#จักรยานสองขาท้าโลก

ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก

The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe

ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย

——————

เมืองที่ตกอยู่ในสภาพการจราจรมากที่สุดในโลก รถยนต์อาจวิ่งด้วยแรงเฉลี่ยก่อนที่จะวิ่งด้วยน้ำมัน รถยนต์เคลื่อนไปตามถนนได้ช้ากว่าจักรยาน ด้วยความเร็วเฉลี่ยในช่วงเวลาเร่งด่วน บางครั้งอาจลงไปถึง 8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สถานีตำรวจหลายแห่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงลอนดอน ลอสแองเจลลีสและเมืองอื่นๆ เจ้าหน้าที่ใช้จักรยานมากกว่ารถยนต์ เพื่อควบคุมการจราจรในศูนย์กลางเมือง

แม้กระทั่งประเทศโลกที่สาม การจราจรบนถนนในเมืองใหญ่อยู่ในภาวะตีบตัน ความหนาแน่นของการจราจรในเมืองหลวงของใต้หวันมีมากกว่าลอสแองเจลิส 10 เท่า และคนทำงานในเมืองเม็กซิโกซิตี้ใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไปเพื่อเดินทางไปทำงานและกลับที่พัก เมืองหลวงของไนจีเรีย ซึ่งมีรถยนต์เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงน้ำมันบูม เมื่อคริสตทศวรรษที่ 70 เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนหนึ่งกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดของการทำงานในเมืองลากอส หนึ่งในสี่ส่วนของปัญหาคือการเดินทางไปที่ทำงาน ที่เหลือจากนั้นคือการเดินทางกลับบ้าน

ความสูญเสียอันน่าสะพรึงกลัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาจราจรติดขัดจะเพิ่มเป็นทวีคูณ หากการเดินทางด้วยรถยนต์มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สหพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษเคยประกาศว่า ค่าใช้จ่ายจากการจราจรติดขัดในอังกฤษคิดเป็น 24 พันล้านเหรียญต่อปี รวมเวลาทำงานที่หายไปจากการเดินทางมาทำงานช้าของพนักกงาน และสินค้าราคาแพงอันเป็นผลมาจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น องค์การทางหลวงแห่งสหรัฐอเมริกาจ่ายงบประมาณ 9 พันล้านเหรียญ เพื่อแก้ไขการจราจรติดขัดใน พ.ศ.2527 คาดว่าใน พ.ศ.2548 จะเพิ่มขึ้น 5 เท่า ปริมาณของรถยนต์ที่คำนวนอัตราการเพิ่มไว้ว่ามีประมาณร้อยละ 50 ได้ออกมาวิ่งเพ่นพ่านอยู่บนถนนแล้ว การเดินทางไปมาแต่เดิมที่ใช้เวลา 10-15 นาที ก็เพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง และบนท้องถนนดูเหมือนจะมีรถราคับคั่งตลอดทั้งวัน

จวบถึงปัจจุบัน นักวางแผนก็ยังคิดหาคำตอบในเชิงเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากรถยนต์ หากไม่ส่งเสริมทางเลือกในกากรเดินทางแบบอื่นๆ แล้ว การแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีจะไม่พบทางออก เช่น การใช้ Catalytic Converter เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอนในสหรัฐอเมริกานั้น แท้จริงแล้วกลับทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซที่เป็นสาเหตุการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ Converter และเทคโนโลยีอื่นๆ ลดมลพิษจากรถยนต์โดยสารในสหรัฐอเมริกาลงได้อย่างเหลือเชื่อนับตั้งแต่ต้นคริสตทศวรรษ 60 แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณรถยนต์และระยะทางที่รถยนต์เดินทาง ได้หักลบกลบหนี้การลดมลพิษจากกรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว

การค้นหาพลังงานแทนปิโตรเลียม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นเชื้อเพลิงที่ “สะอาด” อย่างเช่น เมธานอลจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ และแอลกอฮอล์ที่กลั่นจากข้าวโพดหรือพืชพรรณอื่นๆ แต่เมธานอลมีส่วนทำให้เกิดโอโซน ถ้าเป็นเมธานอลจากถ่านหินจะมีผลต่อการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือเมื่อเมธานอลถูกสันดาปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยพลังงานออกมามาก 2 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไม้น้ำมันปิโตรเลียม การใช้พืชที่เลี้ยงปศุสัตว์มาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและขัดแย้งกับเรื่องการผลิตอาหาร

การสร้างถนนเพิ่ม จะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดหรือไม่ นักวางแผนด้านการคมนาคมขนส่งพบว่า การสร้างถนนสายใหม่จะดึงดูดให้มีรถยนต์เพิ่มขึ้น คนขับรถยนต์โดยสารประจำทางจะเริ่มใช้ถนนนี้ และการพัฒนาใหม่ๆ จะผุดขึ้นสองข้างทาง การศึกษาวิจัยของกรมการขนส่งแห่งแคลิฟอร์เนียปี พ.ศ.2531 สรุปว่า ไม่ว่าจะมีโครงสร้างถนน 61 พันล้านเหรียญหรือโครงการสร้างถนนอื่นๆตามมา ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดได้เลย

หรือถ้าแก้ไขปัญหาได้ ก็หมายถึงการนำทรัพยากรทั้งหลายไปทุ่มเทให้กับการคมนาคมขนส่งด้วยรถยนต์ เมืองในประเทศอุตสาหกรรม โดยทั่วไปใช้พื้นที่เพื่อสร้างถนนและที่จอดรถยนต์อย่างน้อยที่สุด 1 ใน 3 ของที่ดินในเมือง Robert Parris อดีตผู้บริหารองค์การทางหลวงแห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวว่า “เราไม่สามารถราดยางหรือเทคอนกรีตเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตของการจราจรได้อีกต่อไปแล้วโดยสิ้นเชิง เราไม่มีเวลาพอ ขาดงบประมาณและไม่มีพื้นที่ไหนจะทำเช่นนั้นได้”

แม้แต่ประเทศโลกที่สามซึ่งมีความกดดันในการจัดหาที่อยู่อาศัยและอาหารมาเลี้ยงดูประชากร ก็มีพื้นที่ว่างไม่มากนักสำหรับเก็บรถยนต์ส่วนตัว ในเขตที่ประชากรและพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นดีกระจุกตัวอยู่ในบริเวณขนาดเล็กดังเช่นประเทศจีน ทางเลือกยิ่งมีน้อยลง กรณีของประเทศจีน หากต้องการสร้างถนนทั่วประเทศให้มีพื้นที่ต่อคนเท่ากับสหรัฐอเมริกา (ประมาณ 0.06 เฮกตาร์) นั่นหมายความว่าต้องใช้ที่ดินรวมทั้งสิ้น 64 ล้านเฮกตาร์ หรือ มากกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ ของพื้นที่เกษตรของประเทศ

สำหรับคนที่ขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์ เขาจะก่อมลพิษน้อยลง ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงและใช้พื้นที่บนถนนน้อยลง จักรยานสามารถใช้แทนรถยนต์ในการเดินทางระยะใกล้ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งระยะทางใกล้ๆนี้ การใช้รถยนต์จะก่อให้เกิดมลพิษมากที่สุดเพราะเครื่องยนต์ที่เย็นเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น หากเปลี่ยนมาขี่จักรยานในการเดินทางระยะใกล้ จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงมาก ลองมาคิดดูว่า ระยะการเดินทางไปทำงานและกลับที่พัก ในสหรัฐอเมริกามากกว่าครึ่งหนึ่ง และในอังกฤษเกือบ 3 ใน 4 ส่วนจะอยู่ในรัศมี 8 กิโลเมตรหรือน้อยกว่า ดังนั้น การขี่จักรยานเดินทางในระยะใกล้อาจเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายอากาศสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการเดินทางระยะไกลออกไป การเชื่อมโยงการเดินทางด้วยจักรยานเข้ากับระบบขนส่งมวลชน โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานีขนส่ง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการใช้พลังงานและมลพิษทางอากาศลงมาก จากการวิเคราะห์ของกรมขนส่งแห่งเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ.2523 “ไบค์ แอนด์ ไรด์ – ขี่จักรยานไปนั่งรถขนส่งมวลชน” เป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและคาร์บอนมอนนอกไซด์ การสร้างที่จอดรถจักรยานตามสถานีขนส่ง ช่วยลดการปล่อยไฮโดรคาร์บอนคิดเป็นเงิน 311 เหรียญต่อตัน เทียบกับการบริการด่วน “ปาร์ค แอนด์ ไรด์ – ขับรถยนต์ไปนั่งรถเมล์” ซึ่งใช้งบประมาณในการลดการปล่อยไฮโดรคาร์บอนเป็นเงิน 96,415 เหรียญต่อตัน และเป็นการบริการร่วมระหว่างรถยนต์-รถไฟ ซึ่งใช้งบประมาณในการลดการปล่อยไฮโดรคาร์บอนเป็นเงิน 3,937 เหรียญต่อตัน ส่วนกรณีของการลดการปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์อยู่ในอัจตราที่ใกล้เคียงกัน