ฌาร์เรียเป็นหนึ่งในเขตเหมืองถ่านหินที่มีความสำคัญมากที่สุดในอินเดีย และเป็นหนึ่งในเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ถ่านหินซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของมีค่าที่นำมาผลิตเป็นถ่านโค้กคุณภาพสูง หากแต่ไฟถ่านหินจากการสันดาปที่เกิดขึ้นเองที่ควบคุมไม่ได้กลับเปลี่ยนให้เหมืองถ่านหินกลายมาเป็นไฟบรรลัยกัลป์ที่เผาไหม้ไม่มีวันดับมอด
เขตฌาร์เรียเป็นเขตที่พื้นดินถูกเผาไหม้อย่างช้าๆ และมีควันพิษที่ทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของดินอีกด้วย ทว่า ผู้คนหลายพันคนก็ยังคงอยู่ในเมืองที่ทรุดตัวลงนี้ เลี้ยงชีวิตตัวเองในแต่ละวัน ชาวบ้านหลายคนหารายได้ด้วยการลักลอบเก็บถ่านหิน แต่ละวันพวกเขาต้องคอยกระวีกระวาดเก็บเศษถ่านหินจากหลุมขยะของเหมืองถ่านหินเพื่อนำไปขายในตลาดในท้องถิ่นในราคาตะกร้าละ 50 รูปี (1.20 เหรียญสหรัฐฯ)
สภาพความเป็นอยู่ดังกล่าวเป็นภาพที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านี้ พวกเขายังถูกคุกคามให้ออกจากที่ทำกินของตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจากอันตรายจากไฟถ่านหินที่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
ที่มาที่ไป
ก่อนหน้าที่จะมีการขุดถ่านหินในพื้นที่แห่งนี้ ฌาร์เรียเคยเป็นเขตที่ป่าหนาแน่นที่มีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ พวกเขาดำรงชีวิตพื้นฐานด้วยการทำเกษตรกรรมและการเลี้ยงวัว เรื่องราวที่เล่าขานต่อกันมามีอยู่ว่า ในช่วงแรกราชาชีพ ประสาท ซิงห์(Raja Shiv Prasad Singh) ผู้ปกครองเขตฌาร์เรียและบริเวณโดยรอบอนุญาตให้พ่อค้าชาวคุจราช(Gujarati)เช่าพื้นที่ 200 เอเคอร์ ในเขตนี้เพื่อเริ่มกิจการเหมืองถ่านหินโดยเก็บค่าเช่าเป็นเงิน 200 รูปี (5 เหรียญสหรัฐฯ)
เมื่อกิจการเหมืองถ่านหินเติบโตขึ้น ไม่นานนัก ก็เกิดปัญหาไฟถ่านหินจากการสันดาปที่เกิดขึ้นเอง ชั้นถ่านหินที่ลุกไหม้อย่างช้าๆ และกากของเสียทำให้เกิดประกายไฟขึ้นอันเป็นผลมาจากเทคนิคการทำเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐานและความประมาทเลินเล่อ ตัวการหลักที่เป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้และการเลื่อนทรุดตัวของของแผ่นดิน นั่นคือ การทำเหมืองถ่านหินที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์ไฟถ่านหินครั้งแรกขึ้นในเมืองฌาร์เรียในปี 2459 (เกิดขึ้นในเหมืองถ่านหินโบรา(Bohra)) ช่วงที่เลวร้ายที่สุดคือหลังจากปี 2514 เมื่อเหมืองแร่ต่างๆ กลายเป็นสมบัติของชาติและบริษัทเอกชนที่มีชื่อว่า บารัตโค๊กกิ้งโคล์ลิมิตเตด(Bharat Coking Coal Limited- BCCL) ได้ครอบครองสัมปทานในเขตฌาร์เรีย บริษัทเหมืองถ่านหินรายใหม่นี้เริ่มดำเนินการขุดเหมืองถ่านหินแบบเปิดขนาดใหญ่ เพื่อขุดถ่านหินอยู่ใกล้กับพื้นผิวดินมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทำเหมืองที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อถ่านหินหมดไปแล้ว หลุมถ่านหินขนาดใหญ่ก็จะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ทำให้ชั้นถ่านหินสัมผัสกับอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ถ่านหินเกิดการสันดาปด้วยตัวเอง และเมื่อเกิดประกายไฟขึ้น ไฟถ่านหินเหล่านี้จะไม่สามารถดับได้ จากข้อมูลของบริษัท BCCL ปัจจุบันมีเขตไฟไหม้ถึง 67 เขตในฌาร์เรีย
ข้อมูลตรงจากฌาร์เรีย
สภาพความเป็นอยู่อันเลวร้าย
ผู้อพยพที่ยากจนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีทักษะการทำงานที่มาจากรัฐใกล้เคียงได้มาตั้งหลักปักฐานในเขตฌาร์เรียมาเป็นเวลาหลายปี ส่วนใหญ่พวกเขาหารายได้ด้วยการเก็บถ่านหินอย่างผิดกฎหมายเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ ด้วยอาศัยอาหารเพียงวันละสองมื้อ ปัญหาดังกล่าวสร้างความกดดันอย่างมากในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน คายาตี เทวี(Gayatri Devi) ซึ่งเป็นคนลักลอบเก็บถ่านหินวัย 50 ปี อาศัยในบ้านที่มีเพียงห้องเดียวในย่านไฟถ่านหินที่เรียกว่าโภคาพาหดี(Bokapahadi) พื้นบ้านของเธอมีรอยแยกขนาดมหึมาพาดผ่าน ทำให้เกิดควันไฟจากข้างใต้ขึ้นมาเต็มบ้าน เธอเล่าว่า:
“ฉันอยู่ที่นี่มาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว เมื่อปีกลายนี้เอง พื้นของบ้านแตก และจากนั้นมาบ้านของฉันก็มีปัญหาไฟไหม้ เท้าเราจะไหม้พองถ้าเดินบนบ้านด้วยเท้าเปล่า ตอนกลางคืนเด็กๆ หายใจไม่ออกเพราะฉุนกลิ่นควันไฟ เราทั้งหมดแปดคนนอนในห้องนี้ เราไม่มีที่ไป และไม่มีเงินสร้างบ้านใหม่อีกด้วย ดีไม่ดีก็เราคงตายที่นี่ละ”
โรคปอดและโรคผิวหนัง
สุขภาพที่ย่ำแย่ยิ่งเพิ่มความรู้สึกที่ดูสิ้นหวังให้กับเมืองนี้ ปัญหามลพิษเข้าครอบงำทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ น้ำ และบนผืนดิน ควันจากไฟถ่านหินประกอบด้วยก๊าซพิษที่รวมไปถึงก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ควันพิษเหล่านี้ รวมทั้งฝุ่นละอองถ่านหิน อนุภาคขนาดเล็กมากจากไฟถ่านหินเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคปอดและโรคผิวหนัง
ปัญหาข้างต้นยังย่ำแย่ไปกว่าเดิม จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนงานในเหมืองส่วนมาก ซึ่งรวมไปถึงคนขับรถบุ้งกี๋เสย ไม่มีการสวมหน้ากาก รองเท้าหรือเสื้อคลุมกันเปื้อน เพื่อป้องกันอันตรายเลย จึงไม่แปลกใจเลยที่ว่าโรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่คือโรคฝุ่นจับปอด วัณโรค หืด และความผิดปกติเรื้อรังอื่นๆ ของปอด
ดร.ราชีพ อัครวาล (Rajiv Agarwal) แพทย์ท้องถิ่นในเขตฌาร์เรีย เล่าให้เราฟังว่า “ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นคนงานในเหมืองถ่านหินที่นี่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคฝุ่นจับปอด เมื่อมีการตรวจพบ เราก็ทำอะไรไม่ได้มากแล้ว เขม่าจากถ่านหินแผ่ตัวเป็นแผ่นฟิลม์ปกคลุมในปอด นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยภาวะเลือดจางและภาวะทุโภชนาการได้บ่อยมาก ซึ่งนับเป็นผลพวงของความยากจนแร้นแค้น และแรงงานอยู่ในสภาวะย่ำแย่ที่สุดในเขตเหมืองถ่านหิน”
คนงานเหมืองถ่านหินเป็นผู้ที่ต้องรับเคราะห์หนักที่สุด แต่ทุกคนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างเช่นกรณีของชานตี(Shanti) ที่อาศัยอยู่ในเขตโลฮา(Lodha) ซึ่งเป็นเขตที่ประสบปัญหาไฟถ่านหินเช่นกัน เธอเล่าให้เราฟังว่า “ฉันมีปัญหาปวดศีรษะมาตลอด เนื่องจากก๊าซพิษบริเวณนี้ บางทีเป็นขึ้นมาติดต่อกันหลายๆ วัน ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกๆ ของฉันซึ่งไม่สบายปวดหัวอยู่ประจำ บ่อยครั้งที่ไม่มีใครได้ไปทำงานเพราะสามีฉันป่วยเป็นวัณโรค เขามีอาการไอเป็นเลือดและป่วยหนักมาก ก็ได้แต่หวังว่าเราจะผ่านพ้นช่วงเวลาแย่ๆ แบบนี้ไปเร็วๆ”
แม้ว่าหลักฐานต่างๆ จะปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่เมื่อถามถึงมาตรการด้านความปลอดภัย นายสุพัทร โชติหุรี(Subrata Chowdhury) อดีตประธานและกรรมการผู้จัดการของบริษัท BCCL ได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อความจริงที่ว่าบรรดาคนงานเหมืองแร่กำลังได้รับทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของปอดและระบบการหายใจ
การย้ายที่อยู่อาศัย
แม้ว่าจะมีปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดยังคงเป็นเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัย ล่าสุด นายทีเค ลาไฮรี (T.K.Lahiry) ผู้อำนวยการด้านเทคนิคของบริษัท BCCL ได้ออกมาประกาศว่า:
“การสูญเสียถ่านหินโค้กคุณภาพดีนับเป็นการสูญเสียของชาติ แต่นั้นเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อม BCCL กำลังสูญเสียกำไรและผู้คนกำลังตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยมากที่สุด ทางออกอย่างเดียวก็คือการฟื้นฟูสภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นนี้อันตรายนี้”
ทั้งนี้ แผนการฟื้นฟูดังกล่าวก็มาในรูปแบบของแผนปฏิบัติการฌาร์เรีย ซึ่งเป็นโครงการที่มีงบประมาณ 6 หมื่นล้านรูปี (1,500 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ) และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ประสบปัญหาย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และควบคุมไฟถ่านหิน เพื่อตอบสนองตามแผนการดังกล่าว กระทรวงถ่านหิน (Ministry of Coal) ของอินเดียยังได้เปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อสร้างบ้านให้กับประชาชนผู้อยู่อาศัยในย่านโภคาพาหดี(Bokapahadi)ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาจากเหมืองถ่านหินมากที่สุด โครงการดังกล่าวมีงบประมาณทั้งสิ้น 600 ล้านรูปี (15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
โดยหลักการแล้ว แผนการดำเนินการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ความซับซ้อนของปัญหาได้ แท้จริงแล้ว ในเขตโภคาพาหดี การต่อต้านการย้ายถิ่นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและจริงจัง ตามข้อมูลจากชาวบ้าน ครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกตั้งแต่แปดถึงสิบคนจะได้อยู่บ้านที่มีห้องห้องเดียว เขตบีลากาเรีย(Belagaria) ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของหมู่บ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้าง อยู่ห่างจากตัวเมือง และแทบไม่มีโอกาสในการจ้างงานเลย เมื่อพิจารณาถึงทางเลือกการใช้ชีวิตที่หดหู่สิ้นหวังกับการสูญเสียการดำรงชีพ คนส่วนใหญ่หมดหนทางและพยายามที่จะอยู่ที่เดิม
อโศก อัควาล(Ashok Agarwal) ประธานกลุ่ม Jharia Bachao Sangharsh Samiti ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านในท้องถิ่น ที่ปัจจุบันต่อสู้กับแผนการของบริษัท BCCL ในชั้นศาลฎีกา เล่าถึงสถานการณ์ที่ไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ทุกผ่ายโดยสรุปดังนี้: “บริษัทเริ่มทำเหมืองแบบเปิดเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและทำง่ายกว่า เมื่อเกิดไฟถ่านหิน แทบไม่มีการทำอะไรเลยเพื่อให้ไฟดับ จะไม่มีการจัดเก็บสำรองทรายไว้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง พื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟถ่านหินถูกเปิดโล่ง ตอนนี้พวกเขาต้องการย้ายคนออกไปให้หมด และสกัดถ่านหินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าชดเชยที่มีแทบไม่มีประโยชน์เลยเมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่ได้ทำไว้ แล้วถ้าคนไม่มีงานทำจะให้พวกเขาทำอะไรละทีนี้?”
แม้ว่าเขตฌาร์เรียจะยังคงตกอยู่ท่ามกลางไฟถ่านหิน ชาวบ้านก็ยังจำทนอยู่กับสภาพแวดล้อมอันเลวร้าย โรคภัย มลพิษและการข่มขู่ให้ย้ายที่อยู่ หากถามว่าเพราะอะไร? คำตอบก็คือพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น
——————-
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี