#จักรยานสองขาท้าโลก
ธารา บัวคำศรี แปลเรียบเรียงจาก
The Bicycle: Vehicle for a Small Planet, Worldwatch Paper #90, September 1989 เขียนโดย Marcia D. Lowe
ดาวน์โหลด pdf ไฟล์ จักรยาน พาหนะเพื่อโลกใบน้อย
——————
การศึกษาภาคสนามที่ดำเนินการโดยบริษัทเทคโนโลยีคมนาคมขนส่งที่เหมาะสม มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน อังกฤษ ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่โครงการพัฒนาชนบทในประเทศโลกที่สาม แสดงให้เห็นว่า จักรยานสามารถเพิ่มศักยภาพการเดินทางส่วนตัว (ทั้งในด้านความเร็วและการบรรทุกสัมภาระ) ได้มากกว่าการเดินเท้าอย่างน้อย 5 เท่า การต่อรถพ่วงกับจักรยานทำให้คนขับบรรทุกสิ่งของตั้งแต่ 200 กิโลกรัมขึ้นไปได้อย่างสบาย มากกว่าน้ำหนักของสัมภาระที่หัวแบกได้สูงสุดหลายเท่าตัว
การคมนาคมขนส่งแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ช่วยลดเวลาและการสูญเสียแรงงานคนภายใต้เศรษฐกิจการขนส่งที่ใช้การเดินเท้าและแบกหามได้อย่างมาก ยกเว้นพื้นที่ที่ห้ามขี่จักรยาน พาหนะราคาถูกนี้สามารถบรรเทางานหนัก โดยเฉพาะงานของผู้หญิงในแต่ละวัน ถึงแม้ว่า ตามประเพณีของประเทศต่างๆ ในแอฟริกาผู้ชายไม่ได้เป็นคนตักน้ำมาเก็บไว้ใช้ในครอบครัว การศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า ผู้ชายทำเช่นนั้นได้หากมีรูปแบบการเดินทางขนส่งนอกไปจากการแบกสิ่งของสัมภาระไว้บนหลังหรือหัว
วิศวกรหลายคนทำการคิดค้นดัดแปลงเทคโนโลยีพลังถีบแบบต่างๆ เพื่อประเทศโลกที่สาม พาหนะที่เรียกว่า Oxtrike พัฒนาต้นแบบในคริสตทศวรรษที่ 70 โดย Stuart Wilson ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด Oxtrike เป็นพาหนะที่มีแท่นรองขนาดใหญ่ใช้บรรทุกของหนักและบางครั้งติดเกียร์เข้าไปด้วย องค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนาทำการออกแบบจักรยานและรถพ่วงบรรทุกสิ่งของที่มีความแข็งแรงทนทาน และปรับปรุงพาหนะที่ออกแบบเพื่อคนพิการ Job S. Ebenzer อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อชนบทในเมืองมัสดาส อินเดีย เสนอวิธีการให้ชาวบ้านกลุ่มต่างๆ ออกแบบเพื่อดัดแปลงจักรยานไปใช้ในวัตถุประสงค์ของตนเช่น ใช้ผ่อนแรงในการนวดข้าว แกะเปลือกถั่ว หรือสูบน้ำ เป็นต้น และง่ายแก่การดัดแปลงจักรยานไปใช้ในการคมนาคมขนส่ง องค์กร Inter Pares แห่งแคนาดาก็กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบสามล้อขึ้นใหม่โดยพัฒนาเป็นต้นแบบสำหรับชาวยุโรปสูง 6 ฟุต โดยทำให้เป็นพาหนะที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก และเป็นพาหนะที่ชาวบังคลาเทศโดยทั่วไปซึ่งมีร่างสูงใหญ่ 5 ฟุต นั่งโดยสารได้มากขึ้น
จักรยานเป็นพาหนะที่คนจำนวนมากใช้ประกอบอาชีพในเศรษฐกิจนอกระบบของประเทศโลกที่สาม พ่อค้าแม่ค้าซึ่งประกอบกิจการด้วยเงินทุนจำนวนน้อยหรือไม่ใช้เงินทุน มีถึงร้อยละ 20-70 ของกำลังแรงงานในเขตเมือง ประเทศแทนซาเนีย- จักรยานใช้ขนหนังสือพิมพ์เร่ขายอยู่ในเมือง ประเทศศรีลังกา-จักรยานใช้ขนอาหารกลางวันร้อนๆ ส่งให้กับกรรมกรโรงงาน และประเทศอิหร่าน-ใช้จักรยานบรรทุกขนมปังสดไปขาย เป็นต้น
คนถีบสามล้อรับจ้างจำนวนนับหมื่นแสนใช่สามล้อเป็นเครื่องมือหากิน สำหรับชาวนาไร้ที่ดิน ขั้นตอนต่อมาคือการถีบสามล้อรับจ้าง กลุ่ม Unnayan ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรึกษาแห่งเมืองกัลกัตตา คำนวณว่าในปี พ.ศ.2523 คนขับสามล้อรับจ้างสามารถทำรายได้เลี้ยงชีวิต 300 เหรียญต่อปี ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ย สามล้อในบังคลาเทศรับส่งผู้โดยสารได้เกินครึ่งของเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสารทุกคนในเมือง และมีการจ้างงานทั้งคนถีบสามล้อเจ้าของกิจการ คนประกอบสามล้อ และช่างซ่อมประมาณ 140,000 คน พลังถีบมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดจำหน่ายสินค้าอีกด้วย คนถีบสามล้อ หรือ Tricicleros ราว 5,000 คน ในเมืองซานโตโดมิงโก เมืองหลวงสาธารณรัฐโดมินิกัน ใช้สามล้อสำหรับงานหนักเพื่อจำหน่ายอาหารสด รับซื้อเศษโลหะ และวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
ศาสตราจารย์ V.Setty Pendakur แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ผู้บริหารการคมนาคมขนส่งของเมืองในเอเชียใต้ เชื่อว่าผลประโยชน์ด้านสังคมของการเดินทางด้วยพาหนะพลังถีบ ได้แก่ การจ้างงานการเข้าถึงจุดหมายปลายทางโดยสะดวก และการมีเงินซื้อจักรยานมาใช้ เป็นต้น มีอย่างเหลือล้นเมื่อเทียบกับผลเสียของระบบขนส่งมวลชลแบบรถยนต์ซึ่งขาดประสิทธิภาพในแง่ของขนาดที่เหมาะสม
แต่ทัศนคติเชิงลบที่มีต่อพาหนะพลังมนุษย์เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเมืองของประเทศโลกที่สาม ในเขตชนบทนั้นก็มีมากที่สุด หลายทศวรรษ รัฐบาลของประเทศต่างๆ เหล่านี้ นำงบประมาณพัฒนาชนบทไปสร้างถนน รถยนต์ ลืมความจริงที่ว่า คนชนบทเกือบทั้งหมดไม่มีรถยนต์หรือรถบรรทุก และระบบขนส่งมวลชนด้วยรถยนต์ยังเข้าไปไม่ถึง การศึกษาวิจัยครั้งแล้วชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายของคนและสินค้าแทบจะไม่ได้เกิดขึ้นบนโครงข่ายถนนเลย แต่เดินทางไปมาในท้องนาระหว่างหมู่บ้าน แหล่งน้ำและแหล่งเชื้อเพลิง Wilford Owen ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า “ถนนยาวหลายไมล์ในประเทศยากจน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าใช้ประโยชน์ในการตากถั่วและพริกไทยมากกว่าการเดินทางสัญจรไปมา”
แม้ว่า ผู้วางนโยบายสามารถขยายการคมนาคมขนส่งที่ใช้งบประมาณต่ำด้วยการส่งเสริมจักรยานและพาหนะพลังมนุษย์อื่นๆ แต่มีน้อยมากที่พวกเขาจะทำเช่นนั้น ผู้บริหารของเมืองหลายเมืองไม่ค่อยถูกโฉลกกับสามล้อรับจ้าง รถเข็น หายเร่ แผงลอย โดยบีบบังคับพวกเขาด้วยกฏหมาย ค่าปรับและเก็บภาษี หรือไม่ก็ปิดหนทางหากินของพวกเขาอย่างสิ้นเชิงโดยการสั่งห้ามหรือยึด ไม่นานมานี้ ที่ดักกา บังคลาเทศ สามล้อรับจ้างค่อยๆ หายไป ถึงแม้ความจริง พวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่บริการผู้คนที่เดินทางไปมาเกินครึ่งของจำนวนการเดินทางของผู้โดยสารทั้งหมดในเมือง และทำให้มีการจ้างงานราว 140,000 คน ก็ตามที ที่กรุงจากาตาร์ อินโดนีเซีย เพื่อลดปัญหาการจราจรคับคั่ง มีการยึดรถสามล้อรับจ้างราว 100,000 คันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และนำไปทิ้งทะเล ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และแอฟริกาบางประเทศ ซึ่งมีคนถีบสามล้อรับจ้างน้อยกว่า ก็ยังต้องเสี่ยงกับการถูกจับอีกด้วย
โดยทั่วไป รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ จะแก้ต่างว่าการกระทำรุงแรงกับสามล้อรับจ้าง ทำไปเพราะว่าการเดินทางด้วยสามล้อไม่มีความปลอดภัยหรือการถีบสามล้อทารุณเกินไป แต่เหตุผลที่มากกว่านั้นคือต้องการให้พาหนะแรงถีบ (ที่ถือว่าเป็นขยะของเมืองและทำให้เมืองดูล้าหลัง) ออกไปเสียจากท้องถนน การศึกษาของศาสตราจารย์ V. Setty Pendakur “สามล้อรับจ้างทำให้มีการจ้างงานมากที่สุดในแง่การลงทุนและบริการคนยากไร้อย่างมีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น เข้าถึงพื้นที่ที่รถประจำทางไม่สามารถเข้าถึง ความจำเป็นต้องไปสู่ความทันสมัย พร้อมไปกับการทำให้ชีวิตของคนถีบสามล้อพ้นจากความทุกข์ยาก คำตอบไม่ได้อยู่ที่ระบบการคมนาคมแบบยานยนต์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมาก แต่อยู่ที่การออกแบบสามล้อรับจ้างและถนนให้ดีขึ้น”