“ในศตวรรษแห่งความก้าวหน้า ประกอบกับความรู้ด้านเคมีและเครื่องจักรกลที่สมบูรณ์มากมาย ผมเห็นว่ามันเหมือนการถอยหลังเข้าคลองสำหรับผู้ที่เสนอให้ทำลายวัสดุ (ที่เป็นอินทรีย์) ซึ่งมีคุณค่ามากที่สุด เพียงเพื่อกำจัดมันไป ขณะเดียวกันเราต้องไปหาซื้อวัสดุแบบเดียวกัน (ปุ๋ยอินทรีย์) จากที่อื่น ๆ มาใช้ในไร่นาของเรา”
Bruno Terne นักเคมี พูด ณ สถาบันแฟรงกิ้นส์ เมืองฟิลลาเดลเฟียในปี 1893 เพื่อต่อต้านการเผาปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งทำให้เราต้องไปขุดและขนส่งปุ๋ยจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่ง (ที่มา [Bruno Terne], “The Utilization of Garbage,” American Architect and Building News (Sept. 23,1893), หน้า 185-86, as cited by Susan Strasser, Waste and Want: A Social History of Trash (Metropolitan Books, Henry Holt and Co, LLC: NY, 1999) หน้า 133-134.)
————
การเผาขยะเป็นวิธีการเก่าแก่ที่มนุษย์ทำกันมาตั้งแต่หลังจากค้นพบไฟใหม่ ๆ แต่การเผากากของเสียในยุคใหม่เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1874 เมื่อมีการออกแบบเตาเผา “The Destructor” ในเมืองน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงเผาขยะอย่างเป็นระบบแห่งแรกของโลก
สหรัฐอเมริกานำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในปี 1885 โดยก่อสร้างโรงเผาขยะขึ้นในเกาะโกเวอร์เนอร์ รัฐนิวยอร์ก ภายในเวลา 25 ปี ชาวอเมริกันสร้างโรงเผาขยะมากกว่า 180 แห่ง ในปี 1905 เทศบาลกรุงนิวยอร์กได้ปรับปรุงโรงเผาขยะแบบเดิมให้สามารถส่งผ่านความร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างกับสะพานวิลเลียมเบิร์ก แต่ตอนนั้นกระแสโรงเผาขยะเริ่มเสื่อมลงแล้ว ภายในปี 1909 โรงเผาขยะ 102 แห่งที่สร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกานับแต่ปี 1885 ได้ถูกทิ้งร้างหรือถูกทำลายไป ที่ดินสำหรับทำหลุมทิ้งขยะและองค์ประกอบของการเผาขยะที่ทำให้เกิดขี้เถ้าจำนวนมาก (เนื่องจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเมือง และเป็นเหตุให้หลาย ๆ เมืองหันมาใช้วิธีกลบฝังขยะซึ่งถูกกว่าและเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติมากกว่า จากแหล่งกลบฝังขยะได้พัฒนาขึ้นเป็น “หลุมฝังกลบแบบสุขาภิบาล” ซึ่งเป็นวิธีกำจัดขยะส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
โรงเผาขยะเฟื่องฟูขึ้นมาอีกในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อเกิดวิกฤตพลังงานในสหรัฐอเมริกา โดยปรากฏในชื่อใหม่ว่า “โรงงานเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน” และมีการโฆษณาชวนเชื่อมากมายว่า โรงเผาขยะจะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ให้ประโยชน์ทั้งสองด้าน กล่าวคือทำให้ขยะ “หายไป” พร้อม ๆ กับผลิตความร้อนและ/หรือไฟฟ้า
โรงเผาขยะในยุโรปยุคแรก ๆ สร้างตามเทคโนโลยีในอังกฤษ จนประมาณช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการก่อสร้างโรงเผาขยะขึ้นทั่วทั้งภาคพื้นทวีปยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนีและมหานคร อย่างเช่น บรัสเซล สตอคโฮมและซูริค กระแสก่อสร้างโรงเผาขยะใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกในทศวรรษ 1960 และ 1970 เพื่อแก้ปัญหาของเสียที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากบริโภคนิยมและการบริโภควัสดุแบบใช้แล้วทิ้ง
จนถึงช่วงทศวรรษ 1980 กระแสการเผาขยะในประเทศอุตสาหกรรมเริ่มลดลง อันเป็นผลมาจากความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต้นทุนทางเศรษฐกิจของการเผาขยะ ประชาชนและองค์กรด้านสุขภาพและองค์กรด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อม เริ่มต่อต้านโรงเผาขยะอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศได้นำมาตรการควบคุมการเผาขยะอย่างเข้มงวดมาใช้ ในระหว่างปี 1985-1994 โครงการก่อสร้างโรงเผาขยะอย่างน้อย 280 โครงการในสหรัฐอเมริกาต้องล้มเลิกไป
เมืองต่าง ๆ ในยุโรปก็ล้มเลิกโครงการที่จะก่อสร้างโรงเผาขยะ
นอกจากนั้นมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ยังเป็นเหตุให้โรงเผาขยะที่มีอยู่หลายแห่งต้องปิดลงไป ตัวอย่างเช่น กรอบแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปชุดใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในปี 1996 ส่งผลให้โรงเผาขยะ 23 จาก 28 แห่งในอังกฤษต้องปิดลง เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการวางแผนจะปิดโรงเผาขยะ 509 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้หลังจากมีการนำมาตรฐานควบคุมการปลดปล่อยได อ็อกซีนที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้ในปี 2002 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1998 ถึงพฤษภาคม 2002 โรงเผาขยะในญี่ปุ่น 170 แห่งถูกยกเลิกใช้งาน เพราะไม่ผ่านมาตรฐานที่นำมาใช้ใหม่ และภายในปี 2002 จะมีการปิดโรงเผาขยะอีก 339 แห่ง
คำตัดสินของศาลหลายชิ้นยังสั่งห้ามการเผาขยะหรือการก่อสร้างโรงเผาขยะแห่งใหม่ ฟิลิปปินส์อาจเป็นประเทศเดียวที่มีกฎหมายห้ามก่อสร้างโรงเผาขยะในระดับประเทศ
เมื่อต้องเผชิญกับแรงต่อต้านในสหรัฐอเมริกา แคนาดาและยุโรป อุตสาหกรรมเผาขยะจึงต้องแสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เพื่อจะขายสินค้าที่ทำให้เกิดสารพิษและราคาแพง บริษัท Indaver ซึ่งเป็นบริษัทโรงเผาขยะของเบลเยียม ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงเผาขยะขนาดใหญ่ในเขตปกครองที่ประชาชนพูดภาษาเฟลมมิชในเบลเยียม และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นแทน เช่น การใช้บัคเตรีเพื่อหมักปุ๋ยซึ่งทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทดังกล่าวยังคงพยายามที่จะขายเทคโนโลยีเผาขยะขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมนอกเบลเยียม
ในปัจจุบันมีการเสนอโครงการโรงเผาขยะหลายสิบแห่งในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม หลายบริษัทพยายามผลักดันที่จะก่อสร้างโรงเผาขยะเหล่านี้ได้แก่ Onyx ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Vivendi Environnement จากฝรั่งเศส Energy Developments Ltd (EDL) จากออสเตรเลีย Indaver จากเบลเยียม Olivine จากสหรัฐอเมริกา Ogden Martin จากสหรัฐอเมริกา และ Wheelabrator จากสหรัฐอเมริกา
คำตัดสิน |
ปี |
รายละเอียด |
สหรัฐอเมริกา | ||
เวอร์จิเนียตะวันตก | 1993 | พระราชบัญญัติเวอร์จิเนียตะวันตก (H.B.2445) “กฎหมายไม่อนุญาตให้ติดตั้ง จัดทำ หรือก่อสร้างโรงกำจัดขยะเทศบาลหรือการจัดทำในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโรงเผาขยะที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเผาขยะ” |
โรดไอส์แลนด์ | 1992 | รัฐโรดไอส์แลนด์ห้ามการเผาขยะจนทำให้รัฐแห่งนี้สามารถนำกากของเสียนำมาใช้ใหม่ได้มากถึงร้อยละ 70 พระราชบัญญัติวุฒิสภาแห่งรัฐโรดไอส์แลนด์ หมายเลข 92-S 2502 ระบุว่า “…การเผาขยะเป็นวิธีกำจัดขยะที่แพงที่สุด และมีต้นทุนทั้งที่รู้และไม่รู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดภาระด้านงบประมาณของรัฐและเทศบาลอย่างมหาศาลและไม่สมเหตุผล จนทำให้กระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างร้ายแรง” |
เดลาแวร์ | 1998 | พระราชบัญญัติ SBS 98 ซึ่งห้ามการเผาขยะในเขต “ชายฝั่ง” ของรัฐเดลาแวร์ |
แมสซาจูเสต | 1992 | ออกกฎหมายห้ามการก่อสร้างหรือขยายโรงเผาขยะใหม่ ๆ เป็นการชั่วคราว |
หลุยเซียน่า | 2000 | รัฐหลุยเซียน่าได้แก้ไขกฎหมาย Title 33 ซึ่งระบุว่า “…ไม่อนุญาตให้เทศบาลใดซึ่งมีประชากรมากกว่า 500,000 คน เดินเครื่องโรงกำจัดขยะหรือโรงเผาขยะซึ่งเทศบาลเป็นเจ้าของ ดำเนินการ หรือเหมาช่วงในพื้นที่เทศบาล ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยและประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” |
เมืองอลาเมดา รัฐแคลิฟอร์เนีย | 1990 | เทศบัญญัติเพื่อลดและนำกากของเสียกลับมาใช้ใหม่แห่งเมืองอลาเมดาปี 1990 ระบุว่า “โรงเผาขยะเป็นทางเลือกของการลดและนำกากของเสียกลับมาใช้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด โรงเผาขยะเหล่านั้นทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติซึ่งควรจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากขึ้น ทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลง และทำให้เกิดวัตถุมีพิษ” เป้าหมายประการหนึ่งของเทศบัญญัตินี้คือ “ห้ามการเผาขยะภายในเขตเมืองอลาเมดา” |
เมืองแอนอรุนเดล รัฐแมรีแลนด์ | 2001 | สภาเทศบาลได้ผ่านเทศบัญญัติหมายเลข 40-01 ห้ามก่อตั้งโรงเผาขยะทั่วไปและโรงเผาขยะทางการแพทย์ในเขตเทศบาล |
เทศบาลนครเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย | 1982 | ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีมติให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อห้ามก่อสร้างโรงเผาขยะเป็นเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ พ.ย.1982-ธ.ค.1987) ข้อเสนอดังกล่าวระบุไว้ว่า “เทศบาลนครเบิร์กลีย์จะไม่ก่อสร้างเป็นเจ้าของ หรือดำเนินการโรงเผาขยะภายในเขตเทศบาลนครเบิร์กลีย์ เทศบาลนครเบิร์กลีย์จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างหรือดำเนินการโรงเผาขยะในเขตเทศบาลนครเบิร์กลีย์” ข้อห้ามชั่วคราวดังกล่าวอนุญาตให้เทศบาลพัฒนาโครงการรีไซเคิล (ซึ่งกลายเป็นแม่แบบของโครงการในทำนองเดียวกันทั่วประเทศ) ยังไม่เคยมีการก่อสร้างโรงเผาขยะแม้แต่แห่งเดียวในเมืองเบิร์กลีย์ |
เทศบาลนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ | 2000 | เทศบาลได้ผ่านเทศบัญญัติเพื่อแก้ไขเทศบัญญัตินครชิคาโก เทศบัญญัติฉบับแก้ไขระบุว่า “กฎหมายไม่อนุญาตให้ติดตั้งหรือสร้างโรงเผาขยะเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาลนครชิคาโก หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2000 เป็นต้นไป และเริ่มจากวันที่ 1 สิงหาคม 2000 โรงเผาขยะในเขตเทศบาลนครชิคาโกจะต้องหยุดดำเนินการ และการเผาขยะในเขตเทศบาลจะถูกห้ามอย่างเข้มงวด เว้นแต่จะมีกฎหมายจากรัฐและรัฐบาลกลางมารองรับ |
เทศบาลนครซานดิอาโก รัฐแคลิฟอร์เนีย | 1987 | เทศบัญญัติของเมืองห้ามก่อสร้างโรงกำจัดขยะในพื้นที่ที่มีโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ส่งผลให้ไม่มีที่ดินใดที่เหมาะกับการก่อสร้างโรงเผาขยะได้ |
แคนาดา
(แคว้นออนตาริโอ) |
1992 | ในปี 1992 รัฐบาลแห่งแคว้นออนตาริโอ ห้ามการก่อสร้างโรงเผาขยะเพิ่มเติมในเขตเทศบาล ในปี 1996 รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้ยกเลิกคำสั่งห้าม ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเปิดเสรีการค้า แต่อุตสาหกรรมรีไซเคิลในออนตาริโอได้ล็อบบี้จนสามารถรักษาคำสั่งห้ามนั้นไว้ได้ |
กรีซ | 1994 | ในเดือนตุลาคม 1994 ประเทศกรีซผ่านกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรที่หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่และการผลิตพลังงานโดยภาคเอกชน กฎหมายฉบับนี้ห้ามการเผากากของเสียอันตรายในโรงงาน “ผลิตขยะให้เป็นพลังงาน” พร้อมกันนั้นห้ามการเผาเชื้อเพลิงแข็ง (ยกเว้นเชื้อเพลิงชีวภาพ) ในโรงผลิตไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ” |
บราซิล (เทศบาลเมืองเดียเดอมา)
รัฐเซาเปาโล |
1995 | เมืองเดียเดอมาผ่านกฎหมายห้ามก่อสร้างโรงเผาขยะในเขตเทศบาล สภาเทศบาลระบุว่าควรแก้ปัญหากากของเสียด้วยนโยบายลด ใช้ใหม่และรีไซเคิล |
ฟิลิปปินส์ | 1999 | พระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ห้ามการเผาขยะใด ๆ ทั้งสิ้น |
เบลเยียม | 1990/
1997/ 2000 |
ประชาชนในเขตที่พูดภาษาเฟลมมิชของเบลเยียมได้เรียกร้องจนมีข้อห้ามชั่วคราวมิให้ก่อสร้างโรงเผาขยะเพิ่มเติมในเขตเทศบาลภายในเวลา 5 ปี (เมื่อปี 1990) ในปี 1997 รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเฟลมมิซ ประกาศคำสั่งชั่วคราวเพื่อห้ามการก่อสร้างโรงเผาขยะใหม่ ๆ และในวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 เขตของประชากรที่พูดภาษาเฟลมมิซ (Flanders) กำหนดนโยบายห้ามการเผาขยะที่ไม่ได้คัดแยก |
อินเดีย | 2000 | อินเดียมีคำสั่งห้ามการเผาขยะในเขตเมืองบางส่วน Schedule IV, Emissions Standards ของเทศบัญญัติขยะปี 2000 ระบุว่า “ไม่อนุญาตให้มีการเผาพลาสติกที่มีส่วนผสมของคลอรีน” |
ที่มา Institute for Local Self-Reliance, Washington, DC, 2004; Marcia Carroll, Multinationals Resource Center, Washington, DC, สัมภาษณ์, ตุลาคม 2001; Kathy Evans, Ecology Center, Berkeley, California, สัมภาษณ์, ตุลาคม 2001; Anu Agarwal, Project Officer, Srishti, New Delhi, India, สัมภาษณ์, ตุลาคม 2001; Pawel Gluszynski, Waste Prevention Association, Krakow, Poland, สัมภาษณ์, ตุลาคม 2001; Bharati Chaturvedi and Ravi Agarwal, “No Fire Without Smoke,” Srishti, New Delhi, India, 1996; และ Fred De Baere, Belgian Platform Environment & Health, Nieuwkerken Was, Belgium, สัมภาษณ์, 21 ตุลาคม 2001.