อุตสาหกรรมถ่านหินของรัสเซียมีกำลังแรงงานถึง 200,000 คน และในปี 2549 ด้วยกำลังผลิตถ่านหินถึง 309 ล้านตัน การทำเหมืองถ่านหินอาจถือได้ว่าเป็นงานที่มีอันตรายสูงสุดในประเทศก็ว่าได้ ทว่า สถิติที่เป็นทางการเกี่ยวกับอุบัติเหตุและผลกระทบทางสุขภาพก็ไม่ได้หาได้ง่ายๆ เลย

เหมืองถ่านหินในรัสเซียมีอันตรายและไม่ได้มีการลงทุนที่ดีพอตามมาตรฐาน ดังนั้น จึงมักเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็นประจำ และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายมนุษย์สูงอย่างน่าตกใจ ในปี 2546 เหมืองถ่านหินในเขตเคมิโรโวอิน(Kemerovoin) ทางตอนใต้ของไซบีเรียเกิดระเบิดขึ้น คร่าชีวิตคนไป 13 คน ในเดือนเมษายนของปีถัดไป คนงานอีก 45 คนเสียชีวิตในเหตุระเบิดในเหมืองแร่ในภูมิภาคเดียวกัน หนึ่งปีต่อมา คือในปี 2548 การระเบิดของก๊าซมีเทนทำให้มีผู้ต้องสังเวยชีวิตอีก 21 คน จากนั้นสองปีต่อมา ประเทศรัสเซียประสบกับหายนะจากอุตสาหกรรมเหมืองครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี เมื่อคนงานเหมือนถ่านหินกว่า 110 คน ต้องจบชีวิตในเหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินอูลยาโนชายา(Ulyanovskaya) ไม่นานนักอุบัติเหตุอันน่าเศร้าสลดนี้ ยังตามมาด้วยอุบัติเหตุอีกหนึ่งครั้งที่มีคนงานเสียชีวิตอีก 38 คน

ข้อมูลจากรายงานแห่งชาติที่จัดทำในปี 2549 พบว่าสาธารณรัฐโคมิ (Komi Republic) ของรัสเซีย (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตถ่านหิน) มีอัตราโรคที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพโดยรวมที่ร้อยละ 8.3 ต่อลูกจ้าง 10,000 คน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึงห้าเท่า ตัวเลขดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมถ่านหินถือเป็นอาชีพที่มีอันตรายมากที่สุดในรัสเซีย ด้วยจำนวนโรคที่สัมพันธ์กับงานถึง 26.5  โรคต่อลูกจ้างทุกๆ 10,000 คน แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวมีขนาดจนน่าตกใจ แต่ก็ไม่ได้สะท้อนภาพทั้งหมดของการทำเหมืองถ่านหินในรัสเซีย ที่คนงานหลายพันคนได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคเรื้อรัง และรุนแรง

โวร์คูตา(Vorkuta) ถ่านหินครองเมือง

โวร์คูตา(Vorkuta) เป็นเมืองเหมืองแร่ที่ตั้งอยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิลไป 160 กิโลเมตร มีประชากรมากกว่า 100,000 คน แต่เดิมเมืองนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 และพัฒนาขึ้นโดยอาศัยความสำเร็จของอุตสาหกรรมถ่านหิน อย่างไรก็ตาม การปิดเหมืองถ่านหินเมื่อไม่นานมานี้ และปัญหาสุขภาพที่เป็นผลมาจากการประกอบอาชีพในเหมืองแร่ย่อมหมายความว่าน้อยคนนักในเมืองแห่งนี้ ที่จะไม่ได้รับผลกระทบด้านลบจากเหมืองแร่

ปัญหาการจ่ายค่าแรงและการจ้างงาน

ในระหว่างช่วงคริสตทศวรรษที่ 1990 และช่วงต้นของคริสตศตวรรษที่ 21 เหมืองแร่หลายแห่งเริ่มปิดตัวลง เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการได้ จึงส่งผลให้ร้อยละ 1 ของคนงานเหมืองถ่านหินในเมืองโวร์คูตาต้องตกงาน ในปี 2536 และในปีต่อมา มีจำนวนผู้ตกงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9

ในช่วงเวลาเดียวกันคนงานที่ยังมีงานทำก็ต้องตกอยู่ในตำแหน่งงานที่ยากลำบาก ความกดดันในด้านงบประมาณของเจ้าของเหมืองถ่านหิน ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงระหว่างปลายคริสตทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้คนงานหลายคนไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งบางครั้งนานสูงสุดถึงหนึ่งปี ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการลุกฮือของสหภาพแรงงานหลายต่อหลายครั้ง  ครั้งหนึ่งสถานการณ์ย่ำแย่มากถึงขนาดที่คนงานกักตัวผู้อำนวยการบริษัทเหมืองถ่านหิน และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไว้ในตึก เพื่อเรียกร้องให้จ่ายเงินที่ค้างชำระ

ปัญหาสุขภาพ

ทุกวันนี้เหมืองถ่านหินห้าแห่งในเมืองโวร์คูตามีลูกจ้างประมาณแปดพันคน โดยผู้ป่วยจากโรคอาชีวอนามัย 114 ราย ที่มีการรายงานข้อมูลในปี 2550 พบว่า 101 ราย ทำงานในเหมืองถ่านหิน  ทั้งนี้โรคที่พบมากที่สุดคือโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องใช้อุตสาหกรรม การทำงานหนักมากเกินไป อาการล้าของอวัยวะและระบบร่างกาย ในปี 2551 มีผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง 30 ราย โรคประสาทหูอักเสบจำนวน 10 ราย โรคจากฝุ่น 5 ราย โรคที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อัดลม(pneumatic hammer disease) และโรคมะเร็งปอด อย่างละ 2 ราย

ผลกระทบโดยตรงของการทำเหมืองถ่านหินในรัสเซีย

อินิยาตุลลา ตุกฟาทูลลิน(Ainiyatulla Tukhfatullin) หนึ่งในคนงานเหมืองถ่านรายที่ได้รับทุกข์ทรมานจากการทำงาน เขาเกิดในปี 2492 ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จังหวัดทาทาสถาน(Tatarstan)ในเขตลุ่มแม่น้ำโวลก้า ในปี 2514 หลังจากที่เขารับราชการทหารแล้ว เขาได้กลับมายังเมืองโวร์คูตา และได้งานทำในเหมืองซาโปลยานายา (Zapolyarnaya) เขาทำงานอยู่ใต้ดินที่มีความลึกถึง 250 -750 เมตร โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมือแบบดั้งเดิมในเหมืองถ่านหินเป็นเวลานานถึง 34 ปี เหมืองถ่านหินแห่งนี้เองที่ทำให้เขาป่วยเป็นโรคต่างๆ

การบาดเจ็บ

การบาดเจ็บเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา “ในช่วงต้นคริสตทศวรรษที่ 70 เราไม่มีแม้แต่เครื่องเจาะหิน เราจึงทำเหมืองถ่านหินโดยใช้เลื่อย ขวานและพลั่ว นอกจากนั้นยังมีเครื่องเจาะไฟฟ้า ที่ว่ากันว่าหนักถึง 32 ก.ก. ผมมีปัญหากระดูกหักตั้งแต่หัวจรดเท้า ถ้าจะให้เล่าถึงประวัติการรักษาละก็ คิดว่าสมุดโน้ตของคุณทั้งเล่มก็คงจดไม่พอ”

เขาเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2520 เมื่อเขาโดนหินที่ร่วงหล่นลงมาทับ จนเขาต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและทรมานกับการบาดเจ็บเป็นเวลาถึงสองเดือนเนื่องจากกระดูกไหปลาร้าของเขาหัก ในปี 2547 อินิยาตุลลาตรวจพบว่าเขาเป็นโรคที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อัดลม(pneumatic hammer disease) “เห็นไหมครับ มือผมสั่น เป็นโรคที่ว่านี้ครับ” เขาอธิบาย ในปี 2548 อินิยาตุลลาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุใต้ดิน เขาล้มลง ทำให้เอ็นหัวเข่าขาซ้ายแตกจนต้องเข้ารับการผ่าตัดเป็นกรณีร้ายแรงและเจ็บปวดมาก  ครั้งนี้เขาต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึงเจ็ดเดือน

การบาดเจ็บครั้งนี้ทำให้อาชีพคนงานเหมืองแร่ของเขาสิ้นสุดลงและปัจจุบันเขาได้รับเงินประกันจากความไม่สบประกอบเดือนละ 7,500 รูเบิล และค่าชดเชยประมาณ 10,000 รูเบิล หรือคิดเป็นมูลค่าเพียง 700 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือนซึ่งแทบไม่พอใช้

การขาดการดูแล

ปัจจุบันนี้ อินิยาตุลลาใช้เวลาส่วนมากของเขาอยู่ที่ศูนย์แพทย์อาชีวอนามัย เขาต้องเดินทางไปที่นั่นเพื่อเข้ารับการรักษาปีละห้าครั้ง  ซึ่งแต่ละคอร์สการรักษาจะใช้เวลาประมาณสามสัปดาห์ เขาเล่าว่า “บางทีผมต้องนั่งแท็กซี่มาที่นี่ เปลืองค่าใช้จ่ายมาก แค่ค่าเดินทางก็หมดถึง 300 รูเบิ้ล”

ยิ่งแย่ไปกว่านี้ การขาดแคลนการสนับสนุนด้านงบประมาณสาธารณะทำให้ศูนย์อาชีวอนามัยต้องลดการใช้จ่ายในการให้บริการทำให้คนรายได้น้อยอย่าง อินิยาตุลลาไม่สามารถพักค้างคืนได้ ต้นเหตุของปัญหาการสนับสนุนงบประมาณคืองบประมาณขาดดุลเรื้อรังของเขตโวร์คูตา(Vorkuta) ที่สาเหตุบางส่วนมาจากการที่รายได้ภาษีของบริษัทถ่านหินโวร์คูตาอูโกล(Vorkutaugol) ถูกส่งไปยังกรุงมอสโคว สถานการณ์ต่างๆ ในเมื่องยิ่งย่ำแย่ลงจนถึงขั้นที่ว่ามีการพูดกันว่าศูนย์ดังกล่าวอาจถูกปิดตัวลงไปด้วย

————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี