ลึกเข้าไปในหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งนำเชื้อเพลิงจากเหมืองถ่านหินแบบเปิดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ขณะนี้โรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 13 หน่วย มีกำลังการผลิตรวมกันได้ราว 2,625 เมกะวัตต์ และยังพบสถิติของการเกิดมลภาวะและความตายของผู้คนมานับตั้งแต่การเปิดทำการโรงไฟฟ้าเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของความเสียหายถึงชีวิต

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปี 2535 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เปิดเครื่องโรงไฟฟ้า 11 หน่วยแรก ขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยไม่มีอุปกรณ์ควบคุมสารซัลเฟอร์ไดอ็อกไซด์ และทันทีที่เริ่มดำเนินการ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกสู่อากาศครอบคลุมแอ่งแม่เมาะ และผสมรวมเข้ากับอากาศและน้ำจนก่อให้เกิดฝนกรดที่มีพิษร้ายแรง น้ำฝนดังกล่าวมีส่วนประกอบของซัลเฟตสูงกว่าที่มาตรฐานสากลยอมรับถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

ภายในไม่กี่วัน ผู้คนมากกว่าพันคนจาก 40 หมู่บ้านในรัศมีเจ็ดกิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เริ่มป่วยจากการสูดเอาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าไปซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจ คลื่นไส้ วิงเวียน และเกิดอาการตาและโพรงจมูกอักเสบ นอกจากนี้ภายในเวลาเพียงสองเดือน ไร่นาในละแวกใกล้เคียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะมากกว่าร้อยละ 50 ก็ได้รับเสียหายจากฝนกรด สัตว์ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ก็เริ่มล้มตาย และยังพบว่ามีผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากปัญหาทางเดินหายใจไม่น้อยกว่า 42,000 คน

หลังจากเปิดตัวด้วยความหายนะแล้ว โรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะก็ได้ติดตั้งอุปกรณ์ลดกำมะถันในถ่านหิน(Desulphurisation Devices) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังคงดำเนินการโรงไฟฟ้าฯ อย่างต่อเนื่องทั้งที่อุปกรณ์บางตัวไม่ได้เปิดใช้หรือปิดเพื่อซ่อมบำรุง ผลลัพธ์ก็คือปัญหามลพิษกลับมาใหม่อีกครั้งในปี 2539 ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตจากภาวะโลหิตเป็นพิษในแอ่งแม่เมาะถึงหกราย

หายนะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2541 เมื่อเกิดมลพิษร้ายแรงจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้น มลพิษทำลายพืชผลเรือกสวนไร่นา เพียงชั่วข้ามคืนส่งผลให้ผู้คนเป็นร้อยล้มป่วยลง มีผู้ป่วยเข้าไปรับการตรวจรักษาที่คลินิกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมากกว่า 8,200 คนในช่วงหกเดือนแรกของปี และมีมากกว่า 3,500 คนที่ต้องป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ

มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นหรือไม่

โรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะอ้างว่าพวกเขาได้จัดการกับปัญหาแล้ว เมื่อถามถึงประเด็นนั้น หัวหน้าวิศวกร คุณพลฤทธิ์ เศรษฐ์กำเนิด ชี้ไปที่ไฟกระพริบสีแดงบนแผนที่ตรงหน้าเขาและกล่าวว่า “ทั้งหมดแสดงค่าเป็นศูนย์ คุณจะสามารถเห็นได้ว่าเราไม่มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศอีกต่อไปแล้ว”

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ความจริง อย่างแรกเลยทางโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะยังคงพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามากถึง 7 ตันทุกชั่วโมง จากผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยห้องปฏิบัติการวิจัยของกรีนพีซในปี 2543 ยังแสดงให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยเถ้าลอยออกมาถึง 4 ล้านตัน และปล่อยสารปรอทออกมามากถึง 39 ตันทุกปี ตัวอย่างของเถ้าลอยที่เก็บมาจากโรงไฟฟ้ามีส่วนผสมของสารหนูและสารปรอทเข้มข้นที่สูงถึง 14 เท่ามากกว่าที่พบในดินปรกติที่ปราศจากการปนเปื้อน ในปี 2546 สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมตรวจพบโลหะหนักมีพิษที่มีอันตรายระดับร้ายแรงในแหล่งน้ำเกือบทั้งหมดที่อยู่โดยรอบของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน

ประสบการณ์ตรงจากแม่เมาะ

เพียงแค่คุณเดินทางไปที่หมู่บ้านและโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง คุณจะเห็นถึงความเสียหายที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อขึ้น ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ลุงศรีบุตร วงค์ชนะ(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ขายข้าวของของตนไปจนหมดแม้กระทั่งบ้านส่วนหนึ่งของเขาไปด้วยเพื่อเอาเงินไปจ่ายค่ารักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันของเขา ทุกชั่วโมงเขาต้องใช้เครื่องพ่นยาขยายหลอดลมเพื่อช่วยอาการหอบหืด เมื่อเปิดดูอัลบั้มภาพเขาก็พลิกดูรูปของเพื่อนและเพื่อนบ้านที่ป่วยหรือไม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว

โรงพยาบาลท้องถิ่นในอำเภอแม่เมาะ มีผู้สูงอายุอยู่อีกหลายคนที่นอนต่อท่ออ็อกซิเจน เมื่อถามความเห็นเรื่องความเชื่องโยงระหว่างปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นและโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะกับนายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เขาแค่ยิ้มและตอบว่า “คุณจะถ่ายรูปในหอผู้ป่วยนี้ไปก็ได้ถ้าต้องการ แต่ผมไม่มีอำนาจที่จะตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้”

จากการประเมินชี้ว่าชาวบ้านกว่า 300 คนต้องเสียชีวิตจากผลกระทบโดยตรงของมลพิษจากโรงไฟฟ้า และมีอีกนับพันคนที่ต้องทุกข์ทรมานจากปัญหาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2543 สรุปว่า แม้จะมีอุปกรณ์ควบคุมซัลเฟอร์อยู่ก็ตามแต่ผู้คนที่อาศัยใกล้กับแม่เมาะก็ยังคงมีความเสี่ยงมากกว่าปกติถึงสามเท่าที่จะเจ็บป่วยจากอาการไอเรื้อรัง นับถึงวันนี้ ผู้คนมากกว่า 30,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานและผู้ที่ยังคงพำนักอยู่ในพื้นที่ต้องเผชิญกับฝนกรดบนเรือกสวนไร่นาของพวกเขา

สถานการณ์โดยรวม

หลายปีที่ผ่านมา ชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะได้ยื่นฟ้องต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยอ้างถึงความเสียหายตั้งแต่ปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรม ความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจ เรียกร้องเงินชดเชยสำหรับค่ารักษาพยาบาลและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับไร่นาและที่ดิน

ในปี 2547 ศาลจังหวัดของไทยมีคำสั่งให้ชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านเป็นจำนวน 5.7 ล้านบาท (142,500 เหรียญสหรัฐ) สำหรับความเสียหายของไร่นาที่เกิดจากสารซัลเฟอร์ที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้า นี้เป็นเพียงชัยชนะเล็กๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนของผู้คนที่ได้รับผลกระทบซึ่งหลายคนในจำนวนนั้นไม่มีแม้แต่เงินที่จะมารักษาพยาบาลตัวเอง

ชาวบ้านได้ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในปี 2543 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสัญญาจะมอบเงินจำนวน 300 ล้านบาท (87,100 เหรียญสหรัฐ) ต่อปีเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยเพราะสารพิษจากโรงไฟฟ้า ทว่าสองปีต่อมาชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว มีแต่เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่ารัฐบาลจะทำตามที่ได้สัญญาไว้หรือไม่

หลังจากต่อสู้มานานนับสิบปี การประท้วงและความทุกข์ทรมานนับครั้งไม่ถ้วน เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะก็นำมาซึ่งชัยชนะเล็กๆ ในรูปของพื้นที่อพยพราว 200 ไร่ (34 เฮกตาร์) และได้เงินค่าชดเชยในการย้ายถิ่นฐานให้แก่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ปัจจุบันเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะกำลังวางแผนที่จะสร้างนิเวศชุมชน(Eco-community)ในพื้นที่อพยพซึ่งห่างไกลออกไปเพื่อให้ชาวบ้านไปสร้างชีวิตใหม่ที่นั่น

ได้แต่หวังว่าการย้ายออกจากใต้เงาทะมึนของแม่เมาะจะช่วยให้ชาวบ้านฟื้นฟูสุขภาพและรักษาขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับโรงไฟฟ้าต่อไป

—————-

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี