ในปี 2549 เมืองอุตสาหกรรมศิลากัป(Cilacap)ที่แสนอึกทึกครึกโครม ตลบอบอวลไปด้วยความหวังของอนาคตที่สดใส เมื่อประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน ได้ออกมาประกาศเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในพื้นที่ ถึงแม้ว่า สิ่งนี้จะเป็นความหวังของการเติบโตของเศรษฐกิจในท้องถิ่น แต่เพียงไม่นานนัก สิ่งที่เมืองในชวาตะวันออกเฉียงใต้นี้จะต้องจ่ายนั้นกลับชัดเจนขึ้นมาอย่างน่าตกใจ
เป้าหมายเดิมของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ก็เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยขยับขยายพื้นที่อุตสาหกรรมของศิลากัปออกไปถึง 2,000 เฮกตาร์ – เพิ่มขึ้นมาสิบเท่าจากพื้นที่เดิม
ในช่วงเริ่มต้นโครงการ รัฐบาลเฝ้ามองดูอย่างภาคภูมิใจ โรงไฟฟ้าถ่านหินมีกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ป้อนให้แก่ระบบสายส่งไฟฟ้าชวา-บาหลี เกิดการสร้างงานใหม่ขึ้นมากมายรวมไปถึงเกิดความเฟื่องฟูของธุรกิจอุปกรณ์ก่อสร้างอีกด้วย ส่วนประชาชนในพื้นที่คนอื่นนั้นก็พลอยมีรายได้จากการให้วิศวกรก่อสร้างเช่าบ้านพักอาศัย
ไม่นานนักความจริงก็ปรากฏ เริ่มจากเมฆฝุ่นดำทะมึนที่แผ่ขยายปกคลุมไปทั่วเมือง
ผลกระทบโดยตรงของโรงไฟฟ้าถ่านหินศิลากัป
ผลกระทบทางสุขภาพ
หนูน้อยอาเลียวัย 4 ขวบอาศัยอยู่กับพ่อแม่และพี่ๆ อีก 2 คน มีเพียงทุ่งข้าวรกร้างที่แยกบ้านของพวกเขาออกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ห่างออกไป 300 เมตร ในช่วงวันแรกๆ ของการเปิดใช้งานโรงไฟฟ้า อาเลียยังคงเล่นอย่างมีความสุขกับเพื่อนของเธออยู่นอกบ้าน มีเพียงสัญญาณอันตรายเล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นมานั่นก็คืออาการไอไม่หยุดของเด็กๆ
นั่นเป็นสัญญาณเริ่มแรกของบางสิ่งบางอย่างที่ร้ายแรงกว่านั้น เจ็ดเดือนที่แล้วหนูน้อยอาเลียได้รับการวินิจฉัยพบว่าเธอมีอาการของโรคหลอดลมอักเสบ พ่อของเธอก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เขาทำงานที่โรงไฟฟ้ามากว่าหนึ่งปีแล้วโดยทำหน้าที่ขนถ่านหินออกจากรถบรรทุกทั้งที่ไม่มีหน้ากากกันสารพิษ เขาสูดเอาเขม่าและควันถ่านหินเข้าไป ขณะนี้เขามีจุดดำในปอด
เด็กหญิงอีกคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานก็คือหนูน้อยซาฟีราอายุสามปี เธอตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งยังไอและเป็นไข้หวัดอย่างน้อยสองเดือนครั้งตั้งแต่เกิด โรหิมาน แม่ของเธอไม่มีเงินมากพอที่จะพาเธอไปหาหมอ ยาอย่างเดียวที่ซาฟีราได้รับคือยาลดไข้และยาน้ำแก้ไอเท่านั้น
ปูร์วันโต นายแพทย์ท้องถิ่นบอกเราว่า:
“การขาดการโภชนาการที่ดีส่งผลให้แม่หลายคนในพื้นที่ไม่สามารถให้น้ำนมแก่ลูกของพวกเธอได้ ส่งผลให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อของเด็กทารกลดน้อยลง ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในเด็กมากขึ้นกว่าผู้ใหญ่ในพื้นที่ นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าเริ่มเปิดดำเนินการ”
นายแพทย์ปูร์วันโตคุ้นเคยกับความทุกข์ทรมานของเด็กที่มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้ามากเกินกว่าที่เขาจะรับไหว เขาจำต้องย้ายออกจากบ้านของตัวเองหลังจากลูกสองคนของเขากำลังเริ่มมีอาการโรคหลอดลมอักเสบ
มลพิษทางอากาศ
ผิดกับนายแพทย์ปูร์วันโต ข้าราชการเงินบำนาญอายุ 59 ปีอย่างนายอิหม่าม ซาร์โยโน เลือกที่จะอยู่ที่บ้านของตน เขาทำงานอย่างหนักเพื่อซื้อบ้านหลังนี้สำหรับชีวิตวัยเกษียณหลังจากทำหน้าที่เป็นพัศดีในเรือนจำที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงมาอย่างยาวนาน เขาเป็นหนึ่งใน 200 คนที่ซื้อบ้านในโครงการบ้านจัดสรรนี้ ด้วยแรงจูงใจจากทำเลที่ตั้งที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ และยังห่างไกลจากความเร่งรีบในเมืองใหญ่
ทว่า กล้วยไม้และดอกมะลิสีขาวที่ซาร์โยโนปลูกไว้หน้าบ้าน ขณะนี้กลับถูกปกคลุมไปด้วยเขม่าดำจนหมด ต้นไม้โดยรอบบริเวณมีฝุ่นดำทับถมอยู่ตามกิ่งใบ คนจำนวนมากจำใจต้องย้ายออกไปเนื่องจากฝุ่นละอองและเสียงที่ดังออกมาตลอดเวลาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
“เราต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อทำความสะอาดบ้าน ฝุ่นละอองทำให้เราต้องกวาดพื้นวันละหลายๆ รอบ” ซาร์โยโนกล่าว “เพื่อนบ้านของผมย้ายออกไปหลายคนแล้ว ใครจะทนอยู่กันแบบนี้ได้ล่ะ?”
การตกงาน
มลพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลเสียอย่างมากต่อการทำกินในพื้นที่ราว 12 เฮกตาร์ของทุ่งข้าวในสองหมู่บ้านซึ่งเกิดผลกระทบจนเสียหายหลังจากโรงไฟฟ้าปล่อยน้ำเสียที่มีส่วนผสมของน้ำร้อนและและน้ำเกลือลงมาท่วมไร่นาของพวกเขา
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวนาคนหนึ่งคือ โนโตะและลูกชายต้องออกจากที่ดินของตน ในตอนนั้นพวกเขาทำงานหาเงินโดยการขุดและขนส่งทรายกลับไปยังหมู่บ้านของตนด้วยเรือลำเล็ก เขาทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ซึ่งเป็นงานที่หนักมากในการขนทรายขึ้นรถบรรทุกเล็ก เงินตอบแทนเพียงเล็กน้อยของโนโตะ นั้นไม่เคยได้มากเกินกว่า 80,000 รูเปียต่อวันหรือประมาณ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลย
และก็เหมือนๆ กับเพื่อนบ้านหลายคนที่สูญเสียไร่นาของตน หมายความว่าโนโตะไม่มีทางเลือกอื่น อันที่จริงแล้ว โนโตะและลูกชายของเขาอยู่ในกลุ่มของผู้ที่โชคดี เพราะเพื่อนบ้านหลายคนของเขาไม่มีงานให้ทำเลยแม้แต่น้อย
การลุกฮือของคนในพื้นที่
ความเจ็บป่วย มลพิษและความตกต่ำของคุณภาพชีวิตได้สร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า เรื่องเกิดขึ้นในวันหนึ่งของช่วงปลายปี 2548 ผู้คนในละแวกนั้นถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียงอันดังจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว พวกเขากล่าวว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเหมือนกับเป็นเสียงเครื่องบินขึ้นใกล้ๆ อย่างไรอย่างนั้น
“เสียงมันดังๆ หยุดๆ อยู่ทุกๆ ห้านาที เราแทบไม่ได้ยินเสียงตัวเองด้วยซ้ำไป ภายหลังเรามาพบว่ามันเป็นเสียงล้างท่อของโรงไฟฟ้า”ซูกิยัตโนผู้อาศัยอยู่ในย่านนั้นกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรและในหมู่บ้านโดยรอบมารวมตัวกันเพื่อประท้วงโรงไฟฟ้าถึงปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้น พวกเขาก่อตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการนำเรื่องร้องเรียนไปยื่นแก่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และตัวโรงไฟฟ้าเอง
ซูกิยัตโน ผู้นำการประท้วงกล่าวว่า “เรากำลังต่อรองค่าชดใช้สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในสามหมู่บ้าน และหมู่บ้านจัดสรรกรียา เคนกานา เพอร์ไม (Griya Kencana Permai) ที่เกิดจากการทำงานของโรงไฟฟ้า ตอนนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย อย่างไรก็ตามเรายังคงหวังว่าจะมีทางออกที่ดีให้แก่ปัญหานี้”
เขายังคงชี้ให้เห็นอีกว่าเจ้าของโรงไฟฟ้าไม่เคยแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือเสนอความช่วยเหลืออะไรให้แก่ย่านที่อยู่อาศัยที่พวกเขาเป็นคนทำลายเลยแม้แต่น้อย คนในพื้นที่นั้นไม่ยอมถอยแน่ แต่ที่แย่ก็คือโรงไฟฟ้าผู้ก่อมลพิษก็ไม่ยอมเช่นกัน
————–
จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร
จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์
บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี