10 สิงหาคม 2556
หลังจากแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ของเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ภายหลังมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2553 ให้ยุติการขยายทางหลวงหมายเลข 2090 ที่เหลืออยู่และฟื้นฟูส่วนที่ขยายไปแล้ว ปรากฎมีข่าวและความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยเคลือบแคลงว่ากรมทางหลวงก็ดี กรมป่าไม้ก็ดี นักการเมืองทั้งหลายก็ตาม อาจจะไม่มีความจริงใจและจริงจังในการดำเนินการตามมติ ครม.อย่างเร่งด่วน เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่เห็นว่าเพื่อให้เกิดหลักประกันที่แท้จริงในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์สองข้างถนนและการสร้างคุณค่าพร้อมอรรถประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนสองข้างทาง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่จึงยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2553
ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้กรมทางหลวงนำต้นไม้ตามชนิดประเภทขนาดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและในจำนวนเท่ากันกับต้นไม้ที่ถูกตัดโค่นแล้วตามบัญชีที่ได้สำรวจบันทึกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ไปปลูกทดแทน ตามแนวเขตทางหลวงสาย 2090 โดยให้เริ่มดำเนินการภายใน 60 วัน เพื่อให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุด
หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ได้ติดต่อประสานงานกับกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมและยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 6,000 คน ที่รวมพลังผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้กรมทางหลวงคืนต้นไม้และฟื้นฟูระบบนิเวศสองข้างทางถนนธนะรัชต์ แต่หน่วยงานรัฐทั้งสองมิได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องอย่างจริงจังแต่อย่างใดและขอใช้สิทธิ์อุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่แย้งกับข้อเท็จจริง
การที่กรมทางหลวงอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้แสดงให้สังคมไทยเห็นชัดว่า หน่วยงานแห่งนี้มิได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นองค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมตามที่โฆษณาชวนชื่อและพยายามกล่าวอ้างมาโดยตลอด
ณ วันนี้ ริมผืนป่าเขาใหญ่ ริมถนนธนะรัชต์ เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ร่วมกันแสดงเจตจำนงในการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ซึ่งเคยเป็นร่มเงาอยู่ ณ พื้นที่นี้ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดทำลายไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ว่าต้นใดประเภทใดหรือชนิดใด ไม่ว่าจะใหญ่เล็กแค่ไหน ก็สามารถนำมาปลูกและยืนต้นได้ในพื้นที่ถนนสายนี้ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556
เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ขอตอกย้ำว่ากรมทางหลวงควรถอนอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุดโดยคืนต้นไม้ 128 ต้นแก่แผ่นดิน ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ นอกจากกรมทางหลวงจะไม่ทำตามคำพิพากษา ยังขัดขวางประชาชนที่จะขอนำต้นไม้ 128 ต้นมาปลูกในวันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม เนื่องในวันแม่แห่งชาติ การขัดขวางของกรมทางหลวงทำโดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เดียวกันกับที่เครือข่ายประชาชนเตรียมไว้ แต่ปลูกตัดหน้าในวันที่ 9 สิงหาคม โดยไม่แจ้งแก่เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ ทั้งๆ ที่เครือข่ายประชาชนฯ ได้ทำหนังสือขอปลูกต้นไม้สองข้างทางถนนธนะรัชต์ต่อกรมทางหลวงล่วงหน้าแล้ว
เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่เห็นว่ากรมทางหลวงปากว่าตาขยิบ ถืออำนาจบาตรใหญ่กีดกันขัดขวางประชาชนที่ร่วมมือกันฟื้นฟูระบบนิเวศสองข้างทางถนนธนะรัชต์ กรมทางหลวงจึงเป็นหน่วยงานที่ขาดวิสัยวิทัศน์ สิ้นความคิดหรือสิ้นคิด สุดที่จะเยียวยาได้ในการทำให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ
ถนนธนะรัชต์คือถนนสายอนุรักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยทั้งประเทศสามารถร่วมมือกันในการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้หน่วยงานภาครัฐใช้อำนาจโดยพละการในการตัดสินใจทำลายต้นไม้และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนโดยไม่เสียงประชาชน เฉกเช่นเดียวกันกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทซึ่งมีประชาชนจะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้มากกว่า 65 จังหวัด
หากประชาชนทั้งประเทศไม่สามารถปกป้องถนนสายต่าง ๆ ที่กรมทางหลวงได้ดำเนินการปรับปรุงหรือขยายอันเป็นการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตลอดแนวเส้นทางได้ ก็ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าศาลปกครองจะอยู่เคียงข้างประชาชน
เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่จะเดินหน้าเพื่อขัดขวางการทำลายต้นไม้และแนวคิดในการทำลายล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคตต่อไป
เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ / มูลนิธิคุ้มครองผู้ประสบภัย / มูลนิธิเขาใหญ่ / สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน/เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ/ThaiFlood ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม/กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/เว็บไซต์ Change.org