เทือกเขาแอปปาลาเชียนตอนกลางในสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งถ่านหินที่มีจำนวนมากเป็นอันดับสองในสหรัฐฯ รองมาจากลุ่มน้ำเพาว์เดอร์(Powder River Basin)ของรัฐไวโอมิ่ง ในช่วงต้นคริสตวรรษ 1980s บริษัทถ่านหินที่ทำงานในพื้นที่เริ่มใช้รูปแบบการทำเหมืองแบบที่เรียกว่า การย้ายยอดเขา (Mountain Top Removal :MTR) ในกระบวนการนี้ พวกเขาได้ทำลายที่ดินและชุมชนของเทือกเขาแอปปาลาเชียน ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีถ่านหินโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเคนทักกี้ตะวันออก

ทำไม?

นั่นก็เพราะว่านี่เป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดในการเพื่อให้ได้ถ่านหินมาอย่างไรล่ะ

การย้ายยอดเขา(MTR) ทำงานตรงตามชื่อของมัน-คือคนงานเหมืองจะทำการระเบิดส่วนหนึ่งของภูเขาออกมาทั้งหมดเพื่อจะนำถ่านหินที่อยู่ใต้พื้นผิวออกมา เมื่อถ่านหินถูกขนย้ายแล้วเศษหินและดินต่างๆ ที่เกิดจากการระเบิด(ที่เรียกว่าดินหน้าแร่หรือ overburden) ก็จะถูกทิ้งลงในหุบเขาที่อยู่ใกล้เคียง

กระบวนการทำเหมืองที่ทำลายล้างสูงนี้ได้กลบฝังลำธารยาวนับร้อยไมล์ในรัฐเคนทักกี้ไปแล้ว และทำลายผืนป่าโบราณหลายพันเอเคอร์อย่างยับเยิน กระบวนการ MTR นี้เป็นหายนะร้ายแรงต่อพื้นที่ในเขตภูเขานี้ –ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศแบบป่าฝนเขตอบอุ่นที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผลกระทบทางกายภาพจากการทิ้งดินหน้าแร่นับพันตันไปสู่หุบเขานั้นก็แย่พออยู่แล้ว แต่เศษดินและหินเหล่านั้นยังมีโลหะพิษผสมอยู่เช่น ซีลีเนียม สารหนู และสารปรอท ที่สามารถไหลลงไปสู่พื้นดินและน้ำบาดาลส่งต่อสารพิษไปยังทุกสิ่งที่มันเดินทางไปไม่ว่าจะเป็น ลำธาร ปลา พืชและสัตว์ในท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งผู้คน

ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายยอดเขา(MRT)

ผู้คนนับพันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ถ่านหินเคนทักกี้ตะวันออกได้รับผลกระทบโดยตรงจาก MRT และเป็นพยานต่อการละเลย การปฏิเสธความรับผิดชอบ และความละโมบของบริษัทถ่านหิน

การปนเปื้อนของสารพิษ

เอริกาและราอูล อูไรอัส อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเป็นหุบเขาเขียวขจีในไพค์เคาน์ตี้ (Pike County) บ้านของพวกเขาขณะนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยพื้นดินที่เหมือนผิวดวงจันทร์จากการย้ายยอดเขาในแถบนั้น และที่ดินของพวกเขาถูกหินจากการนั้นลอยตกมาใส่และถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นกำมะถันจากการระเบิดเหมืองแต่สิ่งที่พวกเขาเป็นกังวลที่สุดคือ มาเคลาลูกสาววัยสี่ขวบของพวกเขา

ในปี 2549 พวกเขาพบว่าน้ำที่พวกเขากำลังใช้อาบตัวลูกสาว มีสารหนูปนเปื้อนอยู่ถึง 130 เท่าจากระดับที่ทางองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA) ยอมรับและมีสารปรอทสูงกว่าระดับปกติด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงสามปีแรกของแม่หนูน้อยบางครั้งเธอก็ดื่มน้ำนั่นเข้าไปด้วย ในขณะนี้หนูน้อยมาเคลายังคงสบายดีอยู่ แต่ เอริกาและราอูลยังคงกังวลกับอนาคต “ผมกลัวและกังวลเกี่ยวกับลูกสาวของผม” ราอูล บอกกับเรา “ผมรู้ว่าการรับเอาสารหนูเป็นระยะเวลานานนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะภายใน”

ในช่วงชีวิตวัยเด็กของเขา ราอูลรู้จักหุบเขาแห่งนี้ในแบบที่แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง “เมื่อผมยังเด็กมันสวยมาก” เขาอธิบาย “ลำธารใสบริสุทธิ์ไม่เป็นสีดำ มันเคยมีปลาและกบจำนวนมาก ตอนนี้มันไม่มีอะไรเลย…ตอนนี้สิ่งที่คุณมีคือกำแพงสูง 100 ฟุต ที่มีป้ายเขียนว่า ‘การฟื้นฟูที่ดิน’ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น…มันมีแค่ของสีน้ำตาลกระจัดกระจายอยู่เท่านั้น สัตว์ป่าต่างก็หายไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย”

เหตุพราะความไม่รู้ล้วนๆ

“เราเคยพบดอกกล้วยไม้ชูช่อ เราพบดอกทริลเลี่ยม (trillium)… ดอกพิฟซิสเซวา (pipsissewa)…เราพบดอกไม้ป่าดอกเล็กๆ แสนสวยต่างๆ ในนี้…แต่บัดนี้มันหายไปหมดแล้ว ฉันหมายความว่าพวกเขาถอนรากถอนโคนมันทั้งหมดและและเปลี่ยนเป็นที่หุบเขาสำหรับถมกากของเสียจากเหมืองแทน”

กว่าสิบปีที่ผ่านมาแมรี่ เจน(Mary Jane) เป็นผู้นำเดินป่าชมธรรมชาติในเขตเลสลี่เคาน์ตี้ ที่ซึ่งเธอและสามีของเธอ ราเลย์(Raleigh) อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2550 ทั้งคู่ต่อสู้กับการย้ายยอดเขา(MTR) ของบริษัทเหมืองถ่านหินวายมอร์โคล (Whymore Coal) ในระหว่างการต่อสู้นี้พวกเขาได้พบเห็นการทำลายระบบนิเวศอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ขึ้นไปอีกก็คือมีการทำลายบางอย่างนั้นเกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้นของบริษัทเหมืองถ่านหิน แมรี่ เจน(Mary Jane)เปิดเผยกับเราว่าทางเหมืองวายมอร์โคล(Whymore Coal) ได้ถางพื้นที่กว้างถึง 100 ฟุตตัดผ่านภูเขา และทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์อย่างค้างคาวอินเดียนาบราว์แบท(Indiana Brown Bat) ด้วยความประมาท “พวกเขาไม่รู้ว่าชั้นถ่านหินอยู่ตรงไหน” แมรี่ เจนบอกกับเราว่านั่นเป็นการกำจัดสัตว์ป่าสำคัญโดยเปล่าประโยชน์

การฟื้นฟูที่ไม่เพียงพอ

“ฉันไม่สนใจว่าพวกเขาจะสร้างทุ่งหญ้าบริเวณนี้ขึ้นมามากแค่ไหน เพื่อให้ [พวกสัตว์] มีผลไม้เปลือกแห้งไว้ประทังชีวิตระหว่างฤดูหนาว ไก่งวง ไก่ป่า กระรอก กวาง และสัตว์ทุกๆ ชนิด พวกเขาตัดเอาไม้ขนาดใหญ่ในป่าออกมาและไม่มีการปลูกคืนในอนาคตแต่อย่างใด”

ในเขตฟอล์ยเคาน์ตี้ รัฐเคนทักกี้ ริค แฮนชู(Rick Handshoe) เป็นผู้พบเห็นผลลัพธ์ที่ร้ายแรงหลังจากกระบวนการการถกถางพื้นที่เพื่อการทำเหมืองเกิดขึ้น

ปัญหาหลักที่ริคชี้ให้เห็นก็คือว่า ทางบริษัทเหมืองนั้นมักจะพัฒนาที่ดินบริเวณเหมืองให้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์โดยปลูกพืชผลผสมผสานกันเจ็ดชนิด ไม่เพียงแต่ว่าพืชผลเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องปลูกใหม่เป็นช่วงๆ แต่พวกมันจะเติบโตขึ้นได้ก็เมื่อใส่ปุ๋ยเข้มข้นลงไปช่วย เมื่อเงินที่ผูกมัดกับบริษัทเหมืองถูกส่งคืนจากรัฐแล้วการดูแลใส่ปุ๋ยก็จะหยุดลงและทุกอย่างในบริเวณนั้นก็จะตายลง

ความพยายามที่ไร้ผลนี้ได้ทำลายแหล่งทรัพยากรน้ำบนผิวดินและน้ำบาดาลร่วมด้วยระบบนิเวศที่เป็นที่พึ่งพิงของบรรดาสัตว์ป่าอย่างสมบูรณ์ การสังเกตการณ์ของริคนั้นได้รับการยืนยันสนับสนุนจากรายงานขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US EPA)เมื่อปี 2546 รายงานนี้กล่าวไว้ว่า “การใช้ผลประโยชน์จากผืนดินด้วยวิธีนี้จะใช้เวลามากกว่าวิธีการแบบเก่าเพื่อฟื้นคืนป่าให้อยู่ในสภาพก่อนการทำเหมือง” หรืออย่างที่ริคกล่าวไว้ “จะไม่มีต้นไม้ในพื้นที่นี้อีกแล้ว”

ในปี 2546 บริษัทเหมืองถ่านหินที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบ้านของริคได้ทำลายลำธารทั้งสาย  จากที่ริคกล่าวไว้ น้ำในลำคลองนั้นกลายเป็นสีเหลือง เขายังอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปอีกว่า:

“ลำธารแห่งนั้นไม่มีปลาอยู่เลย เมื่อคุณฆ่าสิ่งที่คุณมองไม่เห็นในคลองนั่นลง ซาลาแมนเดอร์ก็อยู่ไม่ได้ กุ้งก็อยู่ไม่ได้ ปลาก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นแล้วแรคคูนที่จะลงมาจับปลาและกุ้งกินล่ะ มันก็ไม่มีให้กิน หากคุณทำลายแหล่งน้ำ คุณจะทำลายระบบห่วงโซ่อาหารของพวกมันลง”

เหตุการณ์นี้ถูกกล่าวว่าเป็นเพียงอุบัติเหตุ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เหตุบังเอิญเลยที่บริษัทเหมืองถ่านหินได้ทำการสูบเอาน้ำจากเหมืองใต้ดินที่ถูกทิ้งร้างไว้อย่างผิดกฏหมายโดยไม่มีการสร้างบ่อเก็บกักเก็บน้ำเอาไว้ก่อน “อุบัติเหตุ” เช่นนี้เกิดขึ้นมาเป็นสิบปีแล้ว การทำลายสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาก่อขึ้นในเขตฟอล์ยเคาน์ตี้สามารถพบได้ในทั่วภูมิภาค

สถานการณ์และแนวโน้มในอนาคต

ตราบใดที่การทำเหมืองแบบย้ายยอดเขา (Mountain Top Removal :MTR) ยังคงดำเนินต่อไป และตราบเท่าที่ทางบริษัทเหมืองถ่านหินยังคงเห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่าสุขภาพของผืนดินและผู้คน สถานการณ์และแนวโน้มในอนาคตของทุ่งถ่านหินรัฐเคนทักกี้ตะวันออกและตอนกลางของเทือกเขาแอปปาลาเชียนนั้นก็สิ้นหวัง ด้วยราคาของถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้น

ความเร่งรีบในการทำเหมือง “ถ่านหินราคาถูก” โดยวิธีการ MTR ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกก็คืออาการเจ็บป่วยของผู้คนที่ทรุดหนักลง น้ำที่ถูกปนเปื้อน ระบบนิเวศที่แย่ลง ซึ่งเป็นราคาที่ทางบริษัทเหมืองคิดว่าเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากพวกเขา ผู้ที่ต้องจ่ายคือผู้อยู่อาศัยในเขตทุ่งถ่านหินและผู้ที่อาศัยอยู่ปลายลำธาร นี่เป็นราคาที่พวกเขาไม่ควรต้องจ่ายเลยด้วยซ้ำ

—————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี