ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เรามีทะเลและมหาสมุทรเพียงหนึ่งเดียว นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์อย่างอาร์เธอร์ ซี คล๊าก กล่าวไว้ว่า เหมาะแล้วหรือที่เราเรียกดาวเคราะห์นี้ว่า “โลก(แผ่นดิน)” ทั้งที่เห็นชัดเจนว่านี่คือ “มหาสมุทร”

อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายถกเถียงเพื่อกอบกู้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและมหาสมุทร มีการนำเสนอเพื่อพิจารณาถึง “การจัดการผลประโยชน์แห่งชาติตามหลักสมุทราภิบาล(Ocean Governance)” ที่ครอบคลุมการจัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ กรอบกฎหมายทางทะเลที่ครอบคลุมกิจกรรมทางทะเลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งชายฝั่งและน่านน้ำภายในทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และทะเลหลวง ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรประมงพื้นบ้าน ประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรแร่ธาตุและพลังงาน และกฏข้อบังคับในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

ไม่ว่าจะเราพิจารณาจากแง่มุมใด เราต้องยอมรับว่า ทะเลและมหาสมุทรของเรามาถึงจุดวิกฤต และมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยลงมือปฏิบัติการปกป้องและฟื้นฟูทะเลและมหาสมุทรที่สนับสนุนคำ้จุนทุกชีวิตบนโลก

มนุษย์เราพึ่งพาทะเลเพื่อความอยู่รอด แต่การบริหารจัดการชั้นบรรยากาศ ท้องทะเลและการประมงที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทะเลมีการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นวิกฤตที่แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา เพราะเกิดจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวนั่นก็คือมนุษย์เรา ในขณะที่ระบบนิเวศทางทางทะเลมีความสามารถในการฟื้นคืนและศักยภาพในการปรับตัว แต่อัตราเร่งและขนาดของการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่นี้อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของเรา

มหาสมุทรของเรามีการเปลี่ยนแปลงในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ปนเปื้อนมลพิษมากขึ้น เป็นกรดมากขึ้นและมีการทำประมงเกินขนาดมากขึ้น นักนิเวศวิทยาทางทะเลจำนวนมากเห็นร่วมกันว่าการทำประมงเกินขนาดเป็นภัยคุกคุกคามใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศวิทยาทางทะเลในปัจจุบัน การบริโภคปลาของเราไดเกิินขีดจำกัดทางนิเวศวิทยาของมหาสมุทรและส่งผลกระทบร้ายแรงโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยาทางทะเล นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเตือนว่าการทำประมงเกินขนาดส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งต่อมหาสมุทรของเรา บางทีอาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

การบริโภคปลาของเรากำลังเกิินขีดจำกัดทางนิเวศวิทยาของมหาสมุทร และการประมงในมหาสมุทรนี้เองได้ทำลายสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมในแต่ละปีกว่า 300,000 ตัว สิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรรวมถึงปลากำลังหายไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศมหาสมุทรทั้งหมด ปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแทนด้วยปลาที่มีขนาดเล็กลงและปลาที่กินแพลงตอนเป็นอาหาร ในศตวรรษนี้เอง เรายังได้เห็นแมงกระพรุนเป็นอาหารมนุษย์แทนปลา

การทำประมงเกิดขนาดยังคุกคามการอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วนมในทะเล นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับคณะกรรมาธิการล่าวาฬสากลประมาณว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอย่างวาฬและโลมาบาดเจ็บและตายจากการติดอวนและเครื่องมือทำประมงนับแสนตัว อุบัติเหตุเรือชนกับ มลพิษ เสียงในทะเลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มเข้ามา

ต้นปี 2556 นี้เอง มีการเปิดตัว “คณะกรรมาธิการมหาสมุทรโลก หรือ Global Ocean Commission ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานขับเคลื่อนและมีข้อเสนอแนะทางการเมืองในสี่ประเด็นท้าทายเกี่ยวกับมหาสมุทร คือ การประมงเกินขีดจำกัด (overfishing) การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายทางชีวภาพขนาดใหญ่ (large-scale loss of habitat and biodiversity) การขาดการจัดการและการบังคับใช้ให้เป็นตามกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ (the lack of effective management and enforcement) และข้อบกพร่องในด้านสมุทรธรรมาภิบาลโลก(deficiencies in high seas governance)

คาดกันว่า คณะกรรมาธิการมหาสมุทรโลกนี้จะมิใช่เพียงเสือกระดาษ แต่เป็นผู้เปลี่ยนเกมเพื่อผลักดันให้เกิดทางออกที่สมเหตุสมผลในการปกป้องมหาสมุทร และผลักดันให้ประเด็นการอนุรักษ์ทะเลเป็นหนึ่งระเบียบวาระทางการเมือง เราต้องการเห็นผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมกันจัดทำแผนกอบกู้ทะเลและมหาสมุทรเพื่อยุติการประมงเกินขีดจำกัด ขณะเดียวกันทำให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์และคุ้มครองมหาสมุทร(Marine Reserve)

myanmar_tm5_2004349

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคซึ่งแผ่นดิน ทะเล และมหาสมุทรมาบรรจบกัน ถือเป็น “สุดยอด” ในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่อาจหาที่แห่งใดในโลกมาเทียบเทียมได้ ถ้าเรานำเอาหมู่เกาะทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย พื้นที่แนวปะการัง ป่าชายเลน หญ้าทะเล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสิ่งมีชีวิตในทะเลมารวมกัน

เมื่อกลับมาที่ทะเลไทย ภารกิจฟื้นฟูทะเลของเรามีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบด้วยการเชื่อมต่อและรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของเครือข่ายประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่สนับสนุนโดยพลังของภาควิชาการ ภาคธุรกิจและภาคการเมือง ภารกิจนี้คงมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของพวกเราทุกคนที่ปรารถนาที่มอบมรดกอันลำ้ค่าส่งต่อให้คนอีกรุ่นหนึ่ง การฟื้นคืนทะเลไทยให้กับมาอุดมสมบูรณ์เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต การไปให้ถึงสิ่งที่เราต้องการนี้ เราจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน

คำประกาศเจตนารมย์ของบังสะมะแอ เจะมูดอ ผู้นำชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ของไทย เมื่อหลายปีก่อนในการประชุมนานาชาติของชาวประมงแห่งเอเชีย เป็นคำประกาศที่อยู่เหนือกาลเวลา และสร้างแรงบันดาลใจในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่กล่าวขึ้นต้นว่า “บรรพบุรุษของเราได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในชายฝั่งทะเลไทยมานับพันปีและพร่ำสอนลูกหลานว่า เจ้าจงอยู่กับทะเลด้วยความเคารพและอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ด้วยนโยบายที่จะพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยของรัฐไทย ทะเลและทรัพยากรชายฝั่งจึงถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว” และที่กล่าวในตอนท้ายว่า “เราคือชาวประมงพื้นบ้านผู้ที่มีชีวิตรอดได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เราจึงต้องปกป้องธรรมชาติด้วยชีวิตของเรา ณ จุดที่เรายืนอยู่นี้ เรามีพันธกิจที่จะร่วมกับมวลมิตรในทางสากลเพื่อเข้าร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสำหรับลูกหลานที่จักเกิดขึ้นต่อตามกันมา”