การสกัดถ่านหินจากพื้นดินเป็นงานที่ยากลำบาก ทำให้สกปรกและมีอันตราย อุบัติเหตุการระเบิดและการทรุดตัวลงอย่างฉับพลันของเหมืองถ่านหิน เป็นเพียงหนึ่งในอันตรายที่มีอยู่นานัปการที่คนงานในเหมืองถ่านหินทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ นอกจากความเสี่ยงในการทำงานที่มีสูงแล้ว พวกเขายังต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหน็ดเหนื่อยและยาวนานหลายชั่วโมง การทำงานดังกล่าวยังมาพร้อมกับอันตรายทางสุขภาพจากการสัมผัสควันพิษ วัสดุที่เป็นพิษตลอดจนฝุ่นละออง
โรคฝุ่นจับปอด(Black lung disease)หรือโรคนิวโมโคนิโอซีส(pneumoconiosis หรือ CWP) อาจเป็นผลกระทบทางสุขภาพที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นผลมาจากการทำงานในเหมืองถ่านหิน โรคดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับเหมืองถ่านหินมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โรคฝุ่นจับปอดนี้มีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับฝุ่นละอองที่มีซิลิกาละเอียด (Crystalline silica) ซึ่งสารดังกล่าวจะเกาะอยู่ตามผนังปอดทำให้ปอดแข็งขึ้น จากนั้นจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดในการส่งก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้าไปตามกระแสเลือดลดลง ระดับความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันไป ทั้งนี้โรคดังกล่าวเป็นโรคเรื้อรังลุกลามอย่างรวดเร็ว และมักมีอันตรายถึงตายได้ แม้ว่าอาการของโรคบางอย่างจะสามารถบรรเทาได้ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการรักษา ผู้ป่วยโรคฝุ่นจับปอดจะได้รับทุกข์ทรมานจากการหายใจไม่เพียงพอ ความเหนื่อยล้า ภาวะมีอากาศในเนื้อเยื่อและอาการไอ ปัญหาโรคหัวใจและท้ายที่สุดระบบหายใจล้มเหลว
โรคฝุ่นจับปอดสร้างความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในประเทศจีน มีคนงานเหมืองถ่านหินประมาณ 600,000 คนที่ทุกข์ทรมานจากโรคนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 70,000 ราย ในสหรัฐอเมริกา ความชุกของโรคดังกล่าวปรับตัวลดลงหลังจากที่มีการผ่านกฎหมายการทำเหมืองระดับสหพันธรัฐ แต่ยังมีผู้เสียเสียชีวิตจากโรคฝุ่นจับปอดปีละกว่า 1,200 คน
————-
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี