เป็น Note ที่ผมเขียนสั้น ๆ จากกรณีนักกิจกรรมจากไทย ฟิลิปปินส์ จีนและอินเดียโดนกักกันตัวจากการจัดกิจกรรมการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรมถ่านหิน ณ เมืองเชอริบอน อินโดนีเซียในปี 2553

—————————————

ว่าด้วยเมืองเชอริบอน (Ceribon)

by Tara Buakamsri (Notes) on Tuesday, 6 July 2010 at 19:06

เมืองเชอริบอนเป็นเมืองขนาดกลางของบนเกาะชวา มีประชากร 3 แสนคน เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางชายฝั่งเกาะชวาทางตอนเหนือ อยู่ทางตะวันออกของเมืองบันดุง เมืองหลวงของชวาตะวันตก 138 กิโลเมตร และห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 250 กิโลเมตร เมืองนี้เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างเมืองบันดุงกับจาการ์ตา กับเมืองอื่น ๆ ในชวาตอนกลางและชวาตะวันออก

ชื่อของเมืองมาจากคำพื้นเมืองในแถบซุนดา(Sundanese) หมายถึง แม่น้ำกุ้ง ‘Shrimp River’ คงเป็นเพราะมีแม่น้ำและทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เมืองเชอริบอนยังรุ่มรวยไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผสมผสานกันทั้งยุโรป(น่าจะเป็นชาวดัชท์ที่มาครองแผ่นดินนี้หลายร้อยปี) อาราบิก, จีน, ชวาและซุนดา

เค้ามีคำขวัญของเมืองว่า Unity in Diversity

เมืองเชอริบอนเป็นพื้นที่แห่งเดียวในเขตชวาตะวันตกมีท่าเรือน้ำลึกที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้าทางทะเลทั้งในและต่างประเทศ และนี่เองก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มาตั้งอยู่ เพราะสามารถขนถ่ายถ่านหินจากเหมืองถ่านหินบนเกาะกาลิมันตันมาที่นี่ได้โดยง่าย

เชอริบอนยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่อง “ผ้าบาติก” ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของศิลปะแขนงนี้ในอินโดนีเซีย

ชุมชนท้องถิ่นที่นี่เป็นมิตร มีอัธยาศัยงดงาม พวกเขาดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข

เหมือนกับชุมชนหลาย ๆ แห่งในไทยและในเอเชีย พวกเขารวมตัวกันต่อสู้กับสิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับวิถีชีวิตนั่นคือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

คำประกาศชุมชนต่อต้านถ่านหินและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดได้เกิดขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นหลักหมายของการต่อสู้รณรงค์ของประชาชนในเอเชียเพื่อยุติถ่านหิน

ความคืบหน้าของการกักตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่เมืองเชอริบอน อินโดนีเซีย(1)

by Tara Buakamsri (Notes) on Tuesday, 6 July 2010 at 14:31

ขณะนี้ นักกิจกรรมทั้งหมดที่ถูกกักตัว ณ สถานีตำรวจเมืองเชอริบอน ได้ถูกส่งตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่นั่น

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองต้องการจะประทับตราลงในพาสปอร์ตของนักกิจกรรมทั้ง 12 คน ว่า ห้ามเข้าประเทศ แต่ทนายของเราแย้งว่า ไม่มีการกระทำความผิดอะไร ดังนั้น จึงไม่ควรประทับตรา

เนอร์ ฮิดายาติ ผู้แทนกรีนพีซในอินโดนีเซีย กำลังประสานงานกับ Human Rights Watch ในจาการ์ตา รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ลงมาดูกรณีดังกล่าว

ทุกคนกำลังถูกส่งตัวจากเมืองเชอริบอนมาที่จาการ์ตาเพื่อผ่านให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกลางอีกครั้ง ก่อนจะส่งกลับประเทศ

ความคืบหน้าของการกักตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่เมืองเชอริบอน อินโดนีเซีย(2)

by Tara Buakamsri (Notes) on Tuesday, 6 July 2010 at 14:51

มีอยู่ 2 แห่ง ในอินโดนีเซียที่การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะยังพอทำได้นั่นคือ ในกรุงจาการ์ตา และบาหลี

พ้นไปจากนั้น เมื่อไรก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นชาวอินโดนีเซียเอง หรือ ชาวต่างชาติ จะได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ

เมื่อไรก็ตามที่มีการลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของภาคประชาชนในเรื่องโครงการขนาดใหญ่ด้านพลังงาน หรือการตัดไม้ทำลายป่า เงินจะพูดได้ทันที

ปัญหาคอรับชั่นในอินโดนีเซียเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน และคอยกัดกร่อนการพัฒนาประชาธิปไตยในทิศทางที่ควรจะเป็น รัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งในอินโดนีเซียต่างผูกติดอยู่ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ — อุตสาหกรรมป่าไม้ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมพลังงานโดยเฉพาะถ่านหิน

เรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองเชอริบอน การที่นักกิจกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมถูกกักตัวอย่างไร้เหตุผล เกิดจากรากฐานของความกลัวของผู้มีอำนาจและอิทธิพลล้นฟ้าของอุตสาหกรรม แม้แต่ประธานาธิบดียูโดโยโนก็ยังต้องปวดหัว เพราะรัฐบาลกลางมิอาจทำอะไรกับรัฐบาลท้องถิ่นได้อย่างถนัดนัก

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ชุมชนที่เมืองเชอริบอนต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการชุมนุมประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดูเหมือนพวกผู้มีอำนาจทั้งหลายเกรงว่าจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในพื้นที่ขึ้นอีก จึงได้กักตัวนักกิจกรรมทั้งหมดไว้

รัฐบาล ตำรวจและอุตสาหกรรมถ่านหินกำลังสร้างอาณาจักรของความกลัวให้เกิดขึ้น มีเพียงพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่น ตื่นรู้ รวมตัวกันเท่านั้น จึงจะไปพ้นจากความกลัวนี้ได้

ความคืบหน้าของการกักตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่เมืองเชอริบอน อินโดนีเซีย (3)

by Tara Buakamsri (Notes) on Tuesday, 6 July 2010 at 15:24

ข่าวล่าสุดคือ นักกิจกรรมทั้ง 12 คน ยังอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเชอริบอน ทนายกำลังเจรจาเรื่องการประทับตราลงในพาสปอร์ตว่า ห้ามเข้าประเทศว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด

เป็นเกมยื้ออีกเกมหนึ่งของรัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นซึ่งมีเงินของอุตสาหกรรมถ่านหินหนุนหลังอยู่

ขณะนี้มีชาวบ้านทั้งหญิงชายและลูกเล็กเด็กแดงจำนวนมากที่อาศัยอยู่รอบ ๆ พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้กำลังใจ

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปราม

ทั้งหมดยังคงถูกกักตัวอยู่ที่เมืองเชอริบอน

ความคืบหน้าของการกักตัวนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่เมืองเชอริบอน อินโดนีเซีย (4)

by Tara Buakamsri (Notes) on Tuesday, 6 July 2010 at 16:06

ทนายกำลังเจรจาอย่างเคร่งเครียดกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเรื่องการประทับตราพาสปอร์ตว่าห้ามเดินทางเข้าอินโดนีเซียอีก นักกิจกรรมทั้ง 12 ประเทศพร้อมใจกันเซย์โน เพราะไม่เป็นธรรมและถือเป็นการละเมิด และใช้สิทธิที่ตนเองมีอยู่ในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม

พวกเขายังคงอยู่ที่ตรวจคนเข้าเมือง เมืองเชอริบอน

หากสามารถเจรจากันได้ ทั้งหมดจะเดินทางกลับเข้าจาการ์ตาคืนนี้

การเลือกปฏิบัติในกฎหมายเข้าเมืองของอินโดนีเซีย

by Tara Buakamsri (Notes) on Wednesday, 7 July 2010 at 00:12

ข่าวในประเทศไทยที่รายงานการกักตัวนักกิจกรรมของไทยนั้น อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน

การที่กรมสารนิเทศชี้แจงว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจของอินโดนีเซีย แจ้งข้อหาละเมิดกฎหมายเข้าเมืองของอินโดนีเซียต่อกลุ่มคนไทยทั้ง 4 คน เนื่องจากกลุ่มคนไทยดังกล่าว เดินทางเข้าอินโดนีเซีย ในฐานะนักท่องเที่ยว ดังนั้น จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ และตามกฎหมายภายในของอินโดนีเซีย การดำเนินกิจกรรมใดๆ อาทิ การจัด หรือเข้าร่วมการประชุม และการประท้วง ไม่ว่าจะเป็นคนอินโดนีเซีย หรือต่างชาติ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียก่อน”

การให้ข่าวเช่นนี้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า นักกิจกรรมมาทำเรื่องที่ผิดกฎหมายของที่นี่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะว่าเรามาประชุม และถ้าบอกว่า เราเข้ามาโดยประทับตราวีซ่านักท่องเที่ยว แล้วทำอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น คนที่มาทำธุรกิจช่วงสั้น ๆ ก็ต้องโดนจับหมดสิ เพราะดำเนินกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

เท่าที่เราทราบ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองใช้มาตรา 42 ของ กม.เข้าเมือง กับนักกิจกรรมทั้ง 12 คน รวมถึงคนไทย แต่ไม่มีการประทับตราสีแดงเพื่อห้าม เดินทางกลับเข้ามาอีก มาตรา 42 ที่ว่านี้คือ

Article 42
(1) Immigration actions shall be taken against foreign nationals in the Territory of Indonesia who foster dangerous activities, or who are deemed to be probable cause of danger to public order or security, or who break or neglect existing laws or regulations.
(2) The Immigration actions as cited in Paragraph (1) include:
a. restriction, changing or cancellation of stay permits;
b. prohibitions to stay at one or several determined areas in the Territory of Indonesia;
c. the compulsory stay at a certain determined area in the Territory of Indonesia;
d. expulsion or deportation from the Territory of Indonesia or the rejection of the request to enter the Territory of Indonesia.

กำลังสงสัยว่า ไอ้ที่เรามาประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และจัดงานแถลงข่าว ถือว่าเป็ dangerous activities หรือ probable cause of danger to public order or security ด้วยหรือ

แล้วทำไมต้องลงเฉพาะ activists หรือ NGO แล้วพวกนักธุรกิจที่เข้ามาโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว(ส่วนใหญ่ก็ทั้งนั้น) ทำไมไม่โดนบ้าง

ผมเข้าใจดีถึงสภาพความเป็นจริง และต้องขอบคุณกระทรวงต่างประเทศที่ช่วยเดินเรื่อง ท่านอธิบดีกรมสารนิเทศอธิบายไปตามข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน นี่คือการเลือกปฏิบัติของคนที่บังคับใช้กฎหมาย