#จักรยานสองขาท้าโลก
ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก
The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe
ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย
———————-
ในเมืองจีน เสียงของการจราจรบนท้องถนน คือ เสียงวืดๆ ของล้อจักรยาน และเสียงกริ๊งๆ ของกระดิ่งทั่วภูมิภาคเอเชียใต้ พาหนะที่ใช้แรงถีบจะต่อเข้ากับรถลาก ตะกร้า และแท่นบรรทุกที่ลำเลียงทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผู้โดยสารไปจนถึงหมูที่ส่งเสียงร้องอิ๊ดๆ และกระสอบข้าว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในนิคารากัวขี่จักรยานไปรักษาคนไข้ตามหมู่บ้านชนบทอันห่างไกล คนทำฟาร์มโคนมในเคนยาขี่จักรยานเดินทางไปส่งนม บุรุษไปรษณีย์ในออสเตรเลียขี่จักรยานไปทั่วเมืองพร้อมด้วยถุงจดหมายและพัสดุ ในยุโรป ผู้สัญจรไปมามักใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไปทำงาน และในอเมริกาเหนือ คนขี่จักรยานส่งเอกสารจำนวนนับพันคนเคลื่อนที่ด้วยความเร็วผ่านรถยนต์ซึ่งจอดนิ่งท่ามกลางสภาพจราจรที่ชะงักงันในศูนย์กลางเมือง
จักรยานส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในทวีปเอเชีย เฉพาะประเทศจีนมีประมาณ 300 ล้านคัน นั่นคือ คนจีนทุกๆ 4 คน มีจักรยานมากกว่า 1 คัน หรือคนจีนในเมืองทุกๆ 2 คน มีจักรยานเกือบ 1 คัน การควบคุมการจราจรบริเวณทางแยกในเมืองเทียนจินซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ ครั้งหนึ่งเคยนับจำนวนจักรยานที่ผ่านมาได้มากกว่า 5 หมื่นคันภายในเวลา 1 ชั่วโมง
คนจีนที่เดินทางไปมามีทางเลือกน้อย ส่วนมากจะเลือกใช้จักรยาน คนจีน 1 ในจำนวน 74,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น ที่สามารถมีรถยนต์เป็นของตนเอง คนในประเทศอุตสาหกรรมนิยมใช้จักรยานเช่นเดียวกับรถยนต์เพราะมีความสะดวกในการเดินทางไปมาโดยลำพัง และเป็นการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งโดยตรง โดยไม่ต้องเดินทางอ้อมหรือหยุดรอเหมือนกับผู้โดยสารคนอื่นๆ เมื่อจักรยานและบริการขนส่งมวลชนใช้เวลาเดินทางเท่ากันในเส้นทางเดียวกัน ชาวจีนที่เดินทางไปมาส่วนใหญ่จึงชอบขี่จักรยานมากกว่า
ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หมิง เคยขี่จักรยานไปรอบๆ พระราชวังต้องห้ามเมื่อทรงพระเยาว์เป็นเวลานานแล้ว ก่อนที่ประชาชนทั่วไปจะมีเงินซื้อจักรยานได้ อีก 7 ทศวรรษหลังจากนั้น นับตั้งแต่คริสตวรรษที่ 60 จีนรู้จักกันในนาม “อาณาจักรแห่งจักรยาน” ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ฝูงจักรยานในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 3 เท่า การขายจักรยานที่ผลิตในประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2530 มีถึง 35 ล้านคันมากกว่าจำนวนการขายรถยนต์ทั่วโลกรวมกัน
ที่ไหนๆ ในทวีปเอเชีย จักรยานมักเป็นส่วนประกอบ 2 ใน 3 ส่วนของจำนวนพาหนะบนถนนในเมืองในชั่วโมงเร่งรีบ ระบบขนส่งของเมืองในเอเชียหลายแห่งขยายออกไปด้วยบริการขนส่งมวลชนเสริม (Paratransit) ที่ใช้แรงถีบ ประกอบด้วยรถสามล้อรับจ้างซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ นานา คือ Rickshaws, Trishaw, Pedicabs และ Becaks สามล้อสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้หนึ่งคนหรือมากกว่านั้น การดัดแปลงจักรยานอย่างชำนิชำนาญเช่นนี้ มีมากกว่าการดัดแปลงรถยนต์ในที่ไหนๆ รถสามล้อคือแท็กซี่แห่งเอเชีย และสามล้อสำหรับงานหนักซึ่งบรรทุกสัมภาระได้ครึ่งตันขึ้นไปก็เหมือนรถบรรทุกขนาดเล็ก ในบังคลาเทศเฉพาะสามล้ออย่างเดียวขนสัมภาระหนักเป็นตันได้มากกว่าพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์รวมกัน
ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้แทบไม่มีการคมนาคมขนส่งด้วยจักรยาน ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา แม้กระทั่งลาตินอเมริกา รัฐบาลสร้างค่านิยมที่ว่า ใครมีรถยนต์ ผู้นั้นมีอำนาจและได้รับการยอมรับนับถือ ทำให้ประชาชนมองข้ามพลังงานรถถีบและดูหมิ่นเหยียมหยามจักรยานว่าเป็นพาหนะของคนจน ก่อนประเทศอาณานิคมในแอฟริกาจะได้รับเอกราช มีเส้นทางจักรยานในเมืองต่างๆ แต่ช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เส้นทางจักรยานส่วนมากถูกทำลายหรือถูกทิ้งร้าง สตรีแอฟริกาหลายคนไม่ขี่จักรยานเพราะขัดกับประเพณีหรือศาสนา หรือเพราะการแต่งกายที่รกรุงรัง
ทวีปแอฟริกาและลาตินอเมริกาไม่มีอุตสาหกรรมจักรยานของประเทศ เหมือนประเทศในเอเชียซึ่งมีอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่มากมาย จักรยานที่พอใช้ได้บ้างก็มักมีคุณภาพต่ำ อะไหล่หายากและขาดทักษะและความชำนาญในการซ่อมแซม ตัวอย่างเช่น ประมาณร้อยละ 80 ของจักรยานในนิคารากัว ไม่มีการดูแลรักษาซ่อมแซมที่ดี
แม้จะมีอุปสรรค คุณประโยชน์ของจักรยานและการไม่มีทางเลือกในการคมนาคมทำให้มีการใช้จักรยานอย่างเข้มข้นมากขึ้นในบางแห่งของแอฟริกา แม้ว่าต้องใช้สายเบรคที่เก่าจนใช้การไม่ได้หรือเติมทรายใส่ยางในที่รั่ว บางแห่งในซิมบับเว กานา และอีกสองสามประเทศก็ใช้จักรยานกันมาก