“โซลาร์ รูฟท็อป”ป่วนหนัก ร้องขอความชัดเจน กกพ.กรณีขยายเวลาโครงการ-ใบ รง.4 สุดอืด ชี้ถ้าโครงการนี้ไปไม่รอดเกิดความเสียหายเกือบหมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกให้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) เปิดเผยว่า มีปัญหาเกิดขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการวิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการขยายกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งกำหนดไว้เป็นภายใน 31 ธันวาคม 2556

ขณะเดียวกันโครงการนี้ มีความจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เนื่องจากการพิจารณาตามมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้การประกอบกิจการโรงงานใด มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตก่อนเริ่มดำเนินการ เพื่อประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวก และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาช่องว่าง หน่วยงานใดที่จะมาดูแล

หากโครงการโซลาร์รูฟยังมีปัญหาความล่าช้านี้ ต่อสองประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการโซลาร์ รูฟท็อป ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เดือดร้อน ซึ่งส่อเค้าว่าจะเกิดความวุ่นวายและมีปัญหาตามมาในอนาคต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยจะมีปัญหาค่อนข้างสูง เนื่องจากมีประเด็นเรื่องกระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ เพราะได้จ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างและติดตั้งได้เนื่องจากรอใบอนุญาต รง.4 จึงอยากให้ทางการออกมาตรการที่ชัดเจน อนุญาต รง.4

” โครงการโซลาร์ รูฟท็อป ที่ผ่านมาได้อนุมัติไปแล้ว 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 100 เมกะวัตต์สำหรับบ้านพักอาศัยและอีก 100 เมกะวัตต์สำหรับโครงการขนาดใหญ่ตอนนี้กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะ กกพ.ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการดำเนินเรื่องใบอนุญาตทุกชนิดยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมา โดยเฉพาะเรื่องขยายระยะเวลาและก็ไม่สามารถยกเว้นใบ รง.4 ได้อย่างที่ กกพ.เคยแจ้งไว้ และที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการหลายรายได้สั่งซื้อสินค้าและอุปกรณ์เข้ามาบางส่วน โดยอยู่ระหว่างเตรียมการเริ่มก่อสร้าง แต่เมื่อไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับใบอนุญาต รง.4 เมื่อไหร่ และจะเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าได้ไปถึงเมื่อใด รวมถึงระยะเวลาก่อสร้างหลังจากได้รับใบอนุญาต รง. 4 จะเพียงพอที่จะก่อสร้างได้หรือไม่ จึงทำให้เป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับเอาไว้ อาทิ บางรายสั่งของมาแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ หรือมีบางรายได้ว่าจ้างผู้รับเหมาไปแล้ว ปัจจุบันเริ่มจะไม่มีเงินไปจ่ายให้กับผู้รับเหมาแล้ว ทำให้งานค้าง ดังนั้นอาจะเป็นประเด็นที่ส่อเค้าว่าจะเกิดความวุ่นวายในอนาคต จึงอยากให้ กกพ.และกระทรวงพลังงาน แสดงจุดยืนว่าจะดำเนินการอย่างไร”

กลุ่มผู้ประกอบการ กล่าวต่อว่าหากโครงการดังกล่าวต้องสะดุด หรือระงับไป คาดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 7,000-8,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ประกอบการได้รวมตัวกันและส่งเรื่องถึงสภาอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) เพื่อให้เป็นตัวแทนในการประสานงานต่อไป และทราบว่าภายในสัปดาห์นี้จะยื่นเรื่องเสนอเข้าไปยัง กกพ. อีกครั้ง หลังจากที่ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้ทราบว่าผู้ประกอบการทั้งหมดเดือดร้อนแล้วและ ต้องการให้มีความชัดเจน ไม่ต้องการให้ปัญหาคาราคาชัง

“เกี่ยวกับเรื่องใบ รง.4 ที่ล่าช้า ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรและติดขัดตรงไหน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการดำเนินงานตามขั้นตอนทุกอย่าง ตั้งแต่การเข้าไปคุยกับ อบต. ให้มาดูโรงงานและคำนวณว่ามันมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน สามารถก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกใบ อ.1 (ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร) เรียบร้อย จากนั้นก็รวบรวมเอกสารแล้วไปติดประกาศที่จังหวัดอีก 15 วัน และส่งเรื่องมาที่ส่วนกลาง ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อจากนี้คือผู้ใหญ่ในกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติ แต่ขณะนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนดังกล่าว และสาเหตุที่ 2 เรื่องการขยายเวลา ซึ่ง กกพ. มีอำนาจคนเดียวที่จะอนุมัติ แต่ กกพ.ก็ไม่ประกาศว่าจะขยายหรือไม่ขยาย ยังคงเงียบอยู่และหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินเรื่องดังกล่าวมีเพียง กกพ. เท่านั้น คือถ้าไม่ได้ใบอนุญาต รง.4 ก็ควรจะเลื่อนระยะเวลาออกไปอีกประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่เรื่องก็เงียบไป ปล่อยให้เป็นสุญญากาศแบบนี้ผู้ประกอบการก็ตาย ” แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด

กลุ่มธุรกิจหลัก ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกในรอบนี้ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (TSE) ของนางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 11 โครงการ กำลังการผลิต 11,000 กิโลวัตต์, กลุ่มบริษัทสกายโซล่าร์ พาวเวอร์ ของนางสาวปาลีรัฐ ปานบุญห้อม จำนวน 5 โครงการ กำลังผลิต 4,800 กิโลวัตต์, บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ บมจ. เอสพีซีจีจำนวน 9 โครงการ กำลังการผลิต 4,234 กิโลวัตต์, บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิต 2,673.96 กิโลวัตต์, กลุ่มไทยซัมมิท จำนวน 3 โครงการ กำลังผลิต 2,411.28 กิโลวัตต์, บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 4 โครงการ กำลังผลิต 3,297.84 กิโลวัตต์, กลุ่ม บมจ.เด็มโก้ จำนวน 7 โครงการ กำลังผลิต 3,193.86 กิโลวัตต์

นอกจากนี้ยังมี บริษัท เอสเอฟ ดีเวลล็อปเมนท์ ซึ่งดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าได้รับเลือกจำนวน 1 โครงการ กำลังผลิต 1,000 กิโลวัตต์, กลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้จัดตั้งบริษัทมิตรผล ไบโอ เพาเวอร์ จำนวน 1 โครงการ 989 กิโลวัตต์, กลุ่ม บมจ. ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำนวน 3 โครงการ 1,290.92 กิโลวัตต์ และกลุ่มอพอลโล่ โซล่าร์ ซึ่งมีนายวีระเดช เตชะไพบูลย์ กับนายตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการได้รับสิทธิ์ 3 โครงการ กำลังผลิต 2,221.56 กิโลวัตต์ เป็นต้น