หากเปรียบถ่านหินเป็นเหมือนราชาในประเทศออสเตรเลีย เขตฮันเตอร์ วัลเลย์ (Hunter Valley) ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (NSW) ก็เป็นเหมือนบัลลังก์
การทำเหมืองถ่านหินส่วนใหญ่ในออสเตรเลียจะเป็นเหมืองแบบเปิด ดังนั้นการเดินทางผ่านเขตฮันเตอร์วัลเลย์อาจมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นการเดินทางไปเยือนดวงจันทร์เสียมากกว่าเพราะทัศนียภาพของเหมืองจำนวนมหึมาที่กระจัดกระจายอยู่สุดลูกหูลูกตาตรงหน้านั่นเอง
เกือบหนึ่งในสามของการส่งออกถ่านหินทั่วโลกมาจากออสเตรเลีย เมืองนิวแคสเซิล ในรัฐนิวเซาธ์ เวลส์ เป็นท่าการขนส่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ท่านี้ขนส่งถ่านหินรวมแล้วมากกว่าสองเท่าของที่สหรัฐส่งออกในแต่ละปี
ถ่านหินเหล่านี้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลออกมาเมื่อเกิดการเผาไหม้ แต่จากการที่การปล่อยก๊าซนี้เกิดขึ้นนอกประเทศออสเตรเลีย ปริมาณการปล่อยจึงไม่ได้นับรวมเข้าไปในโควตาการปล่อยคาร์บอนของออสเตรเลีย ดังนั้นออสเตรเลียจึงสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตถ่านหินขึ้นมาได้ นอกเหนือจากการเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของวิธีการสร้างความหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้ว การทำเหมืองของออสเตรเลียก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายมากมายของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ซึ่งตอนนี้หลายแห่งเริ่มควบคุมสถานการณ์ไม่ได้แล้ว
ประสบการณ์ตรงของผลกระทบจากถ่านหิน: ฮันเตอร์ วัลเลย์
ฮันเตอร์ วัลเลย์เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการผลิตไวน์และฟาร์มพ่อพันธ์ุม้าแข่งพันธ์ดี แต่กระนั้นสภาพแวดล้อมที่ธุรกิจดังกล่าวต้องพึ่งพาอาศัยกลับตกอยู่ในความเสี่ยงจากการทำเหมือง มันมีอันตรายอยู่จริงว่าอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านเหล่านี้ อาจถูกทำลายลงได้จากการขยายตัวของเหมืองถ่านหินในฮันเตอร์ วัลเลย์ ซึ่งหลายคนในพื้นที่ก็เห็นด้วย
“แม้ว่าอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินจะอยากเชื่อว่าการทำเหมืองและธุรกิจท่องเที่ยวด้านไวน์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้มากแค่ไหนก็ตามแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไวน์ไม่มีทางคิดเช่นนั้นแน่นอน”
ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
การแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นเป็นแค่ตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการทำเกษตรกรรมจากการทำเหมืองถ่านหิน ในฮันเตอร์ วัลเลย์นั้นขาดแคลนน้ำอย่างหนักและสถานการณ์ก็แย่ลงไปอีกด้วยภัยแล้งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
เหมืองถ่านหินแบบเปิดในพื้นที่จะต้องใช้น้ำในการทำงานจำนวนมหาศาลซึ่งส่วนใหญ่เสียไปกับการชะล้างกลุ่มฝุ่นละอองอันตรายที่เกิดจากการขุดเจาะขนาดใหญ่ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงน้ำที่มีจำนวนจำกัดนั้นผลเท่าที่ออกมาชาวไร่ชาวนานั้นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ส่วนเหมืองถ่านหินและโรงงานไฟฟ้าซึ่งเป็นตัวซดน้ำดีๆ นี่เองได้สิทธิ์ในการเข้าถึงและใช้น้ำ
จริงๆ แล้วเมื่อรัฐบาลของนิว เซาธ์ เวลส์ประกาศในปี 2550 ว่าหลายพื้นที่ของประเทศจะไม่ได้น้ำประปาใช้แต่เหมืองถ่านหินยังทำงานตามปกติยังคงสูบน้ำของประเทศไปใช้ต่อไป การตัดน้ำประปาเช่นนี้เป็นปัญหาอย่างร้ายแรงต่อการเงินของฟาร์มที่เปิดมานานหลายแห่งในพื้นที่
การทำลายล้างที่ยังดำเนินต่อไป: แอนวิล ฮิลล์
แม้จะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและรุนแรงอย่างยิ่งจากถ่านหินในฮันเตอร์ วัลเลย์ก็ตาม แต่แผนการที่จะเพิ่มศักยภาพการส่งออกของนิวแคสเซิลเป็นสองเท่าและมีการเสนอขอให้เหมืองถ่านหินเปิดใหม่อีกหลายแห่งผลิตถ่านหินเพิ่มขึ้นเพื่อการณ์นี้ด้วย
หนึ่งในเหมืองที่เปิดใหม่นี้เสนอให้เปิด ‘มังโกลา(Mangoola)’ เหมืองแบบเปิดขึ้นที่แอนวิล ฮิลล์(Anvil Hill) แผนการสำหรับเหมืองถ่านหินนี้ใหญ่มาก ทั้งพื้นที่โครงการที่มีมากกว่า 3,500 เฮกตาร์ และมีเป้าหมายที่จะขุดเอาถ่านหินจำนวนมากกว่า 220 ล้านตันภายในเวลายี่สิบปี แค่ถ่านหินที่ผลิตได้ในปีเดียวจากเหมืองแห่งนี้ก็จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากพอๆ กับที่ภาคการขนส่งทั้งหมดของนิวเซาธ์เวลส์ทำได้ เหมืองจะเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยมีผลกระทบด้านเสียงที่ “แย่กว่าโครงการเหมืองไหนๆ ที่ได้รับการอนุมัติในนิวเซาธ์เวลส์ถึงเกือบห้าเท่าเลยทีเดียว
ป่าละเมาะในพื้นที่กำลังจะหมดไป
แอนวิล ฮิลล์เป็นที่ตั้งของป่าละเมาะบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตฮันเตอร์ วัลเลย์ ซึ่งป่าดังกล่าวเป็นบ้านของไม้ดอกไม้ประดับถึง 440 สายพันธ์ุ และมี 25 สายพันธ์ุในนั้นติดอันดับพันธ์ไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ พื้นที่ดังกล่าวมีความไวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและมีระบบนิเวศที่ไม่เหมือนใครซึ่งรายงานของปี 2548 ได้เสนอแนะไว้ว่าควรมีการรักษาแอนวิล ฮิลล์เอาไว้โดยการอนุรักษ์ธรรมชาติ ถ้าหากเหมืองถ่านหินมังโกลาและเหมืองอื่นยังคงยืนยันจะดำเนินการขยับขยายการทำเหมืองต่อไปก็จะเป็นการคุกคามพื้นที่ป่าคุณภาพสูงกว่า 1,300 เฮกตาร์ ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการลดผลกระทบที่ร่างไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) ที่จัดทำขึ้นสำหรับเหมืองนั้นก็ไม่สามารถชดเชยความเสียหายนี้ได้อย่างเหมาะสม
ภัยคุกคามต่อภาคอุตสาหกรรมและชุมชน
มีเหตุผลหลายประการที่จะหยุดยั้งการเปิดเหมืองถ่านหินมังโกลา ไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าการขยายเหมืองจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแย่ลงเพียงอย่างเดียว แต่มันยังรวมไปถึงการบีบบังคับให้ผู้อยู่อาศัยกว่า 200 ย้ายถิ่นฐาน
อุตสาหกรรมการเพาะพันธ์ุม้าและการผลิตไวน์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นของตนเรื่องเหมืองถ่านหินไปแล้วในแง่ของปัญหาการย้ายถิ่นซึ่งเป็นการยากสำหรับสวนไวน์ที่ใช้เวลาเพาะปลูกกันนานนักปีจึงจะสำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมผู้ผลิตไวน์ในตอนเหนือของฮันเตอร์ (Upper Hunters Winemakers Association) ยังแสดงออกถึงจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับเหมืองถ่านหินมังโกลาไว้ว่า
“การเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและอยู่มานานจะถูกแทนที่ด้วยเหมืองถ่านหินนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและครอบครัวบางครอบครัวที่ทำธุรกิจดังกล่าวมานานหลายชั่วอายุคน”
ผู้คนกลุ่มอื่นรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับเหมืองที่ได้รับข้อเสนอให้เปิดทำการในแอนวิล ฮิลล์ ดังนั้นในปี 2548 สมาพันธ์แอนวิล ฮิลล์ก็ถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยในการต่อต้านการเปิดเหมือง
คณะทำงานในพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากองค์กรเอกชนอิสระ(NGOs) หลายแห่งและยังผลักดันการรณรงค์ต่อสู้ให้ข้อเสนอในการเปิดเหมืองนั้นตกไปตั้งแต่แรกเริ่ม ในเดือนมิถุนายน ปี 2550 มีผู้คนมากกว่า 400 คนใช้เวลาสุดสัปดาห์ในการตั้งแค้มป์ในบริเวณที่มีการเสนอให้สร้างเหมืองถ่านหินขึ้น ซึ่งเป็นการสื่อข้อความที่ชัดแจ้งถึงรัฐบาลว่าให้ “อนุรักษ์แอนวิล ฮิลล์” เอาไว้นั่นเอง
กระทั่งผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินเองก็เห็นว่าการเปิดเหมืองขึ้นใหม่นั้นจะเป็นการกระทำที่เกินไป ยกตัวอย่างเช่นนาย Graham Brown คนงานเหมืองที่เกษียณแล้ว ก็สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนความคิดเรื่องถ่านหินในฮันเตอร์ วัลเลย์ เขาอยากเห็นงานและเศรษฐกิจท้องถิ่นได้รับการคุ้มครองและเปลี่ยนไปในแนวทางเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ(Low-carbon economy) เขายังกล่าวอีกว่า “เราอยากเห็นกลไกการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นโดยมีบริษัททำเหมืองถ่านหินให้ความสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างเต็มที่”
อนาคต
มีหนทางแก้ไขที่ยั่งยืนและเป็นไปได้อยู่จริงและยังเป็นหนทางที่คนในพื้นที่และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อสู้ให้เกิดขึ้นมาตลอดอีกด้วย จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าฮันเตอร์ วัลเลย์สามารถให้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 40 แก่รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดงานมากกว่า 10,700 ตำแหน่งตามมา
ในความเป็นจริง ด้วยความช่วยเหลือของระบบพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ฮันเตอร์ วัลเลย์จะสามารถกลายมาเป็นพื้นที่ส่งออกพลังงานหมุนเวียน โดยจัดส่งไฟฟ้าที่ปราศจากการรั่วไหลของรังสีไปทั่วประเทศ และยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด (Clean energy technology)ให้แก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในความเป็นจริงนั้นไม่สวยหรูเหมือนที่คิด หลังจากวันสิ่งแวดล้อมโลกเดือนมิถุนายน ปี 2550 เพียงไม่นาน รัฐบาลนิวเซาธ์เวลส์ก็อนุมัติให้เปลี่ยนแอนวิล ฮิลล์เป็นเหมืองถ่านหินทั้งที่มีเหตุผลข้อโต้แย้งกับแผนการดังกล่าว ตอนนี้เหมืองได้ถูกขายให้แก่บริษัทข้ามชาติของสวิสชื่อว่า Xtrata ในช่วงท้ายปี 2550 เพราะมันได้ก่อหนี้สินให้แก่เจ้าของเก่าอย่าง Centennial Coal มากเกินไป ข่าวดีก็คือเหมืองยังคงไม่ได้รับการพัฒนาต่อ แต่มันจะยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไปอีกนานแค่ไหนนั้นก็ไม่อาจรู้ได้
——————-
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี