ทำไมต้องยกร่าง “หลักการมาบตาพุดว่าด้วยความรับผิดชอบทางสาธารณะของบรรษัท”

เพราะมาบตาพุดเป็น “แดนมลพิษ” ของบรรดาบรรษัทอุตสาหกรรมทั้งหลาย

เพราะมาบตาพุดมีโครงการ “CSR” บรรษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากถึงมากที่สุด (อาจจะมากที่สุดในโลก)

เพราะมาบตาพุดมีสถิติอุบัติภัยทางอุตสาหกรรมเคมีมากที่สุดในประเทศไทย

ฯลฯ

หลักการมาบตาพุดว่าด้วยความรับผิดทางสาธารณะของบรรษัทประกอบด้วยมาตรการที่รอบคอบและรัดกุมที่จะรับประกันได้ว่าบรรษัททั้งหลายจะดำเนินการในลักษณะต้องตรงตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาริโอข้อ 13 (ความรับผิด) ข้อ 14 (มาตรฐานต่างระดับ) ข้อ 15 (หลักการป้องกันไว้ก่อน) และข้อ 16 (หลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ) รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสวัสดิการสาธารณะและต้องไม่ปัดภาระนี้ไปให้ประชาชน

ผลประโยชน์และกำไรของบรรษัทถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจโดยละเลยความรับผิดทางสาธารณะ ดังนั้น การผลักดันไปสู่การพัฒนายั่งยืนในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะทำให้บรรษัทมีความรับผิดชอบ เปิดเผยข้อมูล และชดเชยความเสียหาย ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือที่ว่านี้เพื่อเป็นหลักประกันมิให้บรรษัทบิดพริ้วต่อสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนการติดตามผลการรายงาน และตรวจสอบพฤติกรรมความรับผิดชอบของบรรษัท เครื่องมือที่ว่านี้มีองค์ประกอบต่างๆ เช่น ค่าชดเชยความเสียหาย การฟื้นฟู สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

ความรับผิดชอบทางสาธารณะของบรรษัทเป็นประเด็นร่วมของกลุ่มที่ทำงานรณรงค์ในด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การพัฒนา และแรงงาน อาชญากรรมของบรรษัทที่กระทำผ่านการดำเนินกิจกรรมทางอุตสาหกรรมอันหลากหลายในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ป่าไม้ น้ำมัน เหมืองแร่ พันธุวิศวกรรม และประมง เป็นต้น ยิ่งชี้ชัดถึงความจำเป็นที่จะต้องควบคุม การติดตามและการเปิดเผยกิจกรรมต่างๆ ของบรรษัทในระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ที่ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น

หลักการมาบตาพุดว่าด้วยความรับผิดชอบทางสาธารณะของบรรษัทมี 8 ข้อด้วยกัน

1) นำหลักการริโอ ข้อ 13 มาปฏิบัติ
รัฐมีพันธะกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการให้มีการนำเอากลไกที่ใช้บังคับทางกฎหมายในระดับสากลมาใช้และออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้มีการดำเนินการตามหลักการข้อ 13 ในปฏิญญาริโอ เพื่อให้มีการชดใช้และชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม

2) ขยายภาระชดใช้ของบรรษัทแห่งชาติและบริษัทข้ามชาติ
บรรษัทแห่งชาติและข้ามชาติต้องถือเป็นภาระที่ต้องชดใช้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตัดสินว่ามีความผิดสำหรับ บางกรณีหรือทุกกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบรรษัทซึ่งเป็นผลให้สิ่งแวดล้อมหรือทรัพย์สินเสียหายหรือทำให้บุคคลได้รับความเจ็บป่วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสถานที่ด้วย

บรรษัทแม่ บริษัทลูกและบริษัทในเครือที่อยู่ในท้องถิ่นมีภาระต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย บรรษัทต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นตลอดวงชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น รัฐต้องดำเนินการให้มีการชดใช้เป็นรายบุคคลโดยผู้อำนวยการหรือเจ้าหน้าที่ของบรรษัทที่ปฏิบัติงานหรือละเลยการปฏิบัติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความบกพร่องในบริษัทลูกด้วย

3) บรรษัทแห่งชาติและบริษัทข้ามชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดกฎหมายภายในประเทศ
รัฐต้องประกันว่าบรรษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินที่เสียหาย ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าข้อกำหนดภายในประเทศ และค่าเสียหายอันเกิดกับสภาวะโลกด้วย เช่น ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร การชดใช้ต้องรวมถึงการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม

4) ปกป้องสิทธิมนุษยชน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องไม่จำกัดสิทธิของสังคมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของสังคมและสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะในด้านสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัย สิทธิที่จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลและได้รับค่าชดเชยสำหรับการเจ็บป่วยและความเสียหายที่เกิดขึ้น

สิทธิในการรับรู้ข้อมูล และสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมสิทธิดัง กล่าว บรรษัทต้องเคารพและสนับสนุนสิทธิเหล่านี้ รัฐต้องประกันว่าบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจะปฏิบัติตามหลักการสิทธิพื้นฐาน เหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล และดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

5) ดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิการรับรู้
รัฐต้องกำหนดให้บรรษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยทิ้งของเสียสู่สิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการ รวมทั้งองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณะเป็นประจำ

ความลับทางการค้าต้องไม่อยู่เหนือผลประโยชน์ที่สาธารณะจะได้รับจากการรับรู้ ถึงอันตรายและภาระผูกพันต่างๆ ที่พ่วงมาด้วยกับผลผลิตของบรรษัท ไม่ว่าจะในรูปของมลพิษของผลพลอยได้หรือตัวผลิตภัณฑ์เอง เมื่อใดที่ผลิตภัณฑ์นั้นเข้าสู่ตลาดสาธารณะ เมื่อนั้นจะต้องไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของสาธารณะโดยอ้างถึงความลับทางการค้า ความรับผิดชอบทางสาธารณะของบรรษัทต้องดำเนินการผ่านการรายงานการจัดการทางสิ่งแวดล้อม (รายงานผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม) อันเกิดจากกิจกรรมของบรรษัทที่มีความชัดเจน ครอบคลุมและเปิดเผยต่อสาธารณชน

4) ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุด
รัฐต้องรับประกันว่าบรรษัทจะยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดเพื่อปกป้องสิทธิพื้นฐานของสังคมและมนุษยชน รวมทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามปฏิญญาริโอข้อ 14

รัฐต้องไม่อนุญาตให้บรรษัทใช้มาตรฐานการดำเนินงานและความปลอดภัย ขั้นต่ำสุดในสถานที่ที่การป้องกันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังอ่อนแอ

5) หลีกเลี่ยงไม่ให้บรรษัทแห่งชาติและข้ามชาติมีอิทธิพลมากล้นเหนือธรรมาภิบาล
รัฐต้องประสานความร่วมมือเพื่อต่อต้านการให้สินบนในทุกรูปแบบ ส่งเสริมการให้การอุดหนุนทางการเงินที่โปร่งใส และกำจัดอิทธิพลของบรรษัทออกไปจากนโยบายสาธารณะซึ่งมักใช้วิธีการบริจาคใน การเลือกตั้ง และ/หรือการเจรจาต่อรองที่ไม่โปร่งใส

6) ปกป้องอธิปไตยทางอาหาร
รัฐต้องประกันว่ารัฐแต่ละแห่งและประชาชนในรัฐนั้นๆ มีอธิปไตยในแหล่งอาหารของตน โดยการออกกฎหมายและมาตรการเพื่อป้องกันความหลากหลายทางชีวภาพจากมลพิษทางพันธุกรรมอันเนื่องมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และป้องกันการจดสิทธิบัตรทรัพยากรทางพันธุกรรมโดยบรรษัท

7) ดำเนินหลักการป้องกันไว้ก่อนและมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม
รัฐต้องนำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อนเข้าไปอยู่ในกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศ เมื่อมีอันตรายคุกคามสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอย่างรุนแรงหรือไม่อาจเยียวยาให้ เหมือนเดิมได้จากกิจกรรม การดำเนินการหรือผลิตภัณฑ์ของบรรษัท

รัฐต้องบังคับให้บรรษัทนั้นนำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อนมาใช้ก่อนที่ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบต่อสุขภาพจะเกิดขึ้น ข้อโต้แย้งทางวิทยาศาตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือความไม่แน่นอนทั้งหลายต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำทางเลือกที่ปลอดภัยกว่ามาใช้ รัฐบาลต้องบังคับบรรษัททำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ประชาชน มีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

8) ส่งเสริมการพัฒนาที่สะอาดและยั่งยืน
รัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาที่สะอาดและยั่งยืน และต้องออกกฎหมายเพื่อยกเลิกการใช้ การทิ้งและการระบายสารอันตรายและก๊าซเรือนกระจกและแหล่งมลพิษอื่นๆ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ