกลุ่มกรีนพีซในการรณรงค์ต่อต้านการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้โดยการระเบิดจมเรือเรนโบว์ วอริเออร์ และทำให้ลูกเรือที่เป็นช่างภาพเสียชีวิต

ไม่ว่าจะเป็น ความรุนแรงที่กระทำต่อชุมชนและชนเผ่าในบราซิลที่พยายามปกป้องระบบนิเวศของป่าอะเมซอน และอีกหมายต่อหลายกรณี เช่น เรื่องการต่อต้านการสร้างเขื่อนหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ

อีกประเด็นหนึ่ง เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันคือ แบบแผนของการโต้กลับที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมทั่วโลกซึ่งมีคนได้พยายามศึกษาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน โดยการวิเคราะห์ถึงพลวัตรหรือความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผ่านแว่นตาของเหตุการณ์ แล้วมีข้อเสนอที่น่าสนใจมากออกมาซึ่งผมจะกล่าวสรุปในตอนท้าย

การโต้กลับที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมซึ่งมีศัพท์ว่า Green Backlash เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและติดตาม บางคนแปลคำนี้ให้ชัดเจนขึ้นเป็น “เขียว(จริง)ปะทะเขียว(ปลอม)”…

ความยากของการมองแบบแผนของปรากฎการณ์นี้ก็คือว่า หนึ่ง – ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมันมีหลากหลายเป็นแถบซ้อนกันอยู่ สรุปโดยพื้นฐานแล้วก็คือ ขบวนการที่ใครสักคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม – จากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยจนถึงคนชายขอบระดับรากหญ้า สอง – การนิยามคำว่า การต่อต้านนักสิ่งแวดล้อมหรือขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยิ่งเป็นเรื่องยากและอันตราย คนที่ศึกษาเรื่องนี้ก็ใช้สามัญสำนึกง่าย ๆ ว่า เป็นขบวนการที่ใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำงานอย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านกลุ่มที่ทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อม คำคมที่ผมจำไว้และนำเอาไปเล่าต่อมาจาก วันทนา ศิวะ นักวิชาการชาวอินเดีย โดยแกบอกว่า “เราอาจจะต้องรู้ว่า เมื่อการทำงานของเรามีประสิทธิภาพ การโต้กลับก็จะเกิดขึ้น” แกบอกอีกว่า “การโต้กลับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะมันแสดงให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

แบบแผนของการโต้กลับที่มีต่อขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเด่นชัดมากในสหรัฐอเมริกา

1)    เชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัด มีการทำให้วิวาทะด้านสิ่งแวดล้อมกระจัดกระจายไป ห่างไกลจากการอภิปรายหาทางออก และมีการเผชิญหน้ากันโดยตรงมากขึ้น ใช้ความรุนแรงมากขึ้น

2)    มีกลุ่มบรรษัทให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มต่อต้านนักสิ่งแวดล้อมและนักคิดฝ่ายขวาที่สนับสนุนให้มีการลดข้อบังคับของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการทุ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อพยายามลดทอนพละกำลังของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมกันนั้นก็เข้าร่วมวิวาทะด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

กลยุทธที่มีการใช้ไปทั่วโลก เช่น

1)    กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมมีการนำเอาคำต่าง ๆ มาใช้เพื่อสนับสนุน business as usual ของตน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาที่ยั่งยืน วิทยาศาสตร์ที่เข้าท่า สามัญสำนึก เศรษฐกิจที่สมเหตุสมผล ความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม

2)    การทำให้ฝ่ายตรงข้ามดูเหมือนว่าเป็นพวกนิยมความรุนแรง สุดขั้ว และสร้างเรื่องขึ้น ซึ่งมีประสิทธิผลทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมอย่างสันติวิธีขาดการสนับสนุน

3)    ตั้งชื่อให้ตัวเองเป็นมิตรกัยระบบนิเวศ (Alliance for Environmental Resources, American Environmental Foundation, Coalition of Responsible Environmentalist, Forest Forever, Our Land Society

4)    เรียกตัวเองว่าเป็นนักสิ่งแวดล้อมตัวจริง ขณะที่เรียก activist ว่าเป็นนักอนุรักษ์

5)    เรียกนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นพวกคลั่งศาสนา เช่น มีคำพูดว่า เราอยู่ในสงครามทางจิตวิญญาณของสัดส่วนที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน สงครามระหว่างผุ้ที่เชื่อว่าพระเจ้าส่งเรามาบนโลกนี้กับผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าคือธรรมชาติ”

6)    ป้ายสีว่า นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นคอมมิวนิสต์ เช่น คำพูดว่า นักสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกับแตงโม ข้างในสีแดง ข้างนอกสีเขียว. เปรียบเทียบขบวนการสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นต้น

7)    เรียกนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมว่าเป็นพวกนาซี

8)    นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นพวกชนชั้นนำ

9)    สร้างภาพให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมมีประเด็นแอบแฝง

10) ลดทอนให้เห็นว่านักสิ่งแวดล้อมเป็นพวกสุดขั้ว

11) นักสิ่งแวดล้อมออกมาเพื่อทำลายเศรษฐกิจ การจ้างงาน ทำลายอารยธรรมและระบบทุนนิยม

12) นักสิ่งแวดล้อมเป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์

13) นักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง

โดยสรุป ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมถูกระบุว่าเป็นภัยคุกคามต่อ 1) ทุนนิยมของบรรษัทที่ไร้การควบคุม 2) อุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายขวา และ 3) สถานะที่เป็นอยู่ของรัฐชาติ

ข้อเสนอที่จะรับมือกับการโต้กลับคือ 1) กลับไปค้นหารากเหง้าของตนเองอีกครั้ง 2) ขยายการทำงานกับกลุ่มอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด 3) ผลักดันให้เกิดทางออกและทางเลือกเชิงบวกที่ประสานสอดคล้องกับวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

ขอบคุณครับ