ในสหรัฐอเมริกา มลพิษทางอากาศพรากชีวิตผู้คน 30,000 คนในแต่ละปี จากการศึกษาในปี 2544 พบว่าผู้คนใน 14 เมืองจาก 20 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย สูดอากาศเอามลพิษที่ทางรัฐบาลเห็นว่า “อันตราย” เข้าไป ในจีน โรคปอด (Pulmonary Disease) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ใหญ่เป็นอันดับสอง ร้อยละ 13.9 จากทั้งหมด

ไม่น่าแปลกใจเลยว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเหล่านั้นขึ้นก็คือถ่านหินหรืออนุภาคขนาดเล็กที่มาจากการเผาไหม้ถ่านหิน มลพิษทางอากาศ หรือเรียกได้อีกอย่างว่าฝุ่นละอองหรือเขม่า เป็นหนึ่งในผลผลิตอันตรายที่ได้จากการเผาไหม้ถ่านหิน

ฝุ่นละอองหรือเขม่าซึ่งปล่อยออกมาโดยตรงจากปล่องควันอุตสาหกรรมหรือปล่อยออกมาทางอ้อมโดยการทำปฏิกิริยาของสารพิษ อาทิ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับอากาศ อนุภาคนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมของคนถึง 40 เท่า และยังมีส่วนประกอบของซัลเฟต ไนเตรท แอมโมเนียม โซเดียมคลอไรด์ คาร์บอน และผงแร่

ฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นอันตรายมากเป็นพิเศษเนื่องจากอนุภาคที่เล็กที่สุดนั้นสามารถถูกสูดลึกเข้าไปในปอดได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะผ่านเข้าไปสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย ฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยเป็นต้นเหตุของจำนวนที่มากขึ้นของอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ยิ่งไปกว่านั้นฝุ่นละอองขนาดเล็กยังสร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน นอกจากสร้างปัญหาหมอกควันและวิสัยทัศน์แล้วยังมีสารพิษที่ฝุ่นละอองเหล่านั้นสามารถทำให้ดินสูญเสียธาตุ ทำให้น้ำเกิดการปนเปื้อน และยังสร้างความเสียหายให้แก่ป่าและพืชผลอีกด้วย

————–

จาก ต้นทุนจริงของถ่านหิน : ผู้คนและโลกต้องจ่ายให้กับเชืิ้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในโลกอย่างไร

จัดพิมพ์ภาษาไทยโดยกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะผู้เขียน: ดร.อีเรก้า เจอร์บาย, มาไรกา บริทเทน, ไอริช เชง, มาร์ธา คาเมียสกา, เออร์เนส มีแซค, วิคเตอร์ มุนนิค, จายาชรี นานดี, ซารา เพนนิงตัน, เอมิลี โรชอน, นีนา ชลูลซ์, นาฮิญา ชาฮับ, จูเลียน วินเซนต์และเมง ไว เรียบเรียงโดย: รีเบคกา ชอต แอนด์เดอะไรเตอร์

บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงภาคภาษาไทย : ธารา บัวคำศรี