เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิธีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปล่องควันสูงตามโรงไฟฟ้าและนำไปเก็บไว้ใต้ดินหรือใต้มหาสมุทร
เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการพัฒนาในอนาคตอย่างกว้างขวางจากอุตสาหกรรมถ่านหินเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ต่อไปและการดำเนินตามแนวทางที่เป็นไปตามปกติ ทว่า เทคโนโลยีดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายได้ทันท่วงที โดยคาดว่าเวลาที่เร็วที่สุดที่นำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนมาใช้ในเชิงพาณิชย์คือตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจากจะต้องเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2558 เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความกังวลเรื่องความเป็นไปได้ ต้นทุนค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย ภาระรับผิดของการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวกลายเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่เบี่ยงเบนความสนใจและการลงทุนไปจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยผลสำรวจล่าสุดที่ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็น ผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้มีบทบาท 1,000 คนทั่วโลก ได้ชี้ให้เห็นถึงความกังขาอย่างมีนัยยะสำคัญที่มีต่อประสิทธิภาพที่ได้จากเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เพียงร้อยละ 34 เท่านั้นของผู้ร่วมการสำรวจที่มั่นใจว่าเทคโนโลยี ‘ถ่านหินสะอาด’ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและใช้กับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงอีก 25 ปีข้างหน้าโดยไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่อาจรับได้ และเพียงร้อยละ 36 ของกลุ่มตัวอย่างที่มั่นใจในประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวในการมอบพลังงานคาร์บอนต่ำจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ โดยสรุปแล้ว เทคโนโลยีจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันเวลาเพื่อช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและไม่สมควรนำมาเป็นข้ออ้างในการเผาไหม้ถ่านหินไปต่อไปเรื่อยๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน สามารถดูได้จาก รายงาน ‘False Hope:Why carbon capture and storage won’t save the climate’ ของกรีนพีซในปี 2551 http://www.greenpeace.org/ccs