#จักรยานสองขาท้าโลก
ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก
The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe
ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย
——————
ประชากรในประเทศโลกที่สามน้อยกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ที่มีเงินซื้อรถยนต์มาใช้ ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง นำเอาวิธีคิดเรื่องการคมนาคม มาพร้อมกับรถยนต์ วิศวกรที่ร่ำเรียนมาจากตะวันตกและกลุ่มชนชั้นสูงที่ขับรถยนต์คือผู้ยึดกุมนโยบายการคมนาคม ผลคือ ผู้คนจำนวนล้าน ถูกทิ้งให้เดินเท้า ไม่มีความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน ไปโรงเรียน ตลาด และไปใช้บริการต่างๆ
หลายประเทศส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานให้เป็นนโยบายการคมนาคมขนส่งของประเทศ นโยบายสาธารณะในจีนและญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มสนับสนุนการเดินทางด้วยจักรยาน เมื่อการเดินทางด้วยรถยนต์ไม่มีความสะดวกและทำให้ประชนชนมีทางเลือกน้อยลง ปัจจุบัน ประเทศอุตสาหกรรมหลายแห่ง ใช้จักรยานเป็นทางเลือก นอกจากการพึ่งพารถยนต์ที่มากเกินความจำเป็น
นโยบายสาธารณะสามารถกำหนดให้มีการใช้จักรยานหลายวิธีด้วยกัน การสร้างถนนที่มีความปลอดภัยหรือเครือข่ายเส้นทางจักรยาน เช่น จัดให้มีเส้นทางเฉพาะของจักรยาน และช่องทางจักรยานบนถนนและไหล่ถนน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ขี่จักรยาน เป็นต้น การปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้จะทำให้ผู้ขี่จักรยานและผู้ใช้รถยนต์ เดินทางถึงจุดหมายที่ต้องการอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างที่จอดรถจักรยานไว้ตามสถานีขนส่ง คือ ทางเลือกหนึ่งที่เรียกกันทั่วไปว่า Bike and Ride (ขี่จักรยานไปนั่งรถเมล์) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์
รัฐบาลอาจส่งเสริมบรรยากาศการใช้จักรยานอีกทางหนึ่ง คือ ทำให้ผู้ใช้รถยนต์รับภาระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน โดยการดึงงบประมาณที่ซ่อนเร้นออกมา เช่น เงินอุดหนุนสร้างที่จอดรถยนต์ เป็นต้น และทบทวนโครงสร้างภาษีเพื่อแจกแจงให้เห็นการลงทุนสร้างถนนและค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหามลพิษ ซึ่งทำให้น้ำมันเชื้อเพลิง อากาศบริสุทธิ์และที่ดินกลายเป็นทรัพยากรที่ขาดแคลน
การส่งเสริมจักรยานไม่ได้หมายถึงการต่อต้านการใช้รถยนต์ เนเธอร์แลนด์ – ประเทศที่มีบรรยากาศเป็นมิตรกับคนขี่จักรยานมากที่สุดในบรรดาชาติอุตสาหกรรมทั้งหลาย และมีบริการขนส่งมวลชนอย่างดี – มีเส้นทางจักรยานและรถยนต์หนาแน่นสูงที่สุดในกลุ่มประเทศตะวันตก ยิ่งมีการใช้จักรยานและบริการขนส่งมวลชนมากเพียงใด จะช่วยชะลอการใช้รถยนต์ที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เมืองจะไม่มีอากาศให้หายใจ และการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วรตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน
หากไร้ซึ่งปฏิบัติการที่เป็นจริงของปัจเจกชน กลุ่มบุคคล และองค์กรต่างๆ การส่งเสริมการใช้จักรยานให้แพร่หลาย ก็ไม่อาจเป็นจริง จากจุดนี้ สังคมโดยรวมจะค่อยๆ มองเห็นความสำคัญของการใช้จักรยานและทางเลือกใหม่ นั่นคือ ระบบการคมนาคมอันหลากหลายที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีค่าใช้จ่ายต่ำ ทำให้ผู้คนจำนวนล้านได้เดินทางไปมา การบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องไปให้พ้นจากหลุมพรางของการแก้ไขปัญหาการคมนาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างบทบาทสำคัญของจักรยาน – พาหนะแห่งอนาคต – ให้เป็นความจริง