ต้นทุนของการจัดการขยะอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เลือกใช้ ลักษณะของวัสดุที่ต้องการกำจัด ที่ดิน แรงงาน และต้นทุนพลังงาน และต้นทุนการเงิน แม้กระนั้นโรงเผาขยะมักเป็นทางเลือกที่แพงกว่าทางเลือกอื่น เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และทำให้เกิดต้นทุนการดำเนินงานสูง ยิ่งไปกว่านั้น โครงการโรงเผาขยะในประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้เงินตราสกุลต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล
ตามรายงานธนาคารโลกปี 2000 ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องสำหรับโรงเผาขยะมีจำนวนอย่างน้อยสองเท่าของต้นทุนที่ใช้ในการกลบฝังขยะ รายงานระบุว่า ต้นทุนสุทธิของการเผาขยะต่อตันจะตกอยู่ที่ 25-100 เหรียญสหรัฐ (ในปี 1998) หรือเฉลี่ยประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ ส่วนต้นทุนสุทธิของการกลบฝังขยะจะอยู่ประมาณ 10-40 เหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ (เช่น จำนวนของชั้นเมมเบรนและระดับของการกรองเพื่อบำบัด (leachate treatment))
ต้นทุนสุทธิของการบำบัดขยะคำนวณจากต้นทุนต่อปีบวกค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องลบด้วยรายได้จากพลังงาน สำหรับโรงเผาขยะ ต้นทุนของเงินที่ต้องชำระ(ดอกเบี้ย) เพื่อใช้คืนเงินลงทุนเบื้องต้นในแต่ละปี อาจมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนการบำบัดสุทธิทีเดียว
รายงานของธนาคารโลกสรุปว่า “…ต้นทุนการบำบัดสุทธิต่อตันของโรงเผาขยะมักมีจำนวนมากกว่าอย่างน้อยสองเท่าของต้นทุนสุทธิของการกลบฝังอย่างมีระบบ ในขณะเดียวกัน โครงการโรงเผาขยะมักทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความล้มเหลวทางเศรษฐกิจสูง…”
เงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะ
เงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะอาจมีมากเป็นหลายล้านเหรียญ เงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะเทศบาลขนาดใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม อาจมีจำนวนมากถึง 50-280 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกำจัดขยะของโรงงาน ซึ่งเมื่อคิดแจกแจงจะเห็นว่าเป็นต้นทุนมากถึง 136,000-270,000 เหรียญสหรัฐต่อความสามารถในการกำจัดขยะหนึ่งตันต่อวัน
ข้อมูลจากข้อเสนอโครงการโรงเผาขยะในที่อื่นอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าตัวเลขที่ธนาคารโลกเสนอไว้มากนัก ตาราง 4 ชี้ให้เห็นต้นทุนที่สูงของโรงเผาขยะบางแห่งที่ดำเนินการและมีการเสนอให้สร้างทั่วโลก เงินลงทุนเบื้องต้นอาจมีจำนวนมากถึง 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐต่อความสามารถในการกำจัดขยะหนึ่งตันต่อวัน แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วเช่นนั้น แต่โรงเผาขยะที่เสนอให้สร้างหรือเดินเครื่องอยู่ในประเทศโลกฝ่ายใต้ส่วนใหญ่ มักไม่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปตะวันตก ต้นทุนของโรงเผาขยะหลายแหล่งอาจเพิ่มเป็นสองเท่า หากมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษที่ทันสมัย
ในประเทศญี่ปุ่น ต้นทุนของโครงการโรงเผาขยะแห่งใหม่ในปีงบประมาณ 2000 คิดรวมกันทั้งหมดเป็นจำนวน 8 แสนล้านเยน (ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ต้นทุนเหล่านี้รวมไปถึงค่าใช้จ่ายของการก่อสร้างสาธารณูปการใหม่ ๆ และการปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการปล่อยก๊าซซึ่งมีอยู่เดิม
ระบบการจัดการขยะที่ต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้นสูง มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าระบบซึ่งมีเงินลงทุนเบื้องต้นต่ำกว่า เงินลงทุนเบื้องต้นเป็นต้นทุนจม เราไม่อาจลดต้นทุนจมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพหรือการออกแบบ เหมือนที่เราทำกับโครงการลดขยะโครงการใช้วัสดุใหม่ โครงการรีไซเคิล และโครงการหมักปุ๋ยได้
เงินลงทุนเบื้องต้นของโครงการโรงเผาขยะบางแห่งทั่วโลก
ที่ตั้ง |
สถานภาพ | กำลังการเผาขยะ (ตันต่อวัน) | เงินลงทุนเบื้องต้น | เงินลงทุนเบื้องต้น (เหรียญสหรัฐ) |
เงินลงทุนเบื้องต้น / กำลังการเผาขยะต่อตันต่อวัน (เหรียญสหรัฐ) |
ตงกวน จีน | ไม่ชัดเจน | 900 | 50 ล้านเหรียญสหรัฐ | 50 ล้าน | 55,600 |
เสินเจิ้น จีน | เดินเครื่อง | 300 | 1.2 พันล้านหยวน | 145 ล้าน | 483,300 |
เซี่ยงไฮ้ จีน | อนุมัติ | 1,500 | 86 ล้านเหรียญสหรัฐ | 86 ล้าน | 57,300 |
เชนไน อินเดีย | อนุมัติ | 600 | 2 พันล้านรูปี | 41 ล้าน | 68,100 |
Ringaskiddy ไอร์แลนด์ | กำลังนำเสนอ | 100 | 75 ล้านปอนด์ไอร์แลนด์ | 86.8 ล้าน | 868,000 |
โตเกียว ญี่ปุ่น | เดินเครื่อง | 400 | 700 ล้านเหรียญสหรัฐ | 700 ล้าน | 1,750,000 |
อิบารากิ ญี่ปุ่น | เดินเครื่อง | 180 | 1.8 หมื่นล้านเยน | 149.1 ล้าน | 828,300 |
ลูบลิน โปแลนด์ | กำลังนำเสนอ | ~375 | 30 ล้านเหรียญสหรัฐ | 30 ล้าน | 80,000 |
อีโซโป อัฟริกาใต้ | เดินเครื่อง | 10 | 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ | 60,000 | 6,000 |
กวางจู เกาหลีใต้ | ยังไม่เดินเครื่อง | 400 | 6 หมื่นล้านวอน | 46.8 ล้าน | 117,000 |
ซังจีดอง เกาหลีใต้ | เดินเครื่อง | 800 | 8 หมื่นล้านวอน | 62.5 ล้าน | 78,100 |
ปูซาน เกาหลีใต้ | กำลังนำเสนอ | 200 | 8.5 หมื่นล้านวอน | 66.4 ล้าน | 332,000 |
ซูวอน เกาหลีใต้
จุงลี่ ไต้หวัน |
เดินเครื่อง
อนุมัติ |
600
1,350 |
9 หมื่นล้านวอน
4.6 พันล้านเหรียญไต้หวัน |
70.3 ล้าน
133 ล้าน |
117,200
98,500 |
เกาเสียง ไต้หวัน | ดำเนินการ | 1,800 | 6.9 พันล้านเหรียญไต้หวัน | 199.5 ล้าน | 110,800 |
เกาเสียง ไต้หวัน | ดำเนินการ | 900 | 3-4 พันล้านเหรียญไต้หวัน | 101.2 ล้าน | 112,400 |
ไถ้หนานตะวันตก ไต้หวัน | ดำเนินการ | 900 | 3.8 พันล้านเหรียญไต้หวัน | 109.9 ล้าน | 122,100 |
เกาะภูเก็ต ไทย | เดินเครื่อง | 250 | 780 ล้านบาท | 17.65 ล้าน | 70,600 |
เกาะกวม สหรัฐอเมริกา | กำลังนำเสนอ | ~15 | 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ | 13.2 ล้าน | 880,000 |
หมายเหตุ ต้นทุนแปลงจากเงินสกุลสหรัฐโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเดือนสิงหาคม 2001 ที่ Universal Currency Converter http://www.xe.com/ucc ที่มา GAIA’s Waste Incineration Database maintained by Pawel Gluszynski, Waste Prevention Association, Krakow, Poland ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ info@no-burn.org
เงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะกับการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ย
ลักษณะโครงการ | เงินลงทุนเบื้องต้นต่อขยะที่นำมาจัดการ 1 ตัน (เหรียญสหรัฐ) | |
การรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยในประเทศพัฒนาด้านอุตสาหกรรม | ||
โรงงานรีไซเคิลต้นฉบับในสหรัฐอเมริกา | คัดแยกวัสดุรีไซเคิล | 30,000 |
โรงงานรีไซเคิลที่ใช้เทคโนโลยีน้อยในสหรัฐอเมริกา | คัดแยกวัสดุรีไซเคิล | 4,000-20,000 |
โรงหมักปุ๋ยขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีน้อยในสหรัฐอเมริกา | การหมักปุ๋ยในพื้นที่สวนหลังบ้าน | 5,000-13,000 |
การหมักปุ๋ยขนาดใหญ่ | 5,600-90,000 | |
การรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยในประเทศพัฒนาด้านอุตสาหกรรมน้อยกว่า | ||
ซัน แวลลีย์ ฟิลิปปินส์ | การรีไซเคิล/การเก็บวัสดุอินทรีย์ + การหมักปุ๋ย | 1800 |
โครงการของ Exnora ในอินเดีย | การรีไซเคิล/การเก็บวัสดุอินทรีย์ + การหมักปุ๋ย | 1650 |
โมกัตตัม (ไคโร) อิยิปต์ | กิจการรีไซเคิลขนาดเล็ก | 450 |
ริโอเดอจาเนโร บราซิล | สหกรณ์รีไซเคิล 14 แห่ง | 5,300 |
การหมักปุ๋ยขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีน้อย | พื้นที่หลังบ้านหรือในชุมชน | แทบไม่มีต้นทุน |
การเผาขยะ | 136,000-270,000 |
ที่มา : Institute for Local Self-Reliance, Washington, DC, 2004. เงินลงทุนเบื้องต้นของการเผาขยะมาจาก T. Rand, J. Haukohl, U. Marxen, Municipal Solid Waste Incineration: Requirements for a Successful Project, World Bank Technical Paper Number 462, The World Bank, Washington, D.C.,June 2000. เงินลงทุนเบื้องต้นของการหมักปุ๋ยขนาดใหญ่ใช้ข้อมูลใน Argonne National Laboratory, “Energy and Environmental Systems Analysis:Technology Summary I.1: Landfills: Reducing Landfilling Of Waste,” 1993.
เปรียบเทียบเงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะกับการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ย
โรงงานรีไซเคิลและหมักปุ๋ยมีต้นทุนถูกกว่าโรงเผาขยะมากมาย ไม่ว่าระบบนั้นจะใช้เทคโนโลยีสูงหรือต่ำเพียงใดก็ตาม ไม่ว่าจะใช้เครื่องจักรกลหรือใช้แรงงาน
ในสหรัฐอเมริกา เงินลงทุนเบื้องต้นของโรงงานรีไซเคิลเฉลี่ยประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐต่อความสามารถในการกำจัดขยะต่อตันต่อวัน และขึ้นอยู่กับระดับของเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ใช้ โรงงานรีไซเคิลที่ใช้เทคโนโลยีต่ำจะใช้เครื่องมือพื้นฐาน อย่างเช่น สายพาน รถยก เครื่องมัด (baler) เครื่องอัดพลาสติก เครื่องขูดพลาสติกและ/หรือเครื่องบดกระป๋อง การศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า โรงงานในชุมชนบางแห่งของสหรัฐอเมริกาที่ใช้เทคโนโลยีต่ำมีต้นทุนการแปรรูปขยะระหว่าง 4,000-20,000 เหรียญสหรัฐต่อตันต่อวัน
ชุมชนหลายแห่งเหล่านี้ยังลดต้นทุนไปได้อีกด้วยการใช้เครื่องจักรมือสอง
ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โรงงานรีไซเคิลมักใช้เครื่องจักรกลน้อยและใช้แรงงานมาก ซึ่งทำให้เงินลงทุนน่าจะต่ำกว่า 30,000 เหรียญสหรัฐต่อตันต่อวัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยเงินลงทุนของโรงงานแบบเดียวกันในสหรัฐอเมริกามาก ยกตัวอย่างเช่น กรณีของเมืองรีโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล เอลิเลเนอ บริโต ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เร่เก็บของเก่าขายและผู้ประสานงานโครงการรีไซเคิลของแผนกรักษาความสะอาดของเทศบาลเมืองรีโอเดอจาเนโรบอกว่า “แม้จะมีข้อมูลในพื้นที่ไม่มากนัก แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลได้ช่วยสร้างงานและใช้เงินลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจส่วนอื่น ในกรุงรีโอต้นทุนโรงแยกขยะแต่ละแห่งคิดเฉลี่ยที่ 25,000 เหรียญสหรัฐ และจ้างงานได้ประมาณ 20 คน ปัจจุบันเรามีสหกรณ์ 14 แห่งที่ผลิตวัสดุรีไซเคิลจำนวน 2,000 ตันต่อเดือนและจ้างงาน 414 คน”
เมื่อถัวเฉลี่ยมูลค่าอุปกรณ์ของโรงงานรีไซเคิลในบราซิลต่อปริมาณขยะหนึ่งตันต่อวัน เราพบว่ามีต้นทุนประมาณ 5,300 เหรียญสหรัฐ ซึ่งถูกกว่าต้นทุนเฉลี่ยของโรงเผาขยะอย่างน้อย 26 เท่า
โครงการรีไซเคิลหลายแห่งในประเทศอียิปต์เน้นการใช้แรงงานและลงทุนน้อย และเป็นตัวอย่างโรงงานรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยมีการจ้างคนงานเฉลี่ยประมาณ 89 คนต่อการคัดขยะ 10,000 ตันต่อปี
ในสหรัฐอเมริกา สำหรับปริมาณขยะเท่านี้พวกเขาจ้างคนงานเพียง 11 คน
ที่กรุงไคโร แรงงานนอกระบบเร่เก็บขยะจากบ้านเรือนต่าง ๆ ในเมืองถึงหนึ่งในสามหรือประมาณ 988,400 ตันต่อปี ร้อยละ 80 ของขยะเหล่านี้มีการนำกลับมาใช้ใหม่ เขตโมกัตตัมซึ่งอยู่ชานกรุงไคโรเป็นที่ตั้งของโรงงาน 928 แห่งที่เก็บและคัดขยะเป็น 16 ประเภทโดยไม่ใช้เครื่องจักรกลใด ๆ เลย ยกเว้นรถบรรทุกขยะ พวกเขาขายวัสดุที่คัดแยกเหล่านี้ให้กับพ่อค้าคนกลางและโรงงานรีไซเคิล อุตสาหกรรมรีไซเคิลขนาดเล็ก 228 แห่งในเขตโมกัตตัมใช้เงินลงทุน 1,805,350 LE (426,000 เหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็นมูลค่าเครื่องจักรโดยเฉลี่ย 1,900 LE (~450 เหรียญสหรัฐ) ต่อขยะหนึ่งตันต่อวัน
เทศบาลกรุงไคโรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลยสำหรับการนำขยะ 791,100 ตันต่อปีมาใช้ใหม่ ภาคเศรษฐกิจนอกระบบเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด
โรงงานหมักปุ๋ยตามธรรมชาติหรือโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์ อาจมีต้นทุนน้อยกว่าโรงงานรีไซเคิลเสียอีก โรงงานแบบนี้สามารถทำได้ในขนาดเล็กและใช้เทคโนโลยีต่ำ สามารถทำที่หลังบ้านหรือในระดับชุมชนขนาดเล็กได้ แม้แต่โรงงานขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพียงแต่อาจต้องใช้รถยกเพื่อนำขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้มากองไว้ โรงบำบัดขยะแบบย่อยสลายอาจต้องใช้ระบบภาชนะปิด (In-vessel) ซึ่งเป็นระบบปิดและมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ในสหรัฐอเมริกา การบำบัดขยะด้วยการหมักปุ๋ยซึ่งใช้เทคโนโลยีต่ำมีต้นทุน 5,000-13,000 เหรียญสหรัฐต่อปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้หนึ่งตันต่อวัน
ต้นทุนของโรงงานเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับขนาดและเครื่องจักรกลที่ใช้ โรงงานบางแห่งอาจใช้แค่เครื่องตัดขยะเป็นชิ้น ๆ และรถยกขยะไปกอง บางโรงอาจจะมีอ่างสำหรับบดขยะ (tub grinder) และ/หรือเครื่องหั่นขยะ โรงบำบัดขยะด้วยการหมักปุ๋ยซึ่งใช้เทคโนโลยีต่ำมักมีขนาดเล็ก และบำบัดขยะได้น้อยกว่า 10,000 ตันต่อปี
การหมักปุ๋ยที่ทำกันหลังบ้านเป็นเทคนิคการหมักปุ๋ยที่ใช้เทคโนโลยีต่ำและมีขนาดเล็กสุดเท่าที่มีอยู่ ต้นทุนของการบำบัดขยะหลังบ้านแบบนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำอ่างสำหรับหมักขยะให้เป็นปุ๋ยตามบ้านเรือนทั่วไป
“โรงงานหมักปุ๋ยที่ใช้เทคโนโลยีต่ำในประเทศกำลังพัฒนา ใช้เงินลงทุนด้านอุปกรณ์น้อยกว่าโรงเผาขยะถึง 75 เท่า”
การหมักปุ๋ยอินทรียวัตถุยังสามารถทำในขนาดใหญ่ได้ การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า โรงงานหมักปุ๋ยขนาดใหญ่ (270-500 ตันต่อวัน) อาจใช้เงินลงทุนระหว่าง 1.5 ล้านถึง 45 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นอยู่กับความสามารถในการหมักปุ๋ยและความซับซ้อนของระบบ ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีต้นทุนค่าลงทุนเฉลี่ยวันละ 5,600-90,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งยังน้อยกว่าเงินลงทุนเบื้องต้นของโรงเผาขยะในเขตเทศบาลมากมายนัก
ในประเทศกำลังพัฒนา มีหลายตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความสำเร็จของโครงการหมักปุ๋ยขนาดเล็กซึ่งทำกันที่บ้านและชุมชน ในประเทศอินเดียโครงการหมักปุ๋ยและรีไซเคิลระดับชุมชนขององค์การ Exnora International ซึ่งมีขนาดเล็กใช้เงินลงทุนด้านอุปกรณ์เพียง 1,650 เหรียญสหรัฐต่อขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หนึ่งตันต่อวัน ประมาณร้อยละ 90 ของขยะจากบ้านเรือนถูกนำมาบำบัดภายใต้โครงการนี้
โครงการหมักปุ๋ยอินทรียวัตถุในลักษณะเดียวกันมีอยู่ที่บารังไกซันวัลเลย์ ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีต้นทุนการหมักปุ๋ย 1,800 เหรียญสหรัฐต่อตันต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าเงินลงทุนในโรงเผาขยะถึง 75 เท่า ชุมชนหลายแห่งในประเทศโลกฝ่ายใต้อาจเริ่มต้นโครงการหมักปุ๋ยโดยไม่มีเงินลงทุนหรือเครื่องจักรกลในเบื้องต้นเลยก็ได้ ในอินเดีย โครงการหลายแห่งประสบความสำเร็จจากแค่การขุดร่องสำหรับให้ไส้เดือนลงไปช่วยหมักปุ๋ยอินทรีย์ ชาวบ้านมักขุดร่องเหล่านี้ที่หลังบ้านและในที่ว่าง ค่าใช้จ่ายที่มีอาจเป็นการซื้อถังพลาสติกเพื่อให้แต่ละครัวเรือนเก็บรวบรวมขยะอินทรีย์เท่านั้น
โรงเผาขยะมีต้นทุนดำเนินการสูงสุด
โครงการหมักปุ๋ยและรีไซเคิลขยะมักมีต้นทุนดำเนินการต่อปริมาณขยะที่ต่ำกว่าโรงเผาขยะเป็นจำนวนมากเสมอ นอกจากนั้น ยิ่งมีการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยมากเท่าไร โครงการเหล่านั้นก็จะมีความคุ้มทุนมากยิ่งขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่เรามักมองข้ามไปเวลาเปรียบเทียบต้นทุนของการรีไซเคิลและการหมักปุ๋ยกับการเผาขยะคือในการคำนวณต้นทุนของการรีไซเคิลและหมักปุ๋ยจะรวมเอาต้นทุนการจัดเก็บขยะไว้ในตัวอยู่แล้ว โดยทั่วไปต้นทุนของโครงการรีไซเคิลและหมักปุ๋ยประกอบด้วยต้นทุนการจัดเก็บ การคัดแยกขยะ และการสร้างระบบหมักขยะ ในทางตรงข้าม โรงเผาขยะนอกจากจะมีมีต้นทุนดำเนินการแล้วยังต้องจ่ายต้นทุนการจัดเก็บขยะอีกต่างหากด้วย ในประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรมซึ่งมีระบบรีไซเคิลและหมักปุ๋ยขนาดเล็ก ซึ่งคนงานเก็บขยะจะใช้จักรยานถีบหรือเกวียนเพื่อเก็บขยะ เทศบาลต่าง ๆ สามารถประหยัดต้นทุนการจัดเก็บขยะได้เพราะไม่ต้องใช้รถออกไปเก็บขยะ การใช้รถบรรทุกเก็บขยะมักเป็นต้นทุนการดำเนินการสำหรับการจัดการขยะที่แพงที่สุด และเป็นต้นทุนที่จำเป็นสำหรับโรงเผาขยะ ค่าน้ำมันรถ ค่าแรงคนขับและค่าประสานงานรถขนขยะ ค่าเสื่อมราคา เงินเดือนของคนขับรถล้วนแต่เป็นต้นทุนทั้งสิ้น
โครงการรีไซเคิลและหมักปุ๋ยขนาดเล็กของ Exnora International ในอินเดียเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ คนงานจะเก็บขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลรวม ๆ กันในรถสามล้อถีบ และเอาไปคัดแยกที่โรงงาน “ของเสียเหลือศูนย์” ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป โครงการแต่ละแห่งให้บริการได้ 200 ครัวเรือน มีต้นทุนสำหรับค่าแรงและการบำรุงรักษารถสามล้อและศูนย์บำบัดขยะเพียงประมาณ 50 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ในทางตรงข้าม ในการให้บริการ 200 ครัวเรือนเท่ากัน เทศบาลต้องใช้เงิน 400 เหรียญสหรัฐต่อเดือนเพื่อจัดเก็บ ขนส่ง และนำขยะไปบำบัด ในขณะที่โรงเผาขยะจะใช้ต้นทุนสูงกว่านี้มากมายนัก
สวัสดีครับพี่ ถ้าพบจะรบกวนข้อมูล ที่พี่นำมาเขียนบทความหน่อยยได้ไหมครับ พอดีผมเสิร์จตาม ที่มา ไม่เจออ่ะครับ email jackiiz0358@gmail.com