โรงไฟฟ้าถ่านหินเบลคาโทในเขตโรดส์เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศโปแลนด์ ซึ่งมีกำลังการผลิตเกือบร้อยละ 20 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้กันในประเทศ และยังเป็นโรงงานไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกด้วย และในแต่ละปี ปล่องไฟจากโรงไฟฟ้าพ่นคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 31 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ
ถ่านหินส่วนใหญ่ที่ถูกส่งไปที่เบลคาโทนั้นมาจากเหมืองแบบเปิดที่อยู่ใกล้เคียง ความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศที่เกิดขึ้นจากเหมืองนี้เห็นได้อย่างเด่นชัดห่างจากเมืองเบลคาโทเพียง 12 กิโลเมตร พื้นที่ของเหมืองกินอาณาบริเวณ 2,500 เฮกตาร์ หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 3,300 สนาม ตัวเหมืองนั้นได้รับการส่งเสริมในฐานะที่เป็นเหมืองแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป พื้นที่ที่ถูกเผาจนมอดไปแล้วเกลื่อนกลาดไปด้วยกองของของเสียจากถ่านหิน รถบรรทุกและเครื่องจักรขนาดใหญ่ ลึกเข้าไปในเหมือง สายพานลำเลียงลื่นไหลไปตามทางโดยขนดินและหินไปด้วย ตรงจุดสังเกตการณ์ที่สร้างขึ้น ผู้คนตกอยู่ในความเงียบเนื่องจากภาพที่เห็นตรงหน้าก่อให้เกิดความรู้สึกมืดหม่น
ความเสียหายที่กำลังจะตามมา
แผนการในการขยับขยายเหมืองในโปแลนด์กำลังดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ บางแห่งตั้งอยู่ใกล้ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงของประเทศมากจนน่าวิตก หนึ่งในข้อกังวลต่อผลกระทบที่เป็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือผลกระทบจากเหมืองที่มีต่อระดับน้ำในทะเลสาบ รวมถึงระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนและธุรกิจการท่องเที่ยว
หมู่บ้านพซีจีเซียซี(Przyjezierze)
หมู่บ้านพซีจีเซียซ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่คู่กับทะเลสาบ ออสโตว์สกี้(Ostrowskie)ในเขตคูยาเวีย-โพเมราเนีย(Kuyavia-Pomerania) และอาศัยธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลัก หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือเคยเลี้ยงตัวเองโดยพึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แหล่งน้ำต่างๆ ที่มีอยู่ก็เหือดแห้งหายไป ต้นไม้พากันล้มตาย และระดับน้ำในทะเลสาบลดต่ำลงไปเกือบสองเมตรจากเดิมเมื่อทะเลสาบเริ่มแห้งลงนักท่องเที่ยวก็ลดลงตามไปด้วย
คนส่วนใหญ่โทษเหมืองถ่านหินว่าเป็นตัวการทำให้ระดับน้ำลดลง แต่ทางเหมืองก็ปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากความแห้งแล้งและการขาดฝน ข้อถกเถียงนี้ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะผู้อาศัยในพื้นที่ชี้ให้เห็นว่าทะเลสาบที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้เหมืองถ่านหินนั้นไม่มีการเหือดแห้งอย่างรุนแรงเหมือนทะเล สาบอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เหมือง
หมู่บ้านเคร็กซิว(Kleczew)
สถานการณ์ใกล้เคียงกันนี้ได้เกิดขึ้นใกล้หมู่บ้านเคร็กซิว ที่อยู่ห่างเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากหมู่บ้านพซีจีเซียซ ซึ่งมีเหมืองจอซวินทูบี ที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อสิบปีก่อนและยังคงทำงานอย่างเต็มกำลังการผลิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทางเหมืองได้ทำให้ภูมิประเทศกลายเป็นสีเทาทะมึนดูแห้งแล้ง และแผ่ขยายออกไปจนสุดลูกหูลูกตา ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งพอซนัน (Poznan’s University of Agriculture) พบว่า “การเหือดแห้งของแหล่งน้ำโดยรอบบริเวณเหมืองถ่านหินในเขตเคร็กซิวนำไปสู่รูปแบบของหลุมเว้าที่ยุบตัวลง ขณะที่การทำเหมืองได้ขยายตัวไปทางตอนเหนือนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1980s ระดับน้ำทะเลสาบทั่วบริเวณสวนสาธารณะโปวิดสกี้(Powidzki)ก็เริ่มลดระดับลงตามไป”
หมู่บ้านคูรสวิกา(Kruszwica)
อีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากปัญหาเหมืองถ่านหิน ก็คือทะเลสาบโกพโล(Goplo) ที่อยู่ใกล้กับเมืองคูรสวิกาซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะสหัสวรรษแห่งโกพโล สวนแห่งนี้ได้รับความคุ้มครองจากโครงการ EU Natura 2000 และยังเป็นที่อยู่ที่ปลอดภัยของนกจากทั่วทั้งยุโรปอีกด้วย และตามฝั่งทะเลสาบโกพโลนี่เองก็เป็นที่ตั้งของชนเผ่าแรกของโปแลนด์ ขณะนี้พื้นที่ที่มีค่าและงดงามแห่งนี้กำลังตกอยู่ในการคุกคาม
การคุกคามที่ว่านี้มาจากสิทธิในการขุดเหมืองถ่านแบบเปิดโทมิสลาวิส(Tomislawice) (ห่างจากคูรสวิกาไม่ถึง 10 กิโลเมตร) ที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา และกำหนดเปิดในปี 2552
สองเดือนหลังจากการประกาศสิทธิ์ ผู้อาศัยในท้องถิ่นได้ออกมาประท้วงแผนการนี้ ซึ่งเป็นการประท้วงว่าด้วยเรื่องเหมืองถ่านหินเป็นครั้งแรกในโปแลนด์ มีผู้คนราวห้าพันคนออกเดินประท้วงบนถนนของเมืองคูรสวิกา หนึ่งในนั้นคือนาย Jozef Drzazgowski แห่งกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพซีจีเซียซี(Przyjezierze Association for Protecting the Natural Environment) “หากโทมิสลาวิส(Tomislawice)เริ่มดำเนินการเหมือง” เขากล่าว “ระดับน้ำในทะเลสาปโกพโลจะแห้งเหือดลงในช่วงสิบปีนี้แบบเดียวกันกับที่เกิดที่ทะเลสาบออสโตสกี้”
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรายงานผลกระทบของเหมืองถ่านหินแบบเปิดโทมิสลาวิส(Tomislawice) ซึ่งจัดทำโดยทางเหมืองถ่านหินเอง ในรายงานได้กล่าวถึงการตัดสินใจที่จะเริ่มกักเก็บน้ำของเหมืองในทะเลสาบโกพโล ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปซึ่งจะ “อนุญาตให้รักษาระดับน้ำในทะเลสาบปัจจุบันต่อไป” หากไม่ใช่เพราะเหตุนี้ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำจำนวนมากนี้คงจะก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายอย่างร้ายแรงแน่นอน
ซึ่งสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ในทันทีที่มีน้ำมากเกินหรือน้อยเกินไปในทะเลสาบ ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นได้ในอีกหลายปีข้างหน้าเมื่อเหมืองปิดทำการและทะเลสาบเริ่มเหือดแห้ง ทะเลสาบโกพโลเป็นส่วนสำคัญของระบบห่วงโซ่อาหารในพื้นที่โดยรอบ นกหลายสายพันธ์ุจะตกอยู่ในอันตราย รวมไปถึงนกบิทเทิร์น(bittern) นกเบีร์ยด์รีดลิ่ง(bearded reedling)และห่านเทาปากชมพู(greylag goose) ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวนสาธารณะโกพโล บึงและห้วยพรุต่างๆ ก็จะแห้งลง ก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจกู้คืนมาได้ต่อแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคคูยาเวีย
ถึงอย่างไรก็ตาม บริษัททำเหมืองก็ยังคงปฏิเสธ ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้ “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมหมู่บ้านคูรสวิกาถึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งๆ ที่หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่การทำเหมืองในอนาคตจะไม่ส่งผลกระทบให้เลยแม้แต่น้อย” Arkadiusz Michalski หัวหน้าวิศวกรสิ่งแวดล้อมของแห่ง KWB Konin กล่าว
ทว่า ดร. Michael Kupczyk นักศึกษาด้านปักษีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Poznan Adam Mickiewicz กลับไม่เห็นด้วย “เราไม่ได้พูดถึงพื้นที่ที่อยู่ติดกับเหมือง” เขากล่าว “เรากำลังพูดถึงผลกระทบที่มีต่อภูมิภาคในระยะสิบหรืออาจจะถึงหลายร้อยกิโลเมตรเลยทีเดียว” หากเขาพูดถูกความเสียหายที่เกิดขึ้นในโปแลนด์นั้นเกิดจากการทำเหมืองแบบเปิดนั้นมันก็แค่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
—————–
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี