อีกครั้งหนึ่งที่นิตยสารไทม์รวมนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าเข้าไปในรายชื่อของบุคคลที่ทรงอิทธิพลหนึ่งร้อยคนของโลกในปีนี้ เป็นครั้งที่สี่ที่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยท่านนี้มีชื่อจัดอยู่ในอันดับต้นของโลก โดยที่นิตยสารไทม์ได้วางแผงแล้วในสัปดาห์นี้ (18 เมษายน)
นิตยสารไทม์ซึ่งจัดนางอองซานซูจีให้อยู่ในรายชื่อ 100 อันดับได้มีขึ้นในปี 2004, 2008 และ 2011 ได้ยกย่องเธอในฐานะผู้นำฝ่ายค้านที่มีเจตจำนงอันยาวนานเพื่อปฏิรูปประเทศของเธอให้เปิดกว้างขึ้นหลังจากเกือบครึ่งศตวรรษของการปกครองโดยเผด็จการทหาร
Madeleine Albright อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหนึ่งในผู้เขียนบทความในนิตยสารไทม์เขียนว่า “ซูจีคือผู้นำทางการเมืองกับการตัดสินใจภายใต้สภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เปราะบาง ความกล้าหาญของเธอในการยืนหยัดขัดขืนและมีชัยเหนือการกดขี่บังคับได้มอบความหวังให้กับผู้คนทั้งหลายผู้รักเสรีภาพ”
อองซานซูจี นักกิจกรรมที่ผันมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ได้รับการโหวตร้อยละ 61 ในการลงคะแนนเสียงออนไลน์ซึ่งปิดการโหวตเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 เมษายน) คะแนนโหวตออนไลน์ของอองซานซูจีสูสีกับเลดี้กากา และมีคะแนนมากกว่าลาร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล มิเชล โอบามา และโอปาร์ วินฟรีย์ เพื่อเข้ารอบสุดท้าย
ชัยชนะของการโหวตบนโลกออนไลน์ของอองซานซูจีเกิดขึ้นได้ถึงแม้ว่าการเข้าถึงอินเตอร์เนตในประเทศพม่ายังต่ำอยู่มาก เพียงร้อย 1 ของประชากร 60 ล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เนตได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดให้โหวตซ้ำหลายครั้งได้ก็เป้นปัจจัยสำคัญ ชาวเนตในพม่าและในต่างแดนโหวตให้อองซานซูจีโดยคลิกที่ภาพของเธอ แสดงถึงความนิยมชมชอบในตัวของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและช่วยกันดันให้ประเทศพม่าเป็นจุดสนใจของประชาคมโลก
Oakkar Ko Ko ผู้โหวตให้อองซานซูจีบอกว่า เขากดเมาท์คลิกบนเว็บไชต์ของนิตยสารไทม์ไปมากกว่า 30 ครั้ง เขาต้องทำเพราะว่าเลดี้กากามีแฟนนับล้าน ในขณะที่มีคนใช้อินเตอร์เนตบนมือถือราว 200,000 รายทั้งประเทศพม่า
เลดี้กากามีคนติดตามผ่านทวิตเตอร์ 35 ล้านคน และแฟนที่ติดตามเธอทางเวบไซต์อีกนับพัน คนสนับสนุนเลดี้กากาประหลาดใจกับผลการโหวต หลายคนทิ้งข้อความไว้บนเวบว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินชื่ออองซานซูจีมาก่อน
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเนตในพม่าแสดงพลังโหวตออนไลน์นับตั้งแต่การเมืองของประเทศได้เปิดกว้างขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 และมีการยกเลิกการเซนเซอร์ทางอินเตอร์เนต
ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เมื่อนางสาวพม่า Nang Khin Zay Yar เป็นครั้งแรกในรอบห้าสิบปีได้ได้ออกเวทีประกวดสาวงามนานาชาติที่ญี่ปุ่น เธอชนะรางวัล the People’s Choice และ Internet Award เพราะว่าแฟนบนโลกออนไลน์ของเธอ
ผู้สนับสนุนนางอองซานซูจีทำการโหวตเป็นเวลาสองวัน บางคนแชร์ข้อความบนเฟซบุคอ้างว่าไม่ได้ห่างจากคอมพิวเตอร์เลยในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ยอมแม้กระทั่งนอนเพื่อที่จะได้ทำการโหวตอย่างต่อเนื่อง
แม้กระทั่ง Ye Htut รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสารสนเทศแห่งเมียนมาร์ กล่าวว่า เขาโหวตให้ซูจีหลายครั้งบนเฟซบุคของเขาซึ่งทำให้มีคนติดตามออนไลน์ถึง 28,000 คน
ในขณะที่อีกหลายคนนั้นโหวตไม่กี่ครั้งและคาดหวังการสนับสนุนที่กว้างขวางออกไป Han Htet ชาวย่างกุ้งอายุ 27 ปี กล่าวว่า “มันเป็นชัยชนะที่เป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ฉันโหวตเพียงสองครั้ง”
Ye Myat Thu นักคอมพิวเตอร์จากมัณฑะเลย์บอกว่า เขาดีใจที่นิตยสารไทม์เปิดให้โหวตหลายครั้ง ถ้าเป็นการโหวตครั้งเดียวต่อหนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะไม่ยุติธรรมกับคนในพม่า เพราะว่าเราแบ่งปันการเข้าถึงอินเตอร์เนตจากคอมพิวเตอร์ที่ร้านอินเตอร์เนต ในขณะเดียวกัน จะดีมากถ้าเราเห็นจำนวนคนที่โหวตแทนที่จะเป็นจำนวนการโหวต
ธารา บัวคำศรี แปลและเรียบเรียงจาก The Irrawaddy Magazine