Greenpeace volunteer constructed Climate Rescue Station to launch “Solarising Borobudur” Jogjakarta, Indonesia. October 2012 (Photo : Tara Buakamsri)
ธารา บัวคำศรี
หากเราจะนับว่า “โคตรมหาอุทกภัยปี 2554(Thailand’s Great Flood of 2011)” เป็นจุดเปลี่ยนว่าด้วยการปะทะสังสรรค์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของสังคมไทยในห้วงแห่งยุคสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว(Extreme Weather Events) เราก็อาจจะกล่าวได้ว่าปี พ.ศ. 2555 ที่กำลังจะผ่านไปและปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงคือความต่อเนื่องของทางเลือกและความท้าทายหลากมิติด้านสังคม-วัฒนธรรม การเมืองและนิเวศวิทยาที่เราต่างเผชิญอยู่
เราผ่านจุดผลิกผัน(Tipping Point) มาแล้ว และไม่อาจหวนคืนดังเดิม แม้ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะถดถอย แต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศยังคงเพิ่มมากขึ้น ในปี 2555 อัตราการเพิ่มของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศคิดเป็นร้อยละ 3.2 หากเรายังดำเนินไปตามแนวทางที่เป็นไปตามปกติ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะได้เห็นอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มไปถึง 6 องศาเซลเซียส (เทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) เมื่อถึงตอนนั้นทุกอย่างก็จะสายเกินไป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว(Extreme Weather Events) จะตกอยู่กับทุกสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากไร้ที่สุด
แม้ว่าภายใต้เหตุการณ์ที่ดีที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะลดลงภายใต้พันธะกรณีของการเจรจาโลกร้อน แรงเฉี่อยของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจะยังส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ ๒ องศาเซลเซียส สิ่งที่เราต้องเผชิญมิใช่เพียงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น แต่คืออุทกวิทยาที่เปลี่ยนแปลง แบบจำลองสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่มีน้ำมากอยู่แล้วจะมีน้ำมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำน้อย-ที่ซึ่งน้ำคือความเป็นความตาย-จะแห้งแล้งมากขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจากน้ำมือของเราเอง
น้ำเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของโลก เราต่างพึ่งพาแหล่งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต การมีอยู่และหายไปของน้ำมีผลสะเทือนต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง แม้ธรรมชาติจะทำความสะอาดน้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทุกๆ ๑๐ วันจากการระเหยและตกลงมาในรูปของฝนและหิมะ แต่เราใช้น้ำจากธรรมชาติมากกว่า ๓ เท่าของอัตราที่คนรุ่นก่อนเคยใช้ ธรรมชาติจึงไม่อาจรักษาสมดุลนี้ไว้ได้อีกต่อไป
ไม่ว่าเราจะไม่รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ประเทศไทยเผชิญ “วิกฤตขาดแคลนน้ำ (Water Stress)” ระดับปานกลางถึงระดับสูง และเราต้องแยกแยะระหว่าง “การพึ่งพาน้ำบรรจุขวด” ของคนในเมืองออกจากวิถีการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ในภาคชนบทและเกษตรกรรม วิกฤตขาดแคลนน้ำเป็นตัวชี้วัดถึงการมีอยู่ของน้ำ แต่ไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดหรือมีเงินซื้อน้ำบรรจุขวดกินเสมอไป และแม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องเลยกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว การเพิ่มและการเคลื่อนย้ายประชากรก็ทำให้คนนับล้านต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัดและเผชิญกับมลพิษอุตสาหกรรม ในกรณีนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทยขึ้นอยู่กับทิศทางและนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำที่ชาญฉลาดและสอดคล้องกับรากฐานของสังคมไทย
โคตรมหาอุทกภัยปี 2554 บอกเราว่า ช่วงเวลาแห่งความสมดุลกำลังหมดลงจากการที่เราเข้าแทรกแซงธรรมชาติ จากนี้ไปสภาพภูมิอากาศจะทวีความสุดขั้วมากขึ้น แม้เราจะมีสัญชาตญาณในการปรับตัวซึ่งทำให้เราดำรงอารยธรรมมาได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่าสังคมทันสมัยและเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเรานั้นเปราะบางต่อความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้
ปี 2556 ยังเป็นความต่อเนื่องของการปะทะสังสรรค์และต่อสู้ช่วงชิงด้านวาทกรรมและพื้นที่ทางการเมืองในเรื่อง “ความมั่นคงด้านพลังงานและทางเลือก” ยุคหลังวิฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาเป็นช่วงการกลับมาของ “ถ่านหิน” ในฐานะเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การเคลื่อนไหวภาคประชาชนนั้นนอกจากจะเป็นพลังหลักที่ต่อกรกับความพยายามสุดลิ่มทิ่มประตูของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเพื่อผลักดันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และรวมศูนย์ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan) ยังได้สร้างกระแสทางเลือกซึ่งยืนอยู่บนพื้นฐานของการปฏิวัติพลังงาน(Energy Revolution) ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อสร้างระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่ชาญฉลาด ยั่งยืนและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพลังงานของไทยซึ่งมีผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังอาศัยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการสยายปีกการลงทุนด้านพลังงานและอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงสหภาพพม่าหรือเมียนมาร์ที่กำลังกลายเป็น “สรวงสวรรค์แห่งมลพิษ(Pollution Heaven)” และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงานขนานนามประเทศตัวเองว่า “หม้อไฟแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Battery of Southeast Asia) โดยผลักดันโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่บนลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขามากกว่า 30 โครงการเพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
หากมองข้ามไปจนถึงปี 2558 ซึ่งจะเป็นเงื่อนเวลาของการรวมเศรษฐกิจอาเซียนและแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงาน ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) ประมาณว่าเม็ดเงินลงทุนภายใต้แผนนี้คิดเป็น 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 33 ล้านล้านบาท) ไปจนถึงปี 2573 ดังนั้นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนระหว่างอาเซียนในการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางเลือกและกำหนดอนาคตและชะตากรรมของตนเองภายใต้แรงกระแทกกระทั้นของโลกาภิวัตน์ของทุนนิยมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ช้าก็เร็วเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เรียกว่า “Political Thaw” อันเนื่องมาจากนโยบายรัฐที่จำกัดพื้นที่ทางประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการเล่นพวกพ้อง การคอรัปชั่นและตักตวงผลประโยชน์จากนโยบายพลังงานที่บิดเบี้ยวซึ่งเข้าไปรุกล้ำปริมณฑลของวิถีชิวิตชุมชนและธรรมชาติ
กล่าวโดยทั่วไป วิกฤตทางอาหารนั้นแยกไม่ออกจากเรื่องเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วและพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการผลิตข้าวมีความสำคัญในนโยบายเกษตรกรรมของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะได้เปรียบหรือมีผลกระทบไม่มากนักจากวิกฤตราคาอาหารโลกจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรม สถานการณ์เรื่องปากท้องและอาหารของประชาชนนั้นก็มิอาจมองข้ามได้เลยในปี 2556 ที่จะมาถึง
การรวมเศรษฐกิจอาเซียนได้เปิดให้มีการลงทุนด้านเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มผลิตภาพของพืชพลังงาน สวนเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ รวมถึงการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุกรรม ซึ่งแทนที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประชากรส่วนใหญ่ การลงทุนดังกล่าวนี้ตกอยู่ในมือของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ที่ครอบงำนโยบายการผลิตเกษตรกรรมและวิถีการบริโภค
องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายเกษตรกรรมของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย สิ่งที่ควรจับตานอกเหนือจากตัวอย่างความสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนที่สนับสนุนโดย FAO ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการตรวจสอบติดตามบทบาทของ FAO ในด้านความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ(ภาษีของประชาชน)ไปกับการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจเกษตรกรรมอุตสาหกรรมผ่านโครงการเกษตรที่ใช่้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชแบบเข้มข้น
อาหารที่เรากินยังมาจากทะเลและมหาสมุทรซึ่งเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ทั้งมลพิษจากกิจกรรมและโครงการพัฒนาตามแนวชายฝั่ง การท่องเที่ยวที่ไม่คำนึงถึงศักยภาพการรองรับของพื้นที่ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และการประมงเกินขนาด การรณรงค์ของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช – ปลาคือชีวิต: การประกาศเขตคุ้มครองพิเศษทางอาหาร หยุดอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก – และการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้เพื่อให้รัฐทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น ยกเลิกเครื่องมือการประมงที่ทำลายล้างทุกชนิดโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟปลากะตักโดยต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จริงจัง และปรับปรุงเป้าหมายการใช้ทะเลจากเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทะเล และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ โดยตระหนักถึงความเกี่ยวพันของระบบนิเวศน์ทะเลซึ่งต่างจากเส้นแบ่งตามเขตการปกครอง เป็นประเด็นสำคัญของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงปี 2555 และต่อเนื่องในปี 2556
รายงานล่าสุดของ Oceana องค์กรอนุรักษ์มหาสมุทรระหว่างประเทศระบุว่า อ่าวไทยเป็นหนึ่งอันดับที่ 10 ของพื้นที่ทะเลทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารอันเนื่องมาจากความล่อแหลมของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้นจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ ตามรายงานระบุว่า ผลกระทบต่อปลาและหอยในท้องทะเลไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว
ในยุคที่เรากำลังเผชิญวิกฤตหลากมิตินี้ เจตจำนงและความมุ่งมั่นของประชาชนและพลเมืองที่มีจิตสำนึกโดยลำพังนั้นไม่เพียงพอที่ฝ่าวิกฤตร่วมนี้ไปได้ เพื่อให้ทั้งสังคมอยู่รอดในระยะยาว เราจำเป็นต้องมี “ผู้นำทางการเมือง” ที่มีเจตจำนงแน่วแน่ มองเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างลึกซึ้งในทุกมิติ มิใช่เพียงแต่ “เงิน” เป็นตัวตั้ง เราจำเป็นต้องมี “ผู้นำทางธุรกิจ” ที่ร่วมสร้างวิสัยทัศน์ของการแบ่งปันที่แท้จริง มิใช่นำพาสังคมไปติดกับดักมายาคติของโลกาภิวัตน์แห่งทุนนิยมซึ่งขณะนี้กำลังยืนอยู่บนซากปรักหักพังและการทำลายชีวิตและธรรมชาติ เราจำเป็นต้องออกแบบการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปี 2556 แทนที่จะรอให้ “อนาคตที่เราต้องการร่วมกัน” พังทลายลงต่อหน้า