“หากไม่มีคนงานเหมือง เราคงไม่สามารถแล่นเรือบนทะเลสาบได้ในวันนี้” กัปตันโทมัส นาเกล(Thomas Nagel) อธิบายขณะที่เขาค่อยๆ เดินเรือที่มีอายุกว่า 50 ปี นามว่าซานตาบาบารา(Santa Barbara) ข้ามทะเลสาบสเวนกัว(Zwenkau) ในเยอรมนีตะวันออก น้ำโดยรอบมีสีเหมือนชาดำใสและมีกลิ่นกำมะถัน มีกิ่งก้านบางๆ ของต้นไม้แทงยอดออกมาเหนือผิวน้ำทะเลสาบที่เพิ่งสร้างใหม่ แต่อย่างไรก็ตามค่าความเป็นกรด-ด่างในน้ำแสดงว่ามีกรดชนิดเดียวกับน้ำส้มสายชูในน้ำอยู่ 2.6 ในด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลสาบเป็นที่ตั้งของหอสีเทาของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสองหอพุ่งเสียดฟ้า

ทะเลสาบสเวนกัวตั้งอยู่บนเหมืองถ่านเก่าที่ปิดตัวลงแล้ว และใช้ระยะเวลา 20 นาทีในการขับรถจากไลซิก(Leipzig)ในแซกโซนี(Saxony)เปิดทำการตั้งแต่ปี 2464 ถึง 2442 พื้นที่เหมืองถ่านหินครอบคลุมถึง 2,863 เฮกตาร์หรือมีขนาดเท่าสนามฟุตบอลมากกว่า 4,000 สนาม ปัจจุบันผลพวงจากการฟื้นฟู พื้นที่นี้ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่มีทั้งท่าจอดเรือ อพาร์ตเมนท์พร้อมสระว่ายน้ำและรถรางลอยฟ้าที่ตัดผ่านทะเลสาบไปสู่สวนสนุกเบแลนติส(Belantis)ที่อยู่ใกล้เคียง ด้วยขนาด 10 กิโลเมตร ทะเลสาบนี้จะกลายเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในประเภทเดียวกัน ที่เรียกว่า ‘New Central German Lake District’

ทะเลสาบสเวนกัว(Zwenkau) เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่จัดขึ้นเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายของอดีตเหมืองถ่านหินแบบเปิดในเยอรมนี แต่อย่างไรก็ตาม มันยังเน้นถึงความท้าทายบางอย่างที่มาพร้อมกับการฟื้นฟูผืนดินที่ถูกทำลายจากเหมืองถ่านหินแบบเปิด รวมกับข้อบกพร่องในแบบที่ทางรัฐบาลกำลังเริ่มทำในปัจจุบัน

การฟื้นฟู – ปัญหาและข้อบกพร่อง

ใครเป็นผู้จ่าย?

การพัฒนาฟื้นฟูทะเลสาบสเวนกัว(Zwenkau) มีค่าใช้จ่ายไปแล้วถึง 145.6 ล้านยูโร ในเยอรมันตอนกลางและในเขตลูซาเธียน(Lusatian)เพียงอย่างเดียวก็มีการใช้จ่ายไปแล้วถึง 8.3 พันล้านยูโร ในการฟื้นฟูเหมืองแบบเปิดเก่าที่ปิดตัวลงมาตั้งแต่ปี 2543

วิธีที่เยอรมนีจ่ายเงินสำหรับการฟื้นฟูนี้ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ : ในอดีตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic:GDR) เหมืองถ่านหินแบบเปิดนั้นดำเนินการโดยรัฐบาล ดังนั้นการฟื้นฟูก็ดำเนินการโดยรัฐบาลเช่นกัน

Philipp Steuer จากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของใน Leipzig อธิบายถึงปัญหาว่า “การพัฒนาฟื้นฟูนั้นเกี่ยวโยงกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยปกติแล้วบริษัททำเหมืองจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับเพียงทางเลือกเดียว แต่ในกรณีของเยอรมันตะวันออกแล้ว ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูนั้นจ่ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นี้อาจจะฟังดูสมเหตุสมผลเมื่อคำนึงถึงหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเหมืองถ่านหินลิกไนต์แบบเปิดหน้าดิน ในอดีตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน แต่ค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากนั้นที่ตอนนี้  สหภาพยุโรป(EU)เป็นผู้ออกให้ภายใต้กรอบการทำงานที่เรียกกันว่า ‘ความช่วยเหลือระดับภูมิภาค’ เพื่อให้เงินช่วยเหลือในการทำเหมืองแบบเปิดที่ทำลายภูมิประเทศนั้นดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลเท่าไร”

แน่นอนว่า ปัญหาคงจะไม่หมดไปหากปล่อยให้ทางบริษัททำเหมืองเป็นผู้จัดการการฟื้นฟูเพราะจะมีการใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มีการจัดการปัญหาเพียงน้อยนิด และมีโอกาสเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ว่าพื้นที่จะได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มตัว

น้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่เป็นกรด(Acid Mine Drainage)

มีทะเลสาบอยู่ 172 แห่งที่เคยเป็นเหมืองถ่านหินมาก่อนในเยอรมันตะวันออก เกือบทั้งหมด ต้องประสบกับปัญหาคล้ายคลึงกันคือ น้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (AMD) ผลลัพธ์นั้นเห็นได้อย่างชัดเจน พืชและสัตว์น้ำไม่สามารถอยู่รอดได้ น้ำกินน้ำใช้มีการปนเปื้อน และกรดก็กัดกร่อนโครงสร้างท่อน้ำเสีย

ทะเลสาบสเวนกัวก็ไม่รอดพ้นจากปัญหานี้ เมื่อปี 2551 นาย Jorg Hagelganz จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งสภาเมืองแซกโซนี(Regional Council of Saxony) ประกาศว่า “ทะเลสาบสเวนกัวจะเปลี่ยนเป็นทะเลสาบน้ำกรดแห่งเยอรมนี หากเราไม่ทำอะไรสักอย่างขึ้นมา”

ความเสียหายที่เกิดกับระดับน้ำ

ในการเจือจางสภาวะที่เป็นกรดของน้ำในทะเลสาบสเวนกัวนั้น ปัจจุบันทางองค์การเหมืองแร่(LMBV) กำลังพึ่งวิธี “ปฏิบัติการน้ำป่าไหลหลาก”(active flooding) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2550 น้ำราว 10 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ถูกสูบไปยังทะเลสาบจากการระบายน้ำของเหมืองแบบเปิดในโพรเฟน(Profen) การสูบน้ำจำนวนมากนั้นจะส่งผลให้พื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบแห้งเหือดลง ยกเว้นพื้นที่การดำเนินงานของเหมืองถ่านหิน ผลที่ได้ก็คือระดับน้ำบาดาลที่ลดต่ำลงและระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ถูกทำลาย

อีกตัวอย่างหนึ่งอยู่ที่เขตลูซาเธียนที่ซึ่งโครงการฟื้นฟูยังคงพึ่งพาวิธี “ปฏิบัติการน้ำป่าไหลหลาก”(active flooding)กับน้ำในแม่น้ำ ที่นี่เกิดการท่วมของทะเลสาบลูซาเธียน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อแม่น้ำโดยรอบคือ แม่น้ำ Spree, Neiße และ Schwarze Elster ในปี 2546 มีน้ำเพียงน้อยนิดจากแม่น้ำ Spree ที่ไหลไปถึงเมืองเบอร์ลินที่ที่น้ำเสียที่ไหลออกมาจากเมืองส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางการไหลของแม่น้ำ

ยิ่งไปกว่านั้นขณะนี้เขตลูซาเธียนยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาระดับน้ำ – หลังจากสวิตช์ปั๊มระบายน้ำถูกกดในเหมืองแบบเปิดที่ปิดตัวลงแล้ว ระดับน้ำบาดาลก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผลจากการที่ระดับน้ำสูงขึ้นคือ การเก็บเกี่ยวล้มเหลว ชั้นใต้ดินถูกน้ำท่วมและอาคารบ้านเรือนแตกร้าว โรงงานบำบัดน้ำสียและสุสานต่างๆ ได้รับผลกระทบ “นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทีเดียว พวกเราทุกคนไม่เคยมีใครมีน้ำท่วมห้องใต้ดินกันมาก่อน” Siegmar Kugler รักษาการนายกเทศมนตรีประจำเขต Zerre และสมาชิกกลุ่ม (‘Watergroup’ Spreetal) ที่เก็บรวบรวมเอกสารบันทึกข้อมูลน้ำบาดาลในเขตเทศบาลเมืองกล่าว นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า บ้านอายุ 100 ปีไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อนจนกระทั่งมีการทำเหมืองเกิดขึ้น ทางองค์การเหมืองแร่(LMBV) เริ่มออกมาแสดงความรับผิดชอบในช่วงปลายปี 2551 ก่อนหน้านั้นผู้อยู่อาศัยในแถบนั้นต้องติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำกันเองเพื่อควบคุมระดับน้ำ

หลีกเลี่ยงประเด็นปัญหา

ไม่มีใครรู้ว่าภูมิประเทศแถบนั้นจะสามารถฟื้นฟูขึ้นมาให้กลับมาใกล้เคียงกับแต่ก่อนได้หรือไม่ ในขณะที่เงินหลายล้านยูโรจากกองทุนสาธารณะถูกนำมาช่วยเหลือในการพัฒนาฟื้นฟู นักวิทยาศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่า “ยังไม่แน่ชัดว่าวิธีการนี้จะช่วยฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืนหรือไม่”

แน่นอนว่าประเด็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูคือ การเบี่ยงเบนความสนใจที่อันตราย – ซึ่งจะดึงสายตาของผู้คนให้ออกห่างจากข้อเท็จจริงที่ว่ายังคงมีการทำเหมืองถ่านหินแบบเปิดต่อไป ไม่ว่าการฟื้นฟูจะมีศักยภาพมากแค่ไหน แต่โครงการใหญ่ยักษ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้การทำเหมืองถ่านหินแบบเปิดนั้นถูกกฎหมาย – นี่เป็นเทคนิคที่สร้างความเสียหายมากที่สุด

ตลอดเวลาที่ผ่านมาประชาชนเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการฟื้นฟูและทางรัฐบาลก็ยังคงจ่ายเงินให้กับถ่านหิน ขัดแย้งกับข้อแถลงการณ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน การศึกษาวิจัยเมื่อปี 2547 ของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐ(Federal Environment Agency)ได้นำเอาข้อเท็จจริงของผลกระทบจากลิกไนต์มาพิจารณาศึกษา ตลอดจนการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐที่มีจำนวนถึง 4.5 พันล้านยูโรต่อปี

สถานการณ์และแนวโน้มในอนาคต

เหมืองถ่านหินยังคงดำเนินการต่อไป

สิงหาคม ปี 2551 นายกรัฐมนตรี Stanislaw Tillich แห่ง Saxony ประกาศว่าเขาจะยังคงยึดมั่นในการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าซึ่งรวมไปถึงการใช้ถ่านหินลิกไนต์ ถ่านหินชนิดนี้เป็นถ่านหินที่สกปรกสุดในบรรดาถ่านหินทั้งหมด ดร. Joachim Geisler ประธานของบริษัท Central German Lignite Company MIBRAG กล่าวว่าทางบริษัทจะลงเงินทุนจำนวน 28 ล้านยูโรในการปรับปรุงให้เครื่องจักรทำเหมืองหน้าดินทันสมัยยิ่งขึ้นในปี 2551 สิ่งนั้นมาจากการพูดคุยอย่างจริงจังกับหุ้นส่วน “เกี่ยวกับความก้าวหน้าใหม่ๆ ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในโพรเฟน”

ทั้งหมดนี้หมายความว่าเครื่องจักรหนักในการทำเหมืองจะยังคงทำงานแผ้วถางพื้นที่ในประเทศ ผู้คนก็ยังคงต้องอพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่ ป่าไม้และระบบนิเวศโดยรวมก็จะยังคงถูกทำลาย

“ด้วยการทำเหมืองหน้าดินที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เราก็จะทำการฟื้นฟูพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างล่าช้า” ดร.Werban หัวหน้าของ UNESCO-Biospherereservoir Spreewald กล่าว“เราสามารถประหยัดเงินได้นับล้านในการฟื้นฟู หากเรามีความเคารพในธรรมชาติมากกว่านี้และไม่พยายามที่จะฝืนบังคับทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความรุนแรง ทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งไปที่ธุรกิจการค้าและมีการอุทิศให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์จากเงินช่วยเหลือในของการฟื้นฟู เรามีเหลือให้ธรรมชาติเพียงน้อยนิดเหลือเกิน “เหมือนกับว่าเราไม่ได้เรารู้ความผิดพลาดจากอดีตเลย แต่ธรรมชาติกำลังทวงสิทธิ์ของตนคืน” ดร. Werban คาดการณ์

—————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี