โคลอมเบียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินขนาดใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก โดยมีเหมืองถ่านหินของบริษัทเซอร์รียอน โซนา นอร์เต้(Cerrejon Zona Norte-CZN) ในคาบสมุทรกัวจีรา(Guajira)เป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังขึ้นชื่อว่าเป็นเหมืองถ่านหินที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางต่อชาวพื้นเมืองและชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟฟริกัน(Afro-Colombian)

บริษัท CZN ดำเนินการในรูปแบบของบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil)และรัฐบาลโคลอมเบีย นับตั้งแต่ช่วงคริสตทศวรรษที่ 1980s จนกระทั่งถึงปี 2544 เมื่อบริษัทฯ ถูกเข้าซื้อกิจการโดยกลุ่มบริษัทเหมืองแร่ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงบริษัทบีเอชพี บิลตัน(BHP Bilton), บริษัทเกลนคอร์(Glencore)และบริษัทแองโกลอเมริกัน(Anglo-American) เหมืองถ่านหินของบริษัท CZN ครอบคลุมเนื้อที่ 150 ตารางไมล์ทางตอนใต้ของคาบสมุทรกัวจีรา และประกอบด้วยกิจการเหมืองถ่านหินครบวงจร เส้นทางรถไฟ และคลังส่งออกติดชายฝั่ง แม้ในปัจจุบันเหมืองแห่งนี้จะผลิตถ่านหินถึงปีละ 30 ล้านตัน บริษัทผู้ผลิตดังกล่าวก็กำลังดำเนินการขยายการลงทุนด้วยงบประมาณถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้ถึงปีละ 40 ล้านตันภายในปี 2553

รัฐบาลโคลอมเบียอ้างว่ากิจการเหมืองถ่านหินนำความเจริญมาสู่ภูมิภาคกัวจีราที่ยากจน แต่ในความเป็นจริง ชุมชนพื้นเมืองและชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟฟริกันต่างถูกปิดล้อมโดยเหมืองถ่านหิน ที่ดินจำนวนมากที่อยู่ติดกับเหมืองถ่านหินเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอาศัยได้ เนื่องจากมีการระเบิด ฝุ่นละอองขนาดเล็กและมีการปนเปื้อน คนงานเหมืองถ่านหินและชุมชนท้องถิ่นต่างทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพอันย่ำแย่ และการสูญเสียที่ดิน บ้านเรือน การดำรงชีพ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต อากาศในบริเวณแวดล้อมถูกทำลายด้วยมลพิษจากเถ้าที่ลอยในอากาศและก๊าซมีเทน แหล่งน้ำถูกปนเปื้อนโดยกากตะกอน และของเสียจากสารเคมีที่ปนกันหลายๆ ชนิด

ผลกระทบโดยตรงจากเหมืองถ่านหินของบริษัทเซอร์รียอน โซนา นอร์เต(CZN)

สัญญาลวง

ชนพื้นเมืองเผ่าวายู(Wayuu) ในเขตทามาควิโต(Tamaquito) ถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากเหมืองถ่านหิน ในระยะแรกที่บริษัทเหมืองแร่เข้ามา คำสัญญาที่พวกเขาได้รับแตกต่างไปจากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง “ในตอนแรก บริษัทเหมืองแร่สัญญาว่าจะให้ชาววายูมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ที่ได้จากเหมืองแร่ ซึ่งนั่นบ่งบอกถึง ‘การพัฒนา’ และ ‘ความเจริญ’ ซึ่งสำหรับชาววายูแล้ว นั่นเป็นทางออกของปัญหาน้ำใช้ การศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ย่ำแย่” เรมิดิอส ฟาจาโด โกเมซ(Remedios Fajardo Gomez) กล่าว “เมื่อการดำเนินกิจการเหมืองเริ่มก้าวหน้าขึ้น ปัญหาการปนเปื้อนก็เกิดขึ้นตามมา ฝุ่นละอองจากถ่านหินและเสียงจากการทำงานของอุปกรณ์ รวมทั้งการระเบิดต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน สัตว์และพืช ในชุมชนใกล้เคียงกับเหมืองถ่านหิน ชาววายูจำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตลง บ้างก็ได้รับบาดเจ็บเป็นการถาวรจากพิษของสารเคมี หลังจากรับประทานกากของเสียที่ปนเปื้อนจากหลุมขยะของเหมืองถ่านหิน

ไจโร ดิโอนิชิโอ ฟูเอนเตส อิเพียยู(Jairo Dionisio Fuentes Epiayu) ผู้ว่าการเขตทามาควิโต(Tamaquito) บอกเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อไปว่า :

“เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับบริษัทเหมืองถ่านหินก็เปลี่ยนจากย่ำแย่เป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม จากนั้นเราเริ่มมองเห็นการแสดงนัยยะที่เลวร้ายของข้อเสนอจากบริษัท..บริษัทยังคงละเมิดสิทธิของพวกเราอย่างต่อเนื่อง พวกเขาไม่เคารพกฎหมายจารีตประเพณีของเรา ที่พวกเขาต้องดำเนินการเพื่อชดเชยความเสียหายที่ไม่อาจเรียกคืนได้ที่ทำไว้กับชุมชนและธรรมชาติ”

ทุกวันนี้ เขตทามาควิโตถูกโดดเดี่ยว ไม่มีการจ้างงาน ไม่มีช่องทางสู่ระบบการศึกษา การบริการด้านสาธารณสุข และการเชื่อมต่อทางคมนาคม สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านถูกคุกคาม จากการที่พวกเขาถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีปัจจัยในการดำรงชีพ ‘เราคิดได้ว่าเราทำพลาดไปแล้ว’ ไจโรกล่าว ‘เหมืองแร่ปิดล้อมเราทุกทิศทาง พวกเราไม่มีช่องทางออกสู่ถนนเพื่อย้ายไปที่อื่น เด็กๆ ไม่ได้เข้าโรงเรียน เราต้องเดินทางเท้า และใช้เวลาถึงสี่ชั่วโมงในการไปยังหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด บริษัทเหมืองถ่านหิน CZN ไม่อนุญาตให้เราล่าสัตว์ในเขตของเขา และพื้นที่ล่าสัตว์ของเราก็ลดลงเพราะเหมือนถ่านหินเป็นต้นเหตุ เราต้องล่าสัตว์และปลูกพืชเพื่อความอยู่รอด แต่ตอนนี้ บริษัท CZN ซื้อที่ดินทั้งหมดแล้ว ทำให้เราไม่มีหนทางรอด’

การบังคับให้ย้ายถิ่นฐานและความแปลกแยก

ในปี 2523 ชุมชนมีเดียลูนา(Media Luna) ถูกเลือกให้เป็นจุดก่อสร้างท่าเรือที่จำเป็นต้องใช้ขนส่งถ่านหินจากเหมืองถ่านหินของบริษัท CZN ไปยังจุดหมายปลายทางทั่วโลก โดยในบริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือดังกล่าว บริษัทนี้ยังได้สร้างท่าอากาศยาน ศูนย์กลางรถไฟและศูนย์อุตสาหกรรมครบวงจร

ในช่วงเวลานั้น มีชาววายูจำนวนกว่า 750 คนอาศัยอยู่ในชุมชนมีเดียลูนา  ช่วงแรก บริษัทฯ และชาวบ้านในเขตชุมชนมีเดียลูนา เริ่มการเจรจาเรื่องโครงการย้ายถิ่นฐาน แต่ต่อมากลับกลายเป็นว่า ชาวบ้านในชุมชนถูกตัวแทนบริษัทข่มขู่และตะโกนด่า ทำให้การเจรจาล้มเหลวไปในที่สุด

ชาววายูถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง แต่ไม่นานนักบ้านใหม่ของพวกเขาก็ถูกปนเปื้อนอย่างหนักจากมลพิษทางอากาศและน้ำที่มาจากเหมืองถ่านหิน ต่อมาบริษัทดังกล่าวสั่งให้ชาววายูต้องย้ายถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ชาวบ้านจำนวน 42 คนจากจำนวน 7 ครอบครัวไม่ยอมทำตาม สิ่งที่บริษัทโต้ตอบก็คือ การนำรั้วตาข่ายมากั้นรอบบริเวณที่อยู่ของครอบครัวที่ยืนยันอยู่ที่นั่น มีการล็อคประตูรั้วและให้ยามเดินตรวจการณ์เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวของชาวบ้านในนั้น นอกจากนี้ ชาวบ้านที่ถูกล้อมรั้วไว้ยังถูกละเมิดสิทธิ์ ไม่ให้สร้างบ้านหลังใหม่ หรือแม้กระทั่งไม่ให้เข้าถึงแหล่งน้ำ อย่างไรก็ดี พวกเขายังอยู่ในบริเวณนั้น จวบจนปัจจุบัน

การทำลายและความแร้นแค้น

ชาววายูไม่ได้เป็นชุมชนเดียวที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ยังมีชุมชนชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันจำนวนหนึ่งที่ต้องกระจัดกระจายไปโดยไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงแรกๆ ที่มีการพัฒนาเหมืองถ่านหิน

หนึ่งในจำนวนนี้คือชุมชนทาบาโค(Tabaco) ที่ถูกลบหายไปจากแผนที่ในปี 2545 เพื่อหลีกทางให้กับการขยายตัวของเหมืองถ่านหิน ในช่วงเวลานั้น พนักงานเหมือง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่มีอาวุธ และแม้แต่ทหารได้บังคับขู่เข็ญให้ชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่อาศัย ชาวบ้านบางคนถูกฉุดกระชากออกจากบ้านที่อยู่อาศัย ก่อนที่หมู่บ้านจะถูกปรับระดับพื้นที่โดยใช้รถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน ปัจจุบันนี้ ชุมชนทาบาโคเดิม ถูกฝังอยู่บริเวณกลางของเหมืองถ่านหิน ชาวบ้านต่างแยกย้ายไป มีประมาณ 60 ครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่คาดว่ายังมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองอัลบาเนีย(Albania) ซึ่งเป็นเมืองถ่านหิน

เอมิลิโอ เปเรซ(Emilio Perez) อดีตชาวบ้านในชุมชนทาบาโค (Tabaco) บอกเล่าถึงช่วงชีวิตในถิ่นฐานเดิมก่อนที่เหมืองถ่านหินจะเข้ามาว่า “แต่ก่อนชีวิตของเราอยู่กันอย่างสบาย มีอะไรเราก็แบ่งปันกัน เลยไม่มีใครเดือดร้อน” เขาเล่า “มีแม่น้ำอยู่ใกล้ที่อยู่ของเรา เรามีที่ดิน และไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระในพื้นที่ของเรา แต่เมื่อช่วงเก้าปีที่ผ่านมานี้เอง เราไม่มีที่ดินให้ทำกินและถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่ เราแทบไม่มีที่ซุกหัวนอน” ภายใต้กฎหมายของโคลอมเบีย ชุมชนพื้นเมืองและชาวโคลอมเบียเชื้อสายแอฟริกันสามารถเรียกร้องกรรมสิทธิที่ดินรวมที่ระบุได้ว่าเป็นที่ดินของบรรพบุรุษ อย่างไรก็ดี แม้ว่าชุมชนทาบาโคได้ทำการเพาะปลูกบนที่ทำกินของตัวเอง พวกเขาก็ไม่สามารถเดินเรื่องเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินมา เพราะขณะนี้ที่ดินไม่ได้อยู่ตรงนั้นอีกแล้ว หากแต่ถูกกลืนโดยเหมืองถ่านหินและถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง

อุบายสกปรก

ชุมชนอีกแห่งหนึ่งที่ถูกข่มขู่และมีชะตากรรมเช่นเดียวกับชุมชนทาบาโคคือชุมชนชานคีตา (Chancleta) ที่อยู่ใกล้เคียงกัน บริษัทเหมืองถ่านหินกดดันชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ด้วยวิธีการใหม่ที่เลวร้าย โดยใช้กลวิธีการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’เพื่อทำให้ชุมชนขาดความเข้มแข็งและสลายไปในที่สุด ชาวบ้านชุมชนชานคีตาถูกข่มขู่หากพวกเขาพยายามเข้าเจรจาแบบกลุ่ม พวกเขาถูกบังคับว่าจะต้องหาข้อยุติเป็นรายบุคคลเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้น พวกเขาก็จะไม่ได้อะไรเลย ประธานสภาของย่านใกล้เคียงกับชุมชนชานคีตาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า: “บริษัทเหมืองแร่เลือกที่จะเจรจาเพื่อประเมินค่าชดเชยที่ดินและบ้านกับชาวบ้านเป็นรายบุคคลตั้งแต่แรก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการเจรจาแบบกลุ่มเพื่อให้ได้พื้นที่ใหม่ในการสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ รวมทั้งที่ดิน และระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม โรงเรียน และโบสถ์”

ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาแบบกลุ่มกับชาวบ้านชุมชนชานคีตาซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทปฏิเสธที่จะเจรจาในลักษณะนี้มาตลอด แต่ปัจจุบันนี้พวกเขาเปลี่ยนกลวิธีใหม่ซึ่งบางส่วนก็เป็นผลมาจากความกดดันต่อบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศ

สถานการณ์โดยรวม

การบังคับให้ครอบครัวนับร้อยต้องย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านและที่ดินของตนเอง การทำลายความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัว ความเสียหายต่อสุขภาพ การล้มตายของพืชและสัตว์ ล้วนเป็นสิ่งซึ่งไม่มีบริษัทเหมืองถ่านหินใดๆ จะหาความชอบธรรมในการละเมิดได้มากมายถึงเพียงนี้

สิ่งที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ดูเศร้าใจไปมากยิ่งขึ้นคือการที่ชาวบ้านในชุมชนชานคีตา มีเดียลูนาและทาบาโค ต่างไม่คิดด้วยซ้ำว่าการเข้ามาของเหมืองถ่านหินจะหมายถึงการสิ้นสุดของชุมชนของตัวเอง ต่อเมื่อรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าชุมชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นชุมชนสุดท้ายที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

——————-

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี