ธารา บัวคำศรี
ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Southern Blackout

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้จากความล้มเหลวผิดพลาดของระบบสายส่งไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของระบบพลังงานรวมศูนย์ของประเทศไทย คนนับล้านใน 14 จังหวัดภาคใต้ตกอยู่ในความมืดนับเป็นเวลาหลายชั่วโมงและความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเป็นจำนวนมหาศาล

ในช่วงเวลาวิกฤตและหลังจากนั้น ข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องสาเหตุและผลกระทบได้ทะยอยผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) และมีบทบาทสำคัญถ่ายทอดสถานการณ์และข้อเท็จจริงให้กับสังคม

แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์กรระดับชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศจะชี้แจงว่าสาเหตุมาจากระบบสายส่ง แต่กลับเน้นว่าหากไฟฟ้าไม่พอใช้ในภาคใต้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 870 เมกกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่

การชี้แจงของ กฟผ. ถูกโต้กลับโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงานโดยหยิบยกให้เห็นรากเหง้าของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริหารจัดการพลังงานของประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพและละเลยความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนตลอดจนความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งเน้นระบบพลังงานขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์บนมายาคติที่ว่าจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่นำไปตอบสนองการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

คำถามหลายคำถามที่ยังคงค้างคาใจของผู้คน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยังเลี่ยงหรือตอบไม่ตรงประเด็น

ดังเช่นคำถามที่ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเพราะกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าในภาคใต้ยังมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด) จะช่วยรับประกันว่า จะไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในอนาคตได้จริงหรือ แม้ในกรณีที่มีไฟฟ้าเพียงพอใช้ในภาคใต้ เหตุการณ์ไฟฟ้าดับสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการบริหารจัดการระบบสายส่งไฟฟ้า

หากพิจารณาให้กว้างออกไป “ไฟฟ้าดับสนิท (Blackout)” หรือ “ไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ (Brownout)” เป็นโลกาภิวัตน์ของระบบพลังงานโลกที่มีรากฐานอยู่บนการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ ไม่ว่าจะผูกขาดโดยรัฐหรือถูกยึดกุมโดยภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในอเมริกาและยุโรป หรือประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียอย่างเช่นจีนและอินเดีย ประเทศนับร้อยทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทด้วยกันทั้งนั้น

ที่น่าสนใจ ภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทหลายกรณีทั่วโลกเกิดขึ้นมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงที่ถือว่ามีเหลือเฟือที่สุดในโลกนั่นก็คือ “ถ่านหิน” !!!

ประเทศจีนต้องปล่อยให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน 50 แห่ง ทิ้งไว้เพราะว่าขาดแคลนถ่านหินที่นำมาป้อนเข้าระบบ ภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทในจีนที่เกิดขึ้นหลายครั้งเป็นภัยคุกคามการพัฒนาเศรษฐกิจ เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำในแถบเชิงเขาหิมาลัยของอินเดียไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพราะภัยแล้งอันมีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน อินเดียพยายามผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและแผงเซลสุริยะเพิ่มมากขึ้น แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ต้องนำถ่านหินจำนวนมหาศาลมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นและการขาดแคลนถ่านหินในระดับโลก

ที่แอฟริกาใต้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหิน เหมืองทองและเหมืองเพรช ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านพลังงานและการขาดแคลนไฟฟ้า

ในอังกฤษเองยังประสบกับภาวะไฟฟ้าดับเพิ่มขึ้นบ่อยครั้ง นักวิเคราะห์อธิบายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าเป็นระบบพลังงานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ห่วยแตกมาก ภาคอุตสาหกรรมประมาณว่าต้องใช้เงินลงทุนถึงแสนล้านปอนด์ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการลงทุนโครงการของประเทศที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษซึ่งเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าป้อนระบบสายส่ง ปัจจุบันหายไปโดยสิ้นเชิงอันเนื่องจากการหร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วของแหล่งถ่านหินที่เคยมีเหลือเฟือ

บางประเทศที่สามารถซื้อหาน้ำมันราคาแพงมาใช้นั้นไม่มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนให้โรงกลั่นน้ำมันให้ทำงานได้ ประเทศรำ่รวยพลังงานอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่านก็ไม่หนีไม่พ้นจากภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับได้ ถึงแม้ประเทศทั้งสองมีการส่งออกน้ำมัน ในสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคาดการณ์ว่าภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับจากระบบสายส่งไฟฟ้าจะเกิดถี่มากขึ้นอันเนื่องมาจากการขาดแคลนกำลังการผลิตและระบบสายส่งที่โบราณใกล้หมดอายุซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง

ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาที่เหมือนดูจะมีเหลือเฟือ จริง ๆ แล้ว อุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศเริ่มส่งออกถ่านหินไปขายเพราะความต้องการถ่านหินในระดับโลกและราคาที่พุ่งสูงขึ้น ส่วนถ่านหินที่มาจากเหมืองถ่านหินในประเทศมีคุณภาพลดลง ดังนั้น สหรัฐอเมริกาใช้พึ่งพาถ่านหินน้อยลงแม้ว่าการขุดทำเหมืองถ่านหินลึกลงไปในผิวโลกนั้นมีมากขึ้น

ไฟฟ้าที่ผลิตและนำมาใช้ทั่วโลกนั้นมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินราวร้อยละ 40 เป็นสัดส่วนที่มากกว่าเชื้อเพลิงใดๆ ที่เรานำมาผลิตไฟฟ้า จึงดูเสมือนว่าถ่านหินในโลกนั้นยังมีอยู่เหลือเฟือ ส่วนประเทศไทย สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ในราวกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 70 และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลและผู้วางแผนพลังงานของประเทศต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

ราคาถ่านหินในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงกลางปี พ.ศ. 2549 และ 2551 แหล่งถ่านหินที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะกลายเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางพลังงานของหลายประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติด ปัญหาของการนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนและความไม่แน่นอนการในการขนส่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แพงมากขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ แหล่งถ่านหินในประเทศไทยที่สามารถขุดขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีอยู่กระจัดกระจายทางภาคเหนือ เหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อสิ้นสุดอายุในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิดที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยลึกลงไปในผิวโลกนับเป็นกิโลเมตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามจะต่ออายุโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะโดยการเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงราย ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีบริษัทบ้านปู มหาชน จำกัด อุตสาหกรรมถ่านหินยักษ์ใหญ่ของไทยร่วมทุนนั้นใกล้จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีและส่งไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าอันหิวโหยของประเทศไทย

ถ่านหินที่อ้างว่าจะนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยนั้นเป็นมายาคติที่สร้างขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเรื่องโกหกกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนต้องเชื่อคล้อยตามกันโดยไม่มีข้อสงสัย และผู้ที่มีข้อสงสัยก็ถูกประนามว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญและการพัฒนา

ในระดับโลก แหล่งสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพสูงอย่างแอนทราไซต์ บิทูมินัสและซับบิทูมินัสก็กำลังหร่อยหรออย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัจจัยสำคัญของความล่าช้าในการขนส่งถ่านหินจากเหมืองในประเทศหนึ่งไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ปลายทางในอีกประเทศหนึ่ง ความล่าช้าในการขนส่งได้เพิ่มต้นทุนและผลนกเข้าไปในราคาไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย และความล่าช้าของการขนส่งถ่านหินก็เป็นสาเหตุหนึ่งของ “ภาวะไฟฟ้าดับสนิท” ที่เกิดขึ้นในจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติดดังที่กล่าวมา

หากเรายังคงดำเนินไปตามกระแสปัจจุบันนี้ ผลที่ตามมานั้นยากที่จะประเมิน เว้นแต่ว่าสังคมไทยและสังคมโลกเองจะปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ด้านพลังงานที่แตกต่างเกือบจะโดยสิ้นเชิงกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อการหร่อยหรอของแหล่งสำรองถ่านหินที่นำมาผลิตไฟฟ้าและผลกระทบที่เป็นต้นทุนจริงของถ่านหินปรากฏชัดเจนแจ่งแจ้งในมโนทัศน์ของผู้คนและผลกระทบอันเลวร้ายแผ่ขยายเพิ่มขึ้นปีต่อปี ในอีกสองหรือสามทศวรรษข้างหน้า อารยธรรมของมนุษย์อาจจะเป็นถึงจุดที่เรียกว่า “ภาวะไฟฟ้าดับโดยสิ้นเชิง (final blackout)

การนำถ่านหินมาใช้ผลิตไฟฟ้าไม่ว่าในประเทศไทยหรือที่ใดในโลกมีผลกระทบที่ทำลายล้างตั้งแต่โรคฝุ่นจับปอด(ของคนงานเหมือง) ไปจนถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากไฟถ่านหินที่ลุกไหม้เอง และน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด รวมไปถึงภัยคุกคามจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมในชั้นบรรยากาศ รวมถึงอันตรายที่มักถูกลืมที่เกิดจากเหมืองถ่านหินร้างและความพยายามในการฟื้นฟูสภาพเหมืองที่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มาจากถ่านหิน หลายประเทศก็ยังคงมีแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ซึ่งหากแผนการเป็นไปตามนั้น จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายในปี 2573 แผนการดังกล่าวไม่เพียงแต่ขาดความยั่งยืนในอนาคตอย่างที่สุดแล้ว แต่เป็นแผนการที่ไม่จำเป็นและมีอันตราย

เรายังมีทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้จริง  แผนการปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซเสนอว่าเมื่อนำพลังงานหมุนเวียนมารวมเข้ากับประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 50 ในระดับเดียวกันกับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ทั้งยังช่วยให้เราสามารถลดการพึ่งพาถ่านหินลงไปอีกด้วย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม แผงเซลแสงอาทิตย์หรือโฟโตวอลเทอิก โรงไฟฟ้าชีวมวล และการทำความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Collectors) กลายมาเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก นอกจากนี้ ตลาดของพลังงานหมุนเวียนยังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่านับแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ทำให้เกิดความสูญเปล่าที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายๆ หากใช้มาตรการประสิทธิภาพพลังงานและเทคโนโลยีที่มีอยู่

เราจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจีนและอินเดียจะเสพติดถ่านหินหนัก แต่ทั้งสองประเทศมีนโยบายและกฎหมายที่เข้มแข็งด้านพลังงานหมนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน ในภาวะไฟฟ้าดับสนิท ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและเกิดจากการวางแผนดับไฟฟ้าก็ตาม ไฟฟ้าจากลมและแสงแดดยังทำงานช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคม

การยุติยุคถ่านหินจึงเป็นแนวทางเดียวที่เราต้องทำ ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าทำความเสียหายให้กับภูมิอากาศ โลกของเราและสังคมนั้นสูงเกินกว่าที่จะแบกรับ ถ่านหินอาจจะมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องร่วมมือกัน “ปฏิวัติพลังงาน” ที่ขับเคลื่อนโดยการใช้้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนและระบบพลังงานกระจายศูนย์ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจสีเขียว กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเราทั้งในปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต