หลุมขนาดใหญ่และกองของเสียขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในสิ่งที่หลงเหลือจากการทำเหมืองถ่านหินที่เห็นได้ชัด การขุดเหมืองนั้นยังนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่จำนวนมาก ความสูญเสียผิวดินที่อุดมสมบูรณ์จากการกัดกร่อนและการทรุดตัวของผืนดิน ผืนดินส่วนใหญ่ยังคงไม่อาจปลูกพืชผลใดๆ และยังมีสารปนเปื้อนอยู่แม้ว่าการทำเหมืองถ่านหินจะหยุดลงไปนานแล้วก็ตาม
ผืนดินที่ถูกทำลายและถูกขุดลอกออกเนื่องจากการทำเหมืองนั้นจะไวต่อการถูกกัดกร่อนมากกว่า การสูญเสียผิวดินในพื้นที่การทำเหมืองเปิดมีจำนวนมากกว่า 1 – 2 พันเท่าของพื้นที่ป่าปกติ และมากกว่าสิบเท่าของทุ่งปศุสัตว์ ผิวดินที่ถูกชะล้างจะไหลรวมกันสู่ลำธารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฝนตกหนักและช่วงที่หิมะละลาย สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของน้ำ หากสั่งสมเป็นจำนวนมากผิวดินที่เต็มไปด้วยสารพิษนี้จะทำให้น้ำเป็นพิษถึงขั้นทำให้ปลาหยุดวางไข่ ฆ่าไข่ปลาเล็กและตัวอ่อน ปิดกั้นอากาศจากสัตว์น้ำขนาดเล็กและยังบังแสงจนทำให้ไม่เกิดการสังเคราะห์แสงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ การทับถมของตะกอนชั้นหินยังคงลดศักยภาพในการสะสมน้ำที่ปลายลำธารและเปลี่ยนกระแสน้ำ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำ และน้ำท่วม หากว่าตะกอนนั้นปนเปื้อนก็จะทำให้น้ำนั้นไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ และในหลายๆ กรณี น้ำนั้นก็ไม่เหมาะแก่การนำมาใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรมอีกด้วย
การยุบตัวของดินจากการพังทลายของเหมืองยังสามารถก่อให้เกิดการกัดกร่อนของผิวดิน การสูญเสียผิวหน้าดิน การระบายน้ำใต้ดิน และก่อให้เกิดพื้นที่เปียกชื้นหรือบ่อน้ำ เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม ปรากฏการณ์นี้ก็จะทำให้ผลิตลดลง ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ที่ดินที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการทรุดตัวและยังไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น ที่ดินนั้นก็ต้องเผชิญกับการลดลงของผลิตผลข้าวโพดมากตั้งแต่ ร้อยละ 42 และร้อยละ 95 เป็นต้น
——————————
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี