โรงเผาขยะส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบและทดสอบในประเทศอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้จึงไม่เหมาะกับขยะในประเทศกำลังพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น ประเภทของวัสดุที่ส่งเข้าโรงเผาขยะจะต้องมีลักษณะเป็นเชื้อเพลิงระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้การเผาไหม้เป็นไปอย่าง “เหมาะสม” ซึ่งแตกต่างจากขยะทั่วไปในประเทศโลกฝ่ายใต้

โดยทั่วไปขยะในประเทศกำลังพัฒนามักมีความหนาแน่นและความชื้นมากกว่าขยะในประเทศอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ความชื้นของขยะในมหานคร อย่างเช่น นิวยอร์ก อยู่ที่ประมาณร้อยละ 22 ในขณะที่มีผลการสำรวจพบว่าความชื้นในขยะของสิงคโปร์เท่ากับร้อยละ 40 กรุงเทพฯ ร้อยละ 49 และบันดุง อินโดนีเซียร้อยละ 80

ตารางด้านล่างแสดงข้อมูลเกี่ยวกับความชื้นของขยะที่สูงในบางเมืองในเอเชีย ขยะในประเทศกำลังพัฒนาอาจมีวัสดุที่ไม่ติดไฟมาก อย่างเช่น ขี้เถ้าและขี้ผง ซึ่งไม่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ ความชื้นของขยะที่สูงเนื่องจากเปียกเกินไปทำให้การเผาอย่างต่อเนื่องไม่สามารถทำได้ หรือต้องใส่เชื้อเพลิงอย่างอื่นเข้าไปในเตาเผา โรงเผาขยะแห่งที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย สามารถเดินเครื่องได้แค่สองในสามของกำลังผลิต ทั้งนี้เพราะต้องมีการนำขยะมาตากแห้งที่โรงงานเป็นเวลาห้าวันก่อนเผา

โรงเผาขยะแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียต้องปิดลงไปภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจากสร้างเสร็จในปี 1986 เพราะขยะจากชุมชนแถวนั้นเปียกเกินกว่าจะเผาได้ โรงงานแห่งนั้นใช้เงินลงทุนมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการก่อสร้าง

ระดับความชื้นของขยะในเมืองในเอเชีย

  ระดับความชื้นในขยะ (%)
ประเทศที่มีรายได้น้อย  
ชงจิง จีน 42.5
ต้าเหลียน จีน 49.7
ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง  
กรุงเทพฯ ไทย 49.1
เทศบาลชลบุรี ไทย 56.3
เทศบาลระยอง ไทย 46.7
กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ 45.0

ที่มา Daniel Hoornweg, “What a Waste: Solid Waste Management in Asia,” The World Bank, Washington, D.C., พฤษภาคม 1999