แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหกของโลก และเป็นผู้บริโภคที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดอีกด้วย ด้วยแนวชั้นถ่านหินบางๆ และแรงงานราคาถูก เหมืองถ่านหินจึงผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไปทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการทำเหมืองนั้นเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อเหมืองนั้นได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสิ้นแล้ว

มีเหมืองถ่านหินอยู่นับร้อยอยู่ทั่วแอฟริกาใต้ที่ไม่ได้ใช้งานและถูกทิ้งร้าง เหมืองแต่ละแห่งนั้นเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ยังคงทำงานอยู่และพร้อมที่จะทำลายสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (Acid Mine Drainage-AMD) น้ำเหือดหายไปจากการที่มีเกลือซัลเฟต โลหะหนัก และสารก่อมะเร็งอยู่เต็มบริเวณเหมืองอาทิ เบนซิน และโทลูอีน เป็นต้น

น้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (AMD) นี้ส่งผลเสียหายต่อสัตว์ป่าและยังแพร่กระจายความเจ็บป่วยและโรคต่างๆ อีกด้วย และตามรายงานของกระทรวงกิจการน้ำและป่าไม้ ประกอบกับความล้มเหลวด้านงานจัดการน้ำเสีย น้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (AMD) ยังเป็นอันตรายอย่างสูงกับคุณภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่จำกัดของแอฟริกาอีกด้วย

ประสบการณ์ตรงของผลกระทบจากเหมืองถ่านหินร้าง

เมืองอีมาลาเลนี (Emalahleni) คือสถานที่ที่เราสามารถสัมผัสถึงผลกระทบที่น่าตกใจนี้ ชื่อของเมืองนี้แปลว่า “สถานที่ของถ่านหิน” ไม่น่าแปลกใจกับชื่อเลยเมื่อพิจารณาจากการที่เมืองนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยเหมืองถ่านหินกว่า 22 แห่ง แล้วยังมีโรงงานเหล็ก วานาเดียม และแมงกานีสอีกด้วย

หนึ่งในเหมืองถ่านหินที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่นั้นได้แก่เหมืองทรานวาลล์(Transvaal) และเดลากัวเบย์(Delagoa Bay-T&DB) ซึ่งเปิดทำการในปี 2439 เมื่อเหมืองถูกปิดลงในปี 2496 เหมืองก็ถูกทิ้งร้างไร้เจ้าของและทำให้เกิดมลพิษขึ้นโดยไม่มีผู้ใดป้องกัน

ปัญหาสุขภาพ

กลุ่มที่เสี่ยงที่สุดในเมืองอีมาลาเลนี ได้แก่ เด็กที่อาศัยอยู่บนถนนไนล์เรเร(Nyerere) เมืองมากูควา(Maguqa) สนามฟุตบอลของเด็กๆ ตั้งอยู่ในที่ราบน้ำท่วมถึงของลำธารสายเล็กๆ ลำธารนั้นสกปรกและเป็นอันตรายเพราะมันเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลจากเทศบาลเมือง

ฤดูร้อนที่ผ่านมา การไหลบ่าของน้ำได้ทิ้งคราบเกลือไว้ทั่วสนามฟุตบอล ซึ่งมาจากการปนเปื้อนมลพิษทางน้ำ(AMD) โดยมีต้นเหตุมาจากเหมืองที่ตั้งอยู่โดยรอบนั้นเอง เด็กๆ ต้องย้ายสนามไปที่อื่นเมื่อเกลือเหล่านั้นเริ่มสร้างความระคายเคืองต่อตาของพวกเขา

เมื่อไม่ได้เล่นฟุตบอล (ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลายอย่างของเด็กๆ) เด็กในเมืองมากูควา ก็จะไปว่ายน้ำในสระน้ำอุ่นที่อยู่เหนือลำธารขึ้นไปสองกิโลเมตร สระน้ำดังกล่าวซ่อนเร้นความเป็นจริงที่เลวร้ายเอาไว้ เหตุผลที่น้ำในสระอุ่นนั้นเพราะได้ความร้อนจากไฟถ่านหินที่ยังคงเผาไหม้อยู่ในเหมืองที่ถูกทิ้งร้างเหล่านั้น ซึ่งเหมืองส่วนใหญ่เผาผลาญถ่านหินมาตั้งแต่ปี 2483 เป็นต้นมา

ที่น่าประหลาดใจก็คือสระน้ำนั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและไม่มีแม้กระทั่งป้ายเตือนอันตราย ทั้งที่น้ำในสระเป็นพิษ ไม่สามารถใช้ในการชลประทาน ดังนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่จะใช้สระสำหรับว่ายน้ำหรืออาบน้ำเลย

แหล่งน้ำที่ปนเปื้อน

ในปี 2549 และ 2550 มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 3 เหตุการณ์โดยรอบเขื่อนลอสกอบ(Loskop) ห่างออกไปราว 60 กิโลเมตรจากเมืองอีมาลาเลนิเกิดการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำขึ้นทำให้ปลา จระเข้ และเต่าน้ำจืดต้องตายไปหลายพันตัว ลงไปตามแม่น้ำก็ยังมีเรือกสวนไร่นาที่เสียหายและเกิดการปนเปื้อนในน้ำที่ชุมชนใช้ดื่มกินอีกด้วย

ดร.ยาน ไมเบอร์ก(Jan Myburgh) สัตวแพทย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัย พรีโตเรีย(Pretoria)เรียกสถานการณ์นี้ว่า “ความหายนะของระบบนิเวศ” ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คือ การที่น้ำทิ้งจากเหมืองมีสภาพเป็นกรด(AMD) หมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำนั้นจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะยาวเพราะหากเหมืองเจาะระดับน้ำใต้ดินลงไปแล้วชั้นหินใต้ดินก็จะสัมผัสกับอากาศและน้ำฝนซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่จะปล่อยสารพิษที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนทางน้ำขึ้น

ขึ้นเหนือแม่น้ำไปอีกก็จะพบว่ามีการปนเปื้อนในน้ำของเขื่อนนับร้อยในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร น้ำนั้นมีสีแดงและเหลืองทองเนื่องจากการละลายของเหล็ก ทุกๆ ที่ที่เกิดพื้นดินยุบตัว คุณก็จะพบกับการรั่วไหลของการปนเปื้อนทางน้ำ หากเหลือบมองแม่น้ำบรักรุส(Brugspruit) ดูแล้วคิดว่ามันมีหิมะปกคลุมอยู่ล่ะก็ไม่มีใครโทษคุณแน่เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเกลือจากเกลือขาวที่ตกค้างอยู่นั่นเอง

“ที่แห่งนี้เป็นนรกบนดินชัดๆ” นายแมธธิว ฮลาเบน(Matthews Hlabane) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมผู้มีประสบการณ์นานปีกล่าว “ดินนั้นถูกเผาไหม้และเต็มไปด้วยเกลือ น้ำก็ถูกปนเปื้อน อากาศก็เป็นอันตราย และที่สำคัญเรายังไม่เห็นว่ามันจะได้รับการแก้ไขเลย”

สิบปีที่แล้วเกิดความพยายามในการแก้ปัญหาขึ้นเมื่อนักเคลื่อนไหวจากชุมชนในพื้นที่ออกมาร้องเรียน แต่ถึงกระนั้น แมธธิวก็ชี้ให้เห็นถึงความจริงที่น่าวิตกว่า “เมื่อไรก็ตามที่เราเลิกร้องเรียนก็ไม่มีใครมาสนใจ”

มันดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไข ในเมืองอีมาลาเลนิ ระบบการระบายของเสียก็ไม่ได้มาตรฐานและไม่เหมาะในการทำงานจริง แล้วยังเรื่องที่ระบบดังกล่าวเป็นตัวการที่สร้างมลพิษสู่แม่น้ำก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โรงงานบำบัดน้ำเสียตรงต้นแม่น้ำ บรักรุสก็มีอายุกว่าสิบปีแล้วแถมยังปิดใช้งานมานานกว่าหนึ่งปีอีกด้วย ซึ่งโรงบำบัดดังกล่าวนั้นถึงเวลาที่จะทำการแก้ไขปรับปรุงใหม่ได้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหานอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วอีกนั่นก็คือ การลักขโมยสายไฟ การขาดบุคลากร น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และน้ำโสโครกที่ยังไม่ได้รับการบำบัด

มลพิษทางอากาศ

เมืองอีมาลาเลนิตั้งอยู่ในจังหวัดปูมาลังกา(Mpumalanga) และมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไฟเผาถ่านหินในเหมืองที่ไม่ได้ใช้งานแล้วก็กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักทั่วทั้งภูมิภาค ยังไม่มีใครคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เมื่อสุขภาพเริ่มย่ำแย่ลงความเป็นจริงก็เริ่มปรากฏให้เห็น เจ้าหน้าที่ในจังหวัดปูมาลังกายังได้กล่าวถึง “แนวโน้มที่เป็นไปได้อย่างมากว่าภายในช่วงหน้าหนาวจะเกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่”

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 รัฐบาลแห่งชาติประกาศให้พื้นที่ของจังหวัดปูมาลังกาซึ่งครอบคลุมกว่า 301,106 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่มีความสำคัญแห่งชาติ หลังจากได้ตรวจวัดระดับมลภาวะทางอากาศไปแล้วพบว่ามีสภาพที่แย่กว่าที่เกิดขึ้นในอดีตเยอรมันตะวันออก

สถานการณ์โดยรวมและแนวโน้มในอนาคต

แอฟริกาใต้กำลังหวังพึ่งเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด(Clean Coal Technology) ซึ่งยังไม่ได้มีการพิสูจน์มาก่อนว่าใช้ได้จริงหรือไม่ รวมไปถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีราคาแพงในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในขณะเดียวกันก็จะผลิตไฟฟ้าขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2593 อีกด้วย โดยไม่คำนึงถึงปัญหาไฟฟ้าที่มักจะดับอยู่บ่อยๆ โรงไฟฟ้าถ่านหินและการทำเหมืองถ่านหินกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความสำคัญในการจัดการกับมลภาวะที่เกิดจากเหมืองร้างยังมีอยู่น้อย

คณะกรรมการธรณีศาสตร์ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาให้แก่กระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (DME) ได้ทำการรวบรวมรายชื่อของเหมืองที่ถูกทิ้งร้างไร้เจ้าของกว่า 6,000 แห่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งเหมืองถ่านหิน T&DB ก็มีชื่อติดอยู่ในระดับต้นๆ โดยมีการประมาณการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอยู่ที่ราว 100 ล้านแรนด์ (10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ) นี่เป็นแค่ส่วนเดียวจากงบการฟื้นฟูของเหมืองทั้งหมดซึ่งมีงบจำนวนเต็มอยู่ที่ 30,000 – 100,000 ล้านแรนด์

เห็นได้ชัดเลยว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่เจ้าของเหมืองบางบริษัท อย่างเช่นแองโกลโคล(Anglo Coal) และบีเอชพีบิลลิตัน(BHP Billiton) ก็กำลังจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางน้ำ(AMD) ของตนด้วยงบกว่า 300 ล้านแรนด์ (32.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งนี่เป็นแค่กรณีเดียวเท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในการฟื้นฟูจะตกเป็นภาระของสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ หรือไม่ก็ค่าดูแลรักษาที่มาจากเงินของสาธารณะเอง

—————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี