#จักรยานสองขาท้าโลก

ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก

The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe

ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย

——————

รถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ทำให้สังคมอุตสาหกรรมมีการเดินทางส่วนบุคคลและความสะดวกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ได้พิจารณามานานแล้วในฐานะ “ยานพาหนะแห่งอนาคต” แต่ประเทศต่างๆ ที่ใช้รถยนต์กำลังสูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ทุกๆ ปี การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น อากาศเป็นพิษและการจราจรคับคั่งในเมืองเพิ่มความรุนแรงขึ้น การเดินทางในระยะใกล้ ผู้ที่เลือกใช้รถยนต์ก็ไม่สะดวกสบายสักเท่าไร ซ้ำร้ายยังกีดกันไม่ให้คนเดินเท้าและคนขี่จักรยานร่วมใช้เส้นทาง การมีทางเลือกในการเดินทางอย่างกว้างขวางนอกเหนือไปจากการขับรถยนต์ ไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์เท่านั้น ยังหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองอีกด้วย

แม้จะมีการปรับปรุงกฏหมายหรือมาตรการด้านความปลอดภัย แต่ละปี ประมาณว่า 1 ใน 4 ของคน 1 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ส่วนผู้บาดเจ็บนั้นมีจำนวนหลายล้านคน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีคนขับรถยนต์น้อยกว่าและมีคนเดินเท้ามากกว่า ไม่ได้แยกเส้นทางสัญจรไปมาของคนทั้งสองกลุ่ม ทำให้มีอัตรการตายต่อระยะการเดินทางด้วยรถยนต์ (หน่วยเป็นไมล์) มากกว่า 20 เท่า สูงกว่าประเทศอุตสาหกรรม อุบัติเหตุรถยนต์กลายเป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิต

เกือบทุกคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ต้องเผชิญกับอากาศเป็นพิษ – อันตรายชนิดหนึ่งของยุคยานยนต์ รถยนต์และพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ต่างๆ ทำให้เกิดอากาศเป็นพิษมากกว่ากิจกรรมอื่นใดของมนุษย์ เครื่องยนต์แก๊สโซลีนและดีเซลปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนและไนโตรเจนออกไซด์ออกมาเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งหมดทั่วโลก ตะกั่วในอากาศ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และมลพิษอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีอันตรายและบางชนิดเป็นพิษหรือก่อให้เกิดมะเร็ง ยังถูกพ่นออกมาจากท่อไอเสียอีกด้วย

การศึกษาขององค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติเมื่อไม่นานมานี้ประมาณว่า เมืองต่างๆ กว่าครึ่งโลก มีระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่เป็นอันตราย จำนวน 1 ใน 3 ของบรรดาเมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่มีความเข้มข้นของตะกั่วอยู่ในระดับอันตรายและมีค่าเกินกว่าที่จะยอมรับได้ การศึกษายังประมาณอีกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนคนเมืองในอเมริกาเหนือและยุโรป สูดดมไนโตรเจนออกไซด์ในระดับที่เกินค่ามาตรฐาน

ปฏิกิริยาเคมีของแก๊สที่ถูกพ่นออกมาจากท่อไอเสียนี้ สร้างปัญหาไปทั่วมหานครใหญ่ ทำให้เด็ก คนแก่และทารกในครรภ์ ป่วยและเสียชีวิตจากโรคปอดและถุงลมโป่งพอง โอโซนเป็นส่วนประกอบหลักของหมอกควันพิษที่เกิดจากรถยนต์ เมื่อโอโซนอยู่ในรูปของไนโตรเจนออกไซด์และไฮโดรคาร์บอนจะทำปฏิกิริยากับแสงอาทิตย์ โอโซนซึ่งโดยธรรมชาติเป็นตัวกรองแสงอุลตราไวโอเลตเมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตรสเฟีย กลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อมันอยู่บนพื้นดิน ใน พ.ศ. 2531 มหานครบางแห่งในจำนวน 96 แห่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนอเมริกาครึ่งประเทศ มีระดับโอโซนเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดขึ้นโดนองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) วันที่ท้องฟ้าขมุกขมัวอย่างมากในเมืองที่มีหมอกควันพิษเลวร้ายที่สุดของโลกอันได้แก่ เม็กซิโกซิตี้ เอเธนส์ บูดาเปสต์ และอีกหลายเมืองรัฐบาลต้องประกาศห้ามขับรถยนต์เป็นการชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบจากควันพิษที่ทำให้สุขภาพของประชาชนตกอยู่ในภาวะเลวร้าย

ความรุนแรงของอากาศพิษในประเทศกำลังพัฒนา (อดีต) สหภาพโซเวียตและประเทศในยุโรปตะวันออกเพิ่มขึ้นตามปริมาณรถยนต์ที่เพิ่งสูงลิบ แม้ว่าจำนวนรถยนต์ในประเทศโลกที่สามโดยเปรียบเทียบแล้วจะมีอัตราเพิ่มน้อยกว่าประเทศอุตสาหกรรมก็ตาม แต่มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ในราว 2 เท่า ช่วงครึ่งแรกของคริสตทศวรรษที่ 80 จำนวนรถยนต์ใน (อดีต) สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก (โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์โดยสารซึ่งเกิดจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ) เพิ่มมากกว่า 2 เท่าของอัตราการเพิ่มเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 3 จะทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในอนาคต หากไม่มีมาตรการควบคุมการปล่อยควันเสียจากรถยนต์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งอย่างจริงจังและ (อดีต) สหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกมักจะไม่มีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ

ควันเสียที่เกิดจากรถยนต์ทำให้เมืองมีระดับอากาศพิษเกินค่ามาตรฐานอย่างมาก ยวดยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของไนโตรออกไซด์และสารประกอบอินทรีย์ (ในสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งกำเนิดมากที่สุด) ที่จะพัฒนาไปเป็นโอโซน เชื่อกันว่า โอโซนทำให้ผลผลิตของถั่วเหลือง ฝ้ายและพืชผลอื่นๆ ลดลงราวร้อยละ 5-10 คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 5 พันล้านเหรียญต่อ 1 ฤดูการผลิตเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ไนโตรเจนออกไซด์สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศกลายเป็นฝนกรด ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำในทะเลสาบและแม่น้ำและคาดว่าเป็นตัวการทำลายป่าไม้ทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ

ความสูญเสียดังกล่าวข้างต้นนี้น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับหายนะภัยที่เกิดขึ้น “สภาวะโลกร้อน” ซึ่งสามารถทำลาย “ชีวาลัย” ให้สูญสิ้น ประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจกที่มีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของปรากฏการณ์ “โลกร้อน”) ทั่วโลก เกิดจากการปล่อยควันเสียของยานยนต์ ส่วนคาร์บอนมอนนอกไซด์มีผลทางอ้อมของปรากฏการณ์ “โลกร้อน” โดยก๊าซมีเธนและโอโซนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก 2 ชนิดย่อย จะแยกตัวออกอย่างช้าๆ จากชั้นบรรยากาศที่ต่ำกว่า

การใช้ยานยนต์มากเกินไปต้องพึ่งพาน้ำมันมากยิ่งขึ้น ทำให้เงินตราของประเทศรั่วไหลออก ในปี พ.ศ.2531 สหรัฐอเมริกานำเข้าน้ำมันคิดเป็นเงินประมาณ 26 พันล้านเหรียญ หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของการขาดดุลการค้าต่างประเทศ การใช้น้ำมันในภาคการคมนาคมขนส่งของประเทศต่างๆ มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้น้ำมันปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศนั้นๆ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 63 และเคนยาร้อยละ 91 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะลดลงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ประเทศโลกที่สามยังมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการใช้เงินตราต่างประเทศที่กู้มาส่วนใหญ่เพื่อซื้อน้ำมัน ในปี พ.ศ.2528 ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำ (รวมถึงประเทศจีน) ใช้เงินรายได้จากการส่งออกด้านพาณิชยกรรมโดยเฉลี่ยร้อยละ 33 เพื่อนำเข้าพลังงาน หลายประเทศต้องจ่ายเกินกว่าครึ่ง

วิกฤตการณ์น้ำมันของคริสตทศวรรษที่ 70 ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความไม่แน่นอนของน้ำมันปิโตรเลียมในฐานะแหล่งพลังงาน ผลคือ ประเทศที่พึ่งพารถยนต์เกิดปัญหาตามมามากมาย ถึงแม้ว่าราคาและการจัดจำหน่ายน้ำมันทรงตัวในปัจจุบันซึ่งทำให้ประเทศผู้ซื้อพอใจ แต่ความต้องการน้ำมันยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิกฤติน้ำมันจึงเกิดขึ้นอีกในคริสทศวรรษ 90