เรื่อง : ธารา บัวคำศรี

กรณีเรือลากจูงบรรทุกถ่านหิน 1,700 ตันล่มบริเวณปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา แถบวัดอโศการาม ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการอันเนื่องมาจากคลื่นลมแรง ในคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นอย่างดีว่าอุบัติเหตุเรือบรรทุกถ่านหินเป็นผลให้ถ่านหินที่ยังไม่ได้เผาไหม้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศได้

การที่รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล บอกว่า เนื่องจากถ่านหินมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำและมีความแข็งโดยจะจมลงไปกองใต้ท้องทะเล ดังนั้นในเชิงความเป็นมลพิษจึงไม่มีผลกระทบที่น่าเป็นห่วง(1) เป็นข้อสรุปที่หยาบเกินไปโดยมองข้ามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านผลกระทบทางชีวภาพของถ่านหิน (ที่ยังไม่ได้เผาไหม้)ในสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนความเป็นพิษของสารปนเปื้อนของถ่านหินในสิ่งมีชีวิตและประชากรสิ่งมีชีวิต

การศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของละอองถ่านหินแขวนลอยที่เพิ่มขึ้นในแหล่งน้ำทำให้เกิดรอยขีดข่วนในพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นทะเลหรือเกิดรอยขีดข่วนต่อโครงสร้างเช่น โขดหินและเสาของท่าเทียบเรือได้ ความเป็นไปได้และความรุนแรงของผลที่จะเกิดขึ้นนี้ขึ้นอยู่ความเข้มข้น ขนาดและมุมของเศษถ่านหินรวมถึงความแรงของกระแสน้ำ

ปริมาณของอนุภาคถ่านหินมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ อนุภาคถ่านหินที่แขวนลอยในน้ำยังบดบังแสงแดดที่ส่องลงไปยังพื้นทะเล เช่นเดียวกับอนุภาคแขวนลอยอื่นๆ  ซึ่ง มีผลทำให้ลดการเจริญเติบโตของพืช เช่น พืชทะเล(seaweeds), หญ้าทะเล(seagrasses)และสาหร่ายขนาดเล็กมาก(micro algae) เป็นต้น ลักษณะของผลกระทบจะขึ้นอยู่กับจำนวนและขนาดของอนุภาคถ่านหินแขวนลอย ระยะเวลาที่สิ่งมีชีวิตสัมผัสกับอนุภาคถ่านหินและความขุ่นของน้ำในเวลานั้น (2)

การตกตะกอนของเศษผงถ่านหินลงบนพื้นผิวของพืชที่อยู่เหนือน้ำและใต้น้ำสามารถทำให้เกิดการลดความสามารถสังเคราะห์แสงของพืชเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น พบการสะสมของฝุ่นถ่านหินตามกิ่ง ก้าน ใบและลำต้นของพืชในป่าชายเลนในเขตท่าเรือส่งออกถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ที่อ่าวริชาร์ด(Richards) ทำให้การแลกเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และ chlorophyll fluorescence ลดลงร้อยละ 17–39 แม้ไม่มีหลักฐานว่าผงถ่านหินมีความ เป็นพิษต่อใบไม้หรือไม่ แต่พืชในป่าชายเลนที่อยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดฝั่งถ่านหินจากท่าเรือส่งออกถ่านหินมีสภาพที่เสื่อมโทรมมากกว่าเมื่อเทียบกับพืชในป่าชายเลนที่อยู่ห่างออกไป

อนุภาคแขวนลอยของถ่านหินอาจทำให้เกิดการอุดตันในระบบการกินและการหายใจของสัตว์ทะเลหลายชนิด การลดความสามารถการรับอาหารและการหายใจสามารถส่งผลต่ออวัยวะในร่างกายของสัตว์ทะเลเหล่านั้น ในกรณีของหอยสองฝา(bivalve molluscs) การอุดตันของถ่านหินทำให้อัตราและประสิทธิภาพการกินลดลงหรือบางครั้งหยุดไปเลย มีเหตุผลพอที่จะกล่าวได้ว่า กลุ่มสัตว์ทะเลที่ไม่ค่อยทนทานต่อระดับที่สูงมากขึ้นของอนุภาคแขวนลอยในน้ำทะเลอย่างเช่น ฟองน้ำทะเล(sponges) ปะการังแข็ง(scleractinian corals)บางชนิด ใส้เดือนทะเล(serpulid polychaetes) และเพรียงหัวหอม(ascidiand) เป็นต้น จะมีผลกระทบในลักษณะเดียวกัน

เศษถ่านหินที่ยังไม่ได้เผาไหม้จึงสามารถพบได้ทั่วไปในตะกอนดินทะเล โดยเฉพาะในบริเวณที่ใช้จัดเก็บถ่านหิน บริเวณที่มีการขนถ่ายถ่านหิน ตามเส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหิน การศึกษาในสหราชอาณาจักรพบว่า ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีการทิ้งกากของเสียถ่านหิน ถ่านหินที่ยังไม่ได้เผาไหม้มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 27 ของสสารที่สามารถเผาไหม้ได้ในตะกอนดินชายฝั่ง การที่ถ่านหินมีแรงโน้มถ่วงจำเพาะที่น้อยกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ในตะกอนดิน กระแสน้ำจึงสามารถพัดพาเศษถ่านหินขนาดใหญ่และตกตะกอนลงในทรายหรือกรวดที่มีขนาดเล็กกว่าได้

เราต้องไม่ลืมว่าถ่านหินมีคาร์บอนและสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบรวมถึงสารอนินทรีย์ในรูปของความชื้นและแร่ธาตุต่างๆ เมื่อสารอนินทรีย์ในถ่านหินมีปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อมภายนอกจะทำให้เกิดผลลัพธ์ตามมา ถ่านหินที่ยังไม่เผาไหม้เป็นแหล่งกำเนิดอย่างดีของความเป็นกรด ความเค็ม โลหะหายาก ไฮโดรคาร์บอน ปริมาณออกซิเจนที่สารเคมีใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์(COD) รวมถึงธาตุอาหาร(ที่พืชต้องการในปริมาณมาก)ในสิ่งแวดล้อมทางน้ำซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำได้ โลหะหายากและโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน(PAHs)นั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญของถ่านหิน สารประกอบเหล่านี้สามารถซึมออกจากถ่านหินเมื่อสัมผัสกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงการจัดเก็บถ่านหินไว้ในลานกอง หรือจากการตกหล่นรั่วไหลระหว่างการขนส่งทางทะเลหรือขนถ่าย ณ ท่าเรือ ซึ่งในที่สุดก็จะเข้าปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทางน้ำ

อุบัติเหตุเรือบรรทุกถ่านหินที่ทะเลไทยนี้อาจมิใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ตราบเท่าที่เรายังมีการใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้นทั้งในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษ สิ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพอทำได้คือการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก

ในรายงาน EIA ของโครงการท่าเรือคลองรั้วซึ่งจะใช้เป็นจุดขนถ่ายถ่านหินจากต่างประเทศมายังโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ ได้ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ทะเลจีนใต้ อินโดจีน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นเส้นทางขนส่งถ่านหินมายังโครงการ เป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ในรายงาน EIA ระบุว่าได้เลือกใช้เรือบรรทุกถ่านหินขนาด 10,000 เดทเวทตันในการขนส่งถ่านหิน ในการแง่ของการเกิดอุบัติเหตุ จัดเป็นอันดับที่ 3 ในบรรดา 15 อันดับของการเกิดอุบัติเหตุเรือทั่วโลก (4) ผู้จัดทำรายงานคือบริษัททีม คอนซัลติ้ง ได้อ้างถึงข้อมูลของสถิติการจราจรทางน้ำของกรมเจ้าท่าว่าในปี 2552 มีเรือขนส่งถ่านหินเกิดอุบัติเหตุกระแทกเพียง 1 ครั้ง และนับตั้งแต่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดดำเนินการมาไม่มีการรายงานว่ามีการโดนกันของเรือขนถ่ายถ่านหิน จึงสรุปว่า โอกาสของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งถ่านหินนั้นมีน้อย

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความรุนแรง ผู้จัดทำรายงานคือบริษัททีม คอนซัลติ้ง ได้สรุปว่า “ในกรณีของอุบัติเหตุของเรือบรรทุกถ่านหิน มีค่าโอกาสการเกิดอยู่ที่ระดับ 2 (โอกาสน้อย) และค่าความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 4 (เกิดผลกระทบต่อบุคคลและทรัพย์สิน) ดังนั้น การประมาณระดับความเสี่ยงจึงอยู่ที่ระดับ 8 (ทรัพย์สินเสียหายมากและต้องหยุดการผลิตในบางส่วน)

แทบจะไม่ต้องกล่าวเลยว่า นี่คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างน่าละอาย การขนถ่ายถ่านหินจากต่างประเทศโดยเรือขนาด 10,000 เดทเวทตัน ประมาณ 200-300 เที่ยวต่อปี ตรงมายังท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วต้องผ่านเข้าไปในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ 2 ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์แหล่ง หญ้าทะเล แนวปะการังและแห่งอาหารของชุมชน และในบริเวณที่ 3 ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์เพื่อการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ในขณะที่พื้นที่ตั้งโครงการท่าเทียบเรือนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่

ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศโดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ ประเทศไทยในฐานะภาคี “จักต้องวางแผนและดำเนินการเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งได้บรรจุไว้ในทะเบียนและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำในดินแดนของตนอย่างชาญฉลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และ “จักต้องดำเนินการให้ได้รับแจ้งโดยเร็วที่สุดหากลักษณะทางนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำใดๆ ในดินแดนของตนและที่บรรจุอยู่ในทะเบียนได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือกำลังเปลี่ยนแปลงหรือมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี ภาวะมลพิษ หรือการรบกวนอื่นๆ จากมนุษย์ ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนั้นจักต้องถูกส่งไปโดยไม่ชักช้ายังองค์กรหรือ รัฐบาลที่รับผิดชอบการดำเนินงานของสถาบันดังระบุในมาตรา 8” (ซึ่งในที่นี้คือ สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN)

ดังนั้น หากเรือขนส่งถ่านหินล่มในทะเล ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ชายฝั่งทะเลและทะเลที่ค้ำจุนสังคมมนุษย์นั่นแหละคือเดิมพันหมายเหตุ:

(2) Michael J. Ahrens & Donald J. Morrisey, “Biological Effects of Unburnt Coal in the Marine Environment”, Oceanography and Marine Bilology : An Annual Review, 2005, 43, 69-122.

(3) อ้างแล้ว

(4) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่งแอนด์แมเนจเมนต์ จำกัด, ร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่, กันยายน 2557.