บริสุทธิ์เท่าน้ำนมแม่   คำพูดนี้จะไม่ได้ยินจากปากของหมอมิยาตะ ฮิเดกิ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับนับถือ จากการศึกษาทดลองของเขาที่ดำเนินการเป็นระยะ เขาสงสัยมานานแล้วว่าน้ำนมแม่ชาวญี่ปุ่นอาจปนเปื้อนด้วยมลพิษไดออกซิน – ปัญหามลพิษที่ประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้

ในความเห็นมิยาตะ มารดาส่วนใหญ่จะให้นมลูกในช่วง 3 เดือนก่อนเปลี่ยนเป็นนมผสม “ผมไม่รู้จะช่วยอย่างไร แต่ขอแนะนำว่า ทารก (ในญี่ปุ่น) ควรห่างไกลจากนมแม่ จะปลอดภัยกว่า “

เมื่อไม่นานมานี้ มลพิษจากไดออกซินกลายเป็นวาระแห่งชาติในญี่ปุ่น เหตุผลหนึ่งคือ เป็นปัญหาที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเผาขยะ ไดออกซินจะเกิดขึ้นเมื่อเผาพลาสติกและขยะที่ประกอบด้วยสารเคมีที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ ขยะในญี่ปุ่นมากกว่า 3 ใน 4 ส่วนนำไปเผาในโรงงานเผาขยะที่รับรองโดยรัฐบาลซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,840 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีเพียงโรงงานเผาขยะไม่กี่แห่งที่ควบคุมการปล่อยไดออกซิน

เมื่อมิยาตะ ศึกษาเรื่องไดออกซินเป็นครั้งแรก จากเอกสารวิจัยของรัฐบาลอเมริกันในช่วงต้นทศวรรษ 1970s(พ.ศ.2513-2518) ยังไม่มีใครรับรู้ถึงอันตรายจากไดออกซินมากนัก จนกระทั่งผลกระทบจากฝนเหลืองที่สหรัฐอเมริกานำมาโปรยในสงครามเวียดนามเปิดเผยให้คนทั้งโลกได้รับรู้ ไดออกซินจึงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แท้ที่จริง รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งตื่นตัวกับปัญหาไดออกซินเพียง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง

มิยาตะยังทำการศึกษาเรื่องโพลีคลอริเนเตด ไบฟีนิล (PCBs) ที่สถาบันสาธารณสุขเมืองโอซากาโดยเฉพาะกรณีน้ำมันรำข้าวที่ปนเปื้อน PCBs ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 126 คน ในปี พ.ศ.2511 และทำการจำแนกสารพิษอื่น ๆ อีก 2 ตัว ออกจากกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้รวมเข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ. 2541

ช่วงปี พ.ศ. 2523-2532 มิยาตะร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Setsunan ใกล้เมืองเกียวโต ได้หันเหความสนใจมาศึกษาเรื่อง       ไดออกซินที่เกิดจากโรงงานเผาขยะ พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปไหนไกล พวกเขาพบปริมาณไดออกซินที่สูงมากปรากฎอยู่ในเศษตกค้างและเถ้าที่เกิดจากโรงงานเผาขยะเทศบาล 3 แห่ง ในเมืองโอซากา ยิ่งกว่านั้น ยังพบไดออกซินในน้ำนมแม่ซึ่งบ่งชี้ว่าสารก่อมะเร็งนี้กำลังจะผ่านไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในอนาคต

ช่วงปี พ.ศ. 2536-2538 ชุมชนโตโกโรซาวา ทางเหนือของโตเกียว กลายเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากมีโรงงานเผากากของเสียอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากในพื้นที่ บางแห่งดำเนินการผิดกฎหมาย ชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมานกับกลิ่นเหม็น ทำให้ระคายเคืองสายตาและไอ ต้นสนในละแวกนั้นกลายเป็นสีดำ

ด้วยความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ชาวบ้านจึงไปพบมิยาตะ เขาทำการวิเคราะห์ดินและพบไดออกซินปนเปื้อนในระดับสูงมาก มีการตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง และทำให้เกิดการต่อสู้ของชาวบ้าน ในปี พ.ศ. 2541 เมืองโตโกโรซาวากลายเป็นเมืองในญี่ปุ่นที่มีรหัสควบคุมการปล่อยไดออกซินของตนเอง ตัวอย่างดินทั่วประเทศญี่ปุ่นถูกส่งมาวิเคราะห์ที่สำนักงานของมิยาตะอย่างไม่ขาดสาย

รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่องช้ามากในการรับมืออันตรายจากไดออกซินและ ยังตามหลังประเทศอุตสาหกรรมในการกำหนดค่ามาตรฐานการรับไดออกซินเข้าไปในร่างกายต่อวัน ความพยายามของมิยาตะมีส่วนทำให้รัฐบาลเข้มงวดกับค่ามาตรฐานมากขึ้น ข้อกำหนดล่าสุดซึ่งมีผลในทางปฏิบัติในเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 และ ภายในปี พ.ศ. 2545 เป้าหมายคือ ลดการปล่อยไดออกซินลงร้อยละ 90 จากระดับที่กำหนดในปี พ.ศ. 2541

ไดออกซินเป็นสัญลักษณ์ของวิถีชีวิตบริโภคนิยมร่วมสมัยของญี่ปุ่นที่อยู่บนฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก วัฒนธรรมเช่นนี้มีราคาแพง ผู้คนต้องจ่ายคืนให้กับสิ่งแวดล้อมสำหรับสิ่งที่กระทำหรือไม่กระทำลงไป มิยาตะเตือนว่า “หากเรายังคงดำเนินชีวิตเช่นนี้อยู่ ก็เท่ากับเรากำลังกัดกลืนตัวเอง”