มณฑลซานซีตั้งอยู่ตรงใจกลางของจีน เป็นจังหวัดที่ผลิตถ่านหินมากที่สุดในประเทศ ที่ซึ่งมีถ่านหินจำนวนหนึ่งในสามของปริมาณทั้งหมด ทุกวัน รถบรรทุกจำนวนนับไม่ถ้วนขนส่ง “ทองคำดำ” ที่ช่วยหล่อเลี้ยงโรงงานในจีนซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจให้ทำงานต่อไปได้ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ กล่าวคือถ่านหินได้สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจีนเป็นอย่างมาก แต่การพึ่งพิงถ่านหินนี้ย่อมมีผลลัพธ์ตามมา อย่างไรก็ตามการเดินทางสู่มณฑลซานซีได้เปิดเผยถึงร่องรอยการทำลายล้างที่ถ่านหินเหล่านั้นทิ้งเอาไว้

ต้าถง–“เมืองหลวงแห่งถ่านหิน”

ประวัติศาสตร์ ณ หุบเหวแห่งความหายนะ

เมืองต้าถงทางตอนเหนือของมณฑลซานซี  เป็นเมืองที่ได้รับทั้งผลประโยชน์และความทุกข์ทรมานจากถ่านหิน ถ่านหินคุณภาพสูงจำนวนมากที่เก็บไว้ได้นำเอาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่พื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน เป็นสิ่งที่นำความตกต่ำมาด้วยเช่นกัน การตักตวงผลประโยชน์ขนาดใหญ่อย่างหนักหน่วง หมายความว่าถ่านหินที่เคยมีอยู่มากมายนั้นจวนเจียนจะหมดลง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือจำนวนของผู้ว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น ถ่านหินยังเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้ถ่านหินก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานและพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกอย่างถ้ำผาหยุนกัง (Yungang Grottoes) อีกด้วย

ถ้ำผาหยุนกังเป็นโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่นับย้อนไปได้มากกว่า 1,500 ปี หินสลักและศิลปะถ้ำทางพุทธศาสนาที่ถูกเก็บรักษาไว้นี้ก็ยังหาค่ามิได้อีกด้วย แต่นับตั้งแต่ปี 2541 มีการสร้างทางหลวงของรัฐหมายเลข 109 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งถ่านหินซึ่งห่างจากพื้นที่ด้านหน้าของผาหยุนกังไปแค่ไม่เกิน 350 เมตรเท่านั้น

รถขนถ่านหินจำนวนมากจะแล่นผ่านถนนสายนี้ มีรถบรรทุกจำนวนมากถึง 16,000 คันต่อวัน ฝุ่นผงที่ฝุ้งกระจายจากรถบรรทุกจะค่อยๆ ตกไปสะสมอยู่บนพื้นผิวของหินสลักเหล่านั้นและก่อให้เกิดฝุ่นเคลือบผิวหินที่มีคุณสมบัติเป็นกรด สิ่งนี้สร้างความเสียหายร้ายแรงอย่างมากแก่ถ้ำผาหยุนกังเนื่องจากหินสลักเหล่านั้นเชื่อมต่อกับแนวหินทรายของถ้ำที่เป็นแคลเซียมซึ่งจะเกิดการกัดกร่อนได้ง่ายหากอยู่ในสภาวะที่เป็นกรด ปัจจุบันพื้นผิวของหินสลักส่วนมากนั้นพังทลายลงมาอย่างง่ายดายเพียงแค่ถูกสัมผัสเบาๆ

ดร.หวง จีหง (Huang Jizhong) เลขาธิการประจำสถาบันวิจัยถ้ำผาหยุนกัง (Yungang Grottoes Research Institute) ผู้ทำงานในพื้นที่มามากกว่ายี่สิบปี พยายามต่อสู้เพื่อปกป้องผาหินแห่งนี้ เขารู้สึกเสียใจมากที่งานศิลปะที่ล้ำค่ากำลังจะถูกสังเวยให้กับมลพิษจากอุตสาหกรรม ด้วยฝุ่นผงที่เกาะเป็นชั้นหนาบนผิวหินสลักทำให้ผู้คนมักถามอยู่เสมอว่าทำไมทางสถาบันถึงไม่ทำการฟื้นฟูโบราณสถานแห่งนี้เสีย

ดร. หวง ตอบว่า “เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงบนพื้นผิวที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบมาอย่างยาวนาน ในขณะที่ฝุ่นผงที่ปกคลุมอยู่นั้นบางส่วนเป็นฝุ่นผงที่มาจากถ่านหิน อีกส่วนเป็นผลผลิตมาจากสภาพถูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อหินทราย ถึงแม้ว่าเราจะใช้เครื่องมือในการทำความสะอาดที่ละเอียดอ่อนแค่ไหนมันก็ยังจะส่งผลต่อหินสลักอยู่ดี สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือการคิดหาวิธีที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและยืดอายุของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้โดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบ”

เสี่ยวยี่–เมืองแห่ง“ภูเขาสีเทา น้ำสีดำและควันสีเหลือง”

น้ำเสีย

เมืองเสี่ยวยี่ถูกจัดลำดับให้เป็นเมืองติดอันดับหนึ่งในสิบของพื้นที่การผลิตถ่านหินมากที่สุดเมืองหนึ่งในมณฑลซานซี  ทว่าการทำเหมืองถ่านหิน กระบวนการและการเผาไหม้ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพและความเป็นอยู่อันดีของผู้อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมโดยรอบ   เมื่อขับรถเข้าไปในเมืองก็สามารถมองเห็นปล่องควันไฟของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างชัดเจน ปล่องเหล่านั้นพุ่งสูงขึ้นไปบนอากาศและปล่อยควันพิษออกมา  พื้นที่รอบข้างถนนต้องกลายเป็นแหล่งรองรับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ น้ำในลำธารใกล้เคียงกลายเป็นสีเหลือง-ดำ โคลนจากถ่านหินกองใหญ่เกลื่อนกลาดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ซึ่งคนเลี้ยงแกะจะพาฝูงแกะของตนมาเล็มหญ้าในบริเวณนั้น คนเลี้ยงแกะในพื้นที่คนหนึ่งได้บรรยายความรู้สึกโกรธแค้นและอับจนหนทางของเขาให้เราฟัง:

“เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ น้ำถึงได้เป็นอย่างนี้ทุกวัน สกปรกเกินไป ดำไปหมด ผมบอกไม่ได้ว่ามันเป็นมลพิษแบบไหน แต่ถ้าคุณเอาน้ำจากที่นี่ ไปรดลงบนพื้นล่ะก็จะปลูกพืชอะไรไม่ได้ ถ้าเอาน้ำนี้ไปรดพืชผลครั้งหนึ่งแล้วล่ะก็ มันจะตายหมด ความสูญเสียของเรายิ่งใหญ่มาก ผมพยายามห้ามไม่ให้แกะของผมกินน้ำจากที่นี่เพราะมันเป็นน้ำมีพิษที่เกิดมาจากโรงไฟฟ้าฯ นั่น ถ้าพวกมันกินเข้าไป พวกมันจะป่วย ผมใช้น้ำบาดาลในหมู่บ้านและพวกแกะก็ด้วยเช่นกัน”

ถึงแม้ว่าน้ำบาดาลของหมู่บ้านจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ แต่ขณะนี้ทางหมู่บ้านกำลังทุกข์ทรมานจากการขาดแคลนน้ำ “นี่เป็นความผิดของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั่น มันสูบเอาน้ำไปใช้ เราเคยมีน้ำบาดาลที่อยู่ใต้หมู่บ้านของเราไว้ใช้มากมาย แต่ตอนนี้ น้ำมีอยู่น้อยเกินไป”

เมื่อถามถึงโคลนจากถ่านหินที่กองทับถมมากขึ้นอยู่บนรอบข้างพื้นถนน เขาตอบว่าสิ่งนี้มาจากฝุ่นผงถ่านหินที่ถูกปล่อยทิ้งออกมาจากโรงงาน “มันมีสีดำและกระจายไป ทั่ว…ฝุ่นผงและก๊าซที่ลอยอยู่ทำให้ผมไออย่างหนักจนแทบอยู่ไม่ได้…” เขายกผ้าขนหนูบนไหล่มาเช็ดหน้าผาก ทั้งโกรธเกรี้ยวและสั่นเทิ้มเกินกว่าจะกล่าวอะไรได้อีก แกะที่อยู่ข้างๆ เขาเริ่มส่งเสียงร้องออกมาราวกับกำลังสะท้อนอารมณ์ที่โกรธของเจ้านายของมัน

หลินเฟน–ไม่มีอีกแล้ว “เมืองแห่งดอกไม้และผลไม้”

ความตกต่ำด้านเกษตรกรรม

เมืองหลินเฟนตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซานซี  เป็นเมืองที่รู้จักกันดีในปัจจุบันว่าเต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงมากกว่าอย่างอื่น จากข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของจีน (China’s State Environmental Protection Agency) เมืองหลินเฟนเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในประเทศ ด้วยทรัพยากรถ่านหินที่มีอยู่มากมาย เมืองนี้ครั้งหนึ่งมีความได้เปรียบอย่างชัดเจนในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างโรงงานน้อยใหญ่เพื่อการทำการเผาถ่านหินและหลอมเหล็กในช่วงปี 2523 ปัจจุบันปล่องควันโรงไฟฟ้าถ่านหินผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดล้อมรอบอยู่ทั่วเมืองและสร้างมลพิษที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชาวนาในท้องถิ่นนายฉีและนางชาง และหลานชายวัยสี่ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้ไหล่เขาห่างจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพียงกำแพงกั้น ชีวิตที่นี่ไม่ง่ายเลย

“โรงงานเผาถ่านหินส่งเสียงดังอึกทึกทั้งกลางวันกลางคืนแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อคุณก้าวออกจากประตูบ้าน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นผง…เรือกสวนไร่นาและผลไม้ต่างๆ ก็ไม่เติบโตอย่างดีเหมือนแต่ก่อน เราเคยเก็บผลผลิตข้าวโพดได้ราว 1,000 จิน(500 ก.ก.) แต่ตอนนี้เราเก็บผลผลิตได้เพียง 700 หรือ 800 จินเท่านั้น ส่วนมันฝรั่งจากที่เคยเก็บได้ประมาณ 500 จิน (250 ก.ก.) ตอนนี้เหลือเพียง 150 หรือ 200 จินเท่านั้น เขม่าควันนั้นมีมากเสียจนทุกคนในหมู่บ้านรู้สึกวิงเวียน คันคอและมีอาการไอ เมื่อเราตื่นขึ้นมาในตอนเช้า กำแพงและถนนต่างๆ ก็กลายเป็นสีดำไปหมด หากคุณออกมาเดินข้างนอกตัวคุณก็จะถูกปกคลุมไปด้วยเขม่าควันดำ”

ด้วยทางเลือกที่มีเพียงน้อยนิด พวกเขาถูกบังคับให้ต้องพยายามใช้ชีวิตบนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษแห่งนี้ ชาวบ้านเหล่านี้และคนอื่นๆ อีกเป็นล้านจำต้องอาศัยอยู่ในเงามืดของถ่านหิน

จากสิ่งที่เห็นในมณฑลซานซี  เราก็ได้เห็นต้นทุนจริงของถ่านหินในประเทศจีนที่ผู้คนในท้องถิ่นและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นต้องจ่ายด้วยราคาแพง โรงงานอุตสาหกรรมได้กำไรจากถ่านหินและยังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็ถูกทิ้งไว้ให้แบกรับด้านมืดของความเจริญที่เกิดจากถ่านหิน

————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี