ถ่านหินอาจเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาถูกที่สุดในตลาด หากแต่ราคาตลาดของถ่านหินนั้นยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจน ราคาที่เป็นตัวเลขนั้นรวมไปถึงปัจจัยต่างๆ นับตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการทำเหมืองแร่และการค้าปลีก ไปจนถึงภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาล และแน่นอนได้รวมกำไรไว้ด้วย แต่สิ่งที่ไม่ได้นำมาคำนวณในต้นทุนจริงของถ่านหินนั่นก็คือความเสียหายต่อมวลมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากมีการนำต้นทุนจริงของถ่านหินที่มีต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วโลกมาสะท้อนให้เห็นในราคาตลาดของถ่านหินแล้ว แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะมีเพิ่มมากขึ้น อาจจะแตกต่างไปจากปัจจุบันจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากถ่านหินไม่ได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการเผาไหม้ถ่านหินเท่านั้น หากแต่เป็นกระบวนการทั้งหมดที่เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน(chain of custody) เริ่มต้นตั้งแต่การทำเหมือง การเผาไหม้ไปจนถึงการจัดการของเสียในขั้นสุดท้าย และในบางกรณีการฟื้นฟูพื้นที่ (recultivation)ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและวิถีชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับถ่านหิน ตลอดจนพืชพันธุ์และแหล่งกำจัดของเสีย ความเสียหายดังกล่าวกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงและทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน นอกจากนี้ การเผาไหม้ถ่านหินยังปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซมีเทนรวมทั้งคาร์บอนดำ(black carbon)และสารพิษอื่นๆ เช่น สารปรอทและสารหนู การรั่วไหลของกากของเสียจากการทำเหมืองถ่านหินยังเป็นอันตรายต่อปริมาณปลาที่จับได้และการเกษตรกรรม ดังนั้น จึงกระทบถึงการดำรงชีพของประชาชน ไม่เพียงเท่านี้ การใช้ประโยชน์จากถ่านหินยังเป็นสาเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างเช่นโรคฝุ่นจับปอด (black lung disease) ทั้งนี้เนื่องมาจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้สะท้อนให้เห็นอยู่ในต้นทุนค่าใช้จ่ายของถ่านหิน หากแต่ระบุเป็น ‘ต้นทุนผลกระทบภายนอก(External Costs)’
ต้นทุนผลกระทบภายนอกดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมต้องแบกรับไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งบ่อยครั้งผู้ที่ต้องรับเคราะห์คือสมาชิกของสังคมที่มีฐานะยากจนที่สุด ในเมืองฌาร์เรีย รัฐฌาร์ขัณฑ์ของประเทศอินเดีย ประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่รอบๆ พื้นที่เหมืองถ่านหินที่เสื่อมโทรมต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่อันเลวร้ายที่เกิดจากไฟถ่านหิน(coal fires)ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในประเทศรัสเซีย สภาพการทำเหมืองที่ไม่ปลอดภัยก่อให้เกิดการบาดเจ็บและการตายของคนงานหลายสิบคน ส่วนในเขตคูยาเวีย-พอเมอราเนีย (Kuyavia-Pomerania)ของโปแลนด์ กิจกรรมเหมืองถ่านหินทำให้น้ำในทะเลสาปออสโตสกี(Ostrowskie)ลดลงอย่างมาก
ทั้งนี้ รายการตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นยิ่งจะมีมากขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด
ในมิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ การนำถ่านหินมาใช้อย่างต่อเนื่องยังนับว่าเป็นระเบิดเวลาที่รอการจุดระเบิด ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ต้นทุนจริงในเบื้องต้นของกรีนพีซที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัย CE Delft แห่งเนเธอร์แลนด์(Dutch Research Institute CE Delft) ได้แสดงให้เห็นว่าความเสียหายจากกระบวนการทั้งหมดอันเป็นผลกระทบที่มีลักษณะเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน(chain of custody)นั้น คิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำที่ 3.6 แสนล้านเหรียญยูโรต่อปี ตัวเลขดังกล่าวยังนับว่าเป็นการประมาณการที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้ครอบคลุมถึงความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากถ่านหิน อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์นี้ให้แนวคิดในเรื่องขอบเขตของอันตรายที่เราต้องเผชิญรวมทั้งสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองและการเผาไหม้ถ่านหินอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น ต้นทุนผลกระทบภายนอกของถ่านหินก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งในที่นี้เราหมายถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน ในปี 2549 รายงาน Stern Review on the Economics of Climate Change ของเซอร์ นิโคลาส สเติร์น อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ยืนยันว่าร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในแต่ละปีจะต้องนำมาลงทุนเพื่อต่อสู้กับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปี 2551 สเติร์นได้ปรับเพิ่มตัวเลขดังกล่าวเป็นร้อยละ 2 นอกจากนี้ ข้อมูลจากรายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการรับมือกับผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจพุ่งสูงถึงระหว่างร้อยละ 5 และร้อยละ 20 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายในปี 2643
———–
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี