#จักรยานสองขาท้าโลก
ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก
The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe
ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย
——————
มลรัฐ 33 แห่งในสหรัฐอเมริกามีมาตรการส่งเสริมจักรยานตามแผนงานที่ดำเนินการภายใต้รัฐบัญญัติอากาศสะอาด ค.ศ. 1970 และอีกหลายมลรัฐได้ดำเนินการหลังจากรัฐบัญญัติฉบับบแก้ไข ค.ศ. 1989 ออกมามีการบังคับใช้เทศบัญญัติลดการเดินทางไปมาด้วยรถยนต์ในเมืองลองแองเจลิส กล่าวคือ ผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ต้องลดอัตราส่วนของรถยนต์กับการเดินทางไปกลับของพนักงานลง มาตรการนี้มีผลบังคับใช้อีกหลายเมืองทางตะวันตก และกำหนดให้มีที่จอดรถจักรยานและห้องอาบน้ำของพนักงานโดยเฉพาะ
ในยุโรป รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศแผนงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งได้รวมค่าธรรมเนียมการใช้ถนนและเงินภาษีที่หักคืนเพื่อนำไปใช้ในการขยายบริการขนส่งมวลชนและจักรยาน เมืองในประเทศอิตาลีหลายแห่งที่รุมล้อมไปด้วยอากาศเสียและหมอกควันพิษจากรถยนต์ซึ่งเป็นอัตรายต่อสุขภาพและทำให้แหล่งประวัติศาสตร์เกิดความเสียหาย ได้จำกัดรถยนต์ที่ไม่มีความจำเป็นเข้าไปยังเขตศูนย์กลางเหล่านั้น และส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์หันมาขี่จักรยาน
การใช้เอธานอลที่กลั่นจากข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานปิโตรเลียม ผู้วางนโยบายมองข้ามกลวิธีที่เปลี่ยนอาหารให้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง นักขี่จักรยานสามารถเดินทางในระยะ 3 ไมล์ครึ่งโดยใช้พลังงาน (คิดเป็นจำนวนแคลอรี่) เท่ากับข้าวโพด 1 เมล็ดโดยไม่ต้องผ่านการกลั่น จักรยานใช้พลังงานต่อคนต่อระยะทาง(ไมล์) น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการเดินเท้า การขี่จักรยานระยะ 10 ไมล์ ใช้พลังงาน 350 แคลอรี่หรือเท่ากับข้าว 1 จาน การเดินทางในระยะเดียวกันด้วยรถยนต์อเมริกันใช้พลังงานถึง 18,600 แคลอรี่โดยเฉลี่ยหรือเท่ากับน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าครึ่งแกลลอน
การวิจัยในสหราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ.2523 มีการคำนวณว่า ถ้าเพียงร้อยละ 10 ของการเดินทางด้วยรถยนต์ระยะ 10 ไมล์ เปลี่ยนมาเดินทางด้วยจักรยาน จะประหยัดน้ำมันได้ถึง 14 ล้านบาร์เรลต่อปี หรือเท่ากับร้อยละ 2 ของการใช้น้ำมันทั่วประเทศทั้งหมด การรณรงค์ระดับชาติในเนเธอร์แลนด์เมื่อ พ.ศ.2529 ทำให้คนขับรถยนต์เปลี่ยนมาขี่จักรยานเพื่อเดินทางภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากบ้าน ผู้วางนโยบายคาดว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ผู้ใช้รถยนต์แต่ละคนประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อยที่สุด 400 เหรียญต่อปี
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนอเมริกาที่เดินทางไปมาเมื่อ พ.ศ.2526 แสดงให้เห็นว่า การขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์ไปใช้บริการขนส่งมวลชนทำให้แต่ละคนประหยัดน้ำมันรถประมาณ 150 แกลลอนต่อปี เมื่อคนขับรถยนต์ผู้ซึ่งเคยกระทำทุกวิถีทางเพื่อขับรถยนต์ไปทำงานได้เปลี่ยนมาเดินทางแบบ “ไบด์ แอนด์ ไรด์ – ขี่จักรยานไปนั่งรถขนส่งมวลชน” แต่ละคนจะลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 400 แกลลอนต่อปี หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงด้วยรถยนต์ต่อปี ถ้าคนอเมริกาที่เดินทางไปมาด้วยรถยนต์จำนวนร้อยละ 10 เปลี่ยนมาเดินทางแบบ “ไบด์ แอนด์ ไรด์” จะลดการนำเข้าน้ำมันของประเทศได้เกือบ 1 พันล้านเหรียญ (หากคิดจากราคาเมื่อ พ.ศ.2532)
การขี่จักรยานใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการขับรถยนต์ ความจริงการเดินทางเดินรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะบริการขนส่งมวลชน สามารถเคลื่อนย้ายคนต่อชั่วโมงต่อขนาดช่องทางที่กำหนดได้มากกว่ารถยนต์ เมื่อจักรยานทำให้มีการเคลื่อนย้ายส่วนตัวในระดับเดียวกับรถยนต์ การขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์เพื่อเดินทางในระยะสั้นสามารถลดความคับคั่งของการจราจรโดยไม่จำกัดอิสระในการเลือกจุดหมายปลายทางและระยะเวลาในการเดินทางของคน การขี่จักรยานไปใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการขับรถยนต์เพื่อเดินทางไปมาระยะไกล จะทำให้ถนนแออัดน้อยลง
การแก้ไขปัญหาจราจรได้สำเร็จจะทำให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้น ไม่เพียงแต่ผู้ขับรถยนต์ที่หันมาใช้จักรยานเท่านั้น เมืองต่างๆ ในประเทศอุตสาหกรรมปิดการเดินรถยนต์ชั่วคราวบนถนนสายหลัก ทำให้ผู้ขับรถยนต์เปลี่ยนมาขี่จักรยานและเดินเท้ากันทั่วไป เมื่อ พ.ศ.2526 Augusto Ramirez Ocampo นายกเมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย จัดทำโครงการหนึ่งขึ้นมาภายใต้สโลแกน “เมืองเพื่อประชาชน” ถนนสายสำคัญ 56 กิโลเมตร ปิดการเดินรถยนต์ทุกเช้าวันอาทิตย์ ชาวเมืองจำนวนครึ่งล้านออกมาเดินขี่จักรยาน และเล่นสเกตบนถนน
การขี่จักรยานช่วยฟื้นฟูสมดุลชีวิตให้กับคนที่ผูกติดกับรถยนต์ทุกวัน อีวาน อีลิช ปราชญ์ตะวันตก เคยสรุปว่า “ผู้ชายอเมริกันโดยเฉลี่ยใช้เวลา 4 ชั่วโมงใน 16 ชั่วโมงที่ตื่นขึ้นมา (ขับรถยนต์) หรือไม่เก็บหอมรอมริบสิ่งต่างๆ ไว้เพื่อรถยนต์”
ในการคำนวณเวลาที่คนสมัยใหม่ใช้สำหรับรถยนต์และการเดินทางแล้วพบแล้ว ผู้ชายอเมริกันทั่วไปใช้เวลาในการนี้ถึง 16,000 ชั่วโมงต่อปี ตัวเลขดังกล่าวมิได้หมายถึงเวลาที่ใช้ในรถขณะเดินทางหรือขณะรถติดเท่านั้น หากยังรวมถึงเวลาที่ใช้ในการหาที่จอดรถ ในการทำงานเพื่อเงินดาวน์และผ่อนส่งรถ ซื้อน้ำมันรถ จ่ายประกันและภาษี โดยเฉลี่ยในวันหนึ่งๆ จากจำนวน 16 ชั่วโมงที่ใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับสังคม แต่ละคนจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงอยู่บนรถและหาเงินมาใช้ในการเดินทาง ตัวเลขดังกล่าวยังมิได้รวมถึงเวลาที่จะต้องเสียไปในกิจการที่เกี่ยวกับรถยนต์และการเดินทาง เช่น การรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสู้คดีในศาล (เมื่อเกิดอุบัติเหตุ) และซ่อมรถหรือติดต่อช่างและบริษัทประกันภัยหากรถเสียขึ้นมารวมเวลาที่สูญเสียไปในการดูโฆษณาเพื่อเลือกซื้อรถ โดยที่ในปีหนึ่งๆ คนอเมริกันเดินทางด้วยรถยนต์ 12,000 กิโลเมตร เมื่อมาคำนวณกับเวลาที่ใช่ไปกับรถ 16,000 ชั่วโมงต่อปีแล้ว พบว่าในเวลา 1 ชั่วโมงที่เสียไปกับรถนั้น รถยนต์พาเราไปได้ไกลเพียง 8 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่เทียบไม่ได้กับรถม้าหรือรถจักรยานเสียด้วยซ้ำ
การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย การผจญกับภาวะจราจรติดขัดทุกวัน ทำให้ความดันโลหิตของผู้ขับรถเพิ่มขึ้น หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวและขับรถก้าวร้าว หากไม่รวมการขี่จักรยานบนถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ (เพราะไม่มีทางเลือกอื่น) การขี่จักรยานจะเกิดผลดีกับตัวคนขี่และนายจ้างได้ประโยชน์กล่าวคือ ลูกจ้างมีความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจโคโรนารีน้อยลงและไปถึงที่ทำงานอย่างกระปรี้กระเปร่า เรื่องตลกเรื่องหนึ่งคือ คนที่ชอบขี่จักรยานเพื่อสุขภาพหลายคนนิยมใช้จักรยานแบบอยู่กับที่ โดยที่เขาเหล่านั้นขับรถยนต์เพื่อไปขี่จักรยานออกกำลังกายที่ศูนย์สุขภาพ
เมื่อคิดถึงผลดีต่อสังคมและปัจเจกชนจักรยานคือยานพาหนะเพื่อโลกใบน้อยอย่างแท้จริง Charles Komanoff นักกิจกรรมจักรยานแห่งเมืองนิวยอร์คสหรัฐอเมริกา เคยเขียนว่า “จักรยานเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกลมกลืนกับมนุษย์ คือส่วนหนึ่งของการแสดงพลังทางนิเวศวิทยาของเมืองนิวยอร์ค…คือทางเลือกที่มีชีวิตและลมหายใจของเมืองที่ถูกครอบงำด้วยรถยนต์ จักรยานคือมนต์ขลังของการเดินทางที่บรรสานสอดคล้อง เรารู้สึกได้ถึงสายลมที่ผ่านผิวหน้า ความจริงแท้ของการเดินทางข้ามเมืองด้วยพลังของตนเอง”