เรื่อง : ธารา บัวคำศรี
ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินของมาเลเซียเป็นที่สองรองจากอินโดนีเซีย ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 33 โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 7,056 เมกะวัตต์ รัฐบาลมาเลเซียคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2562 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64
ภาพจาก Save Our Seahorses http://www.sosmalaysia.org
โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องแล้วบนคาบสมุทรมาเลเซีย ทั้งหมดตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินของ Kapar Energy Ventures กำลังผลิตติดตั้ง 1,486 เมกะวัตต์ ที่ Kapar รัฐสลังงอ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ราว 56 กิโลเมตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung กำลังผลิตติดตั้งรวม 2,100 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ถมทะเลชายฝั่งรัฐเประ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin กำลังผลิตติดตั้ง 2,100 เมกะวัตต์ ในรัฐยะโฮร์ใต้สุดของคาบสมุทร และโรงไฟฟ้าถ่านหินของ Jimah Energy ในรัฐเนกรีเซมบีลัน กำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กอีก 4 แห่ง (กำลังผลิตติดตั้งแต่ละแห่งอยู่ระหว่าง 100-200 เมกะวัตต์) ในรัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ขณะที่แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐซาบาห์ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างเข้มแข็งจากประชาชนในพื้นที่
อรรถาธิบายข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งคือที่มาที่ไปที่อุตสาหกรรมถ่านหินและพวกพ้องในประเทศไทยหยิบมาใช้อ้างและตอบโต้ว่าเราจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทความส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส บนเว็บไซต์ area.co.th เรื่อง วิพากษ์กรีนพีช: เอกสารถ่านหินกระบี่ที่บิดเบือน
ในบทแถลงของ ดร.โสภณ พรโชคชัย อ้างว่า “…ถ่านหินบิทูมินัสที่ใช้เป็นถ่านหินชั้นดีกว่าถ่านหินลิกไนต์และได้รับการพิสูจน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กระบี่อยู่บนผืนดินห่างจากทะเล) หลายโรง อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ตลอดจนโรงแรมรีสอร์ตต่างๆ ก็ไม่ได้ก่อมลภาวะอะไร ผลการศึกษาที่ผ่านก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม…”
การศึกษาที่นำมาอ้างเป็นงานวิจัยเรื่อง Health Risk Assessment in Coal-Fired Power Plant in Malaysia ที่นำเสนอและตีพิมพ์ในการประชุมนานาชาติว่าด้วย Process Systems Engineering(PSE ASIA)ครั้งที่ 6 ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเดือนมิถุนายน 2556 การศึกษาเน้นไปที่การใช้แบบจำลอง AERMOD ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบจำลองการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศ (Dispersion Model)ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดและใช้กันแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยวัดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ อาร์เซนิก แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Kapar ในรัฐสลังงอ และระเบียบวิธีการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพเชิงปริมาณ (Quantitative Health Risk Assessment) เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องผลกระทบสุขภาพ
ผลการศึกษาดังกล่าวสรุปว่า ความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Kapar มีระดับไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียและขององค์การอนามัยโลก ผู้ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากแหล่งกำเนิดนั้นรับเอา “มลพิษที่มีความเข้มข้นต่ำมากและอยู่ในระดับที่ยอมรับได้” กลุ่มประชากรดังกล่าวจึงไม่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากมลพิษเหล่านั้น
แต่ทว่าในแถลงของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ที่อ้างงานวิจัยดังกล่าวกลับสรุปว่า “…ผลการศึกษาที่ผ่านมาก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม…”! ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอันใดกับข้อสรุปของการศึกษาชิ้นเดียวที่ตนนำมาอ้างอิงแม้แต่น้อย
ดร.โสภณ พรโชคชัย อาจจะไม่เข้าถึงคำกล่าวที่ว่า “การถกเถียงโดยไม่ต้องหาข้อสรุป นั้นดีกว่าการหาข้อสรุปโดยไม่มีการถกเถียงกันเลย” ที่โยงถึงการอภิปรายถกเถียงเรื่องมลพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตแม้มีระดับน้อยมากถึงหนึ่งส่วนในล้านล้านส่วน มองไม่เห็นและยากที่จะวัดเมื่อหลุดออกจากแหล่งกำเนิดสู่สิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหาร ที่ไม่ควรมองข้าม
ส่วนการวิพากษ์เอกสารเรื่อง “กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” ซึ่งเป็นรายงานเผยแพร่ของกรีนพีซว่ามีลักษณะบิดเบือนนั้น หาก ดร. โสภณ พรโชคชัย อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จะพบว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ในรายงานมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based) และการสำรวจภาคสนาม(field studies) เพื่อสะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 870 เมกะวัตต์ที่กระบี่ การสำรวจภาคสนามอ้างอิงข้อมูลแผนที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงร่างรายงาน EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ สถิติที่นำมาใช้ในรายงานมีที่มาและอ้างอิงไว้ในเชิงอรรถอย่างชัดเจน
รายงานของกรีนพีซยังระบุถึงกระบวนการ EHIA ที่มองข้ามความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย ระบุในแถลงของตนว่า “…พวก NGOs นำพื้นที่ชุ่มน้ำมาอ้างเล่นประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้…” ขณะเดียวกัน ดร.โสภณ พรโชคชัยก็ใช้แผนที่ดาวเทียมจากกูเกิลแสดงที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ของมาเลเซีย และบอกว่า “โรงไฟฟ้าสร้างอยู่ตรงพื้นที่ชุ่มน้ำ เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2549 ถ้าไม่ปลอดภัยจริง ชาวมาเลย์และสิงคโปร์คงโวยไปแล้ว…” นั้นเป็นความขาดตกบกพร่องอย่างถึงที่สุด ด้วยเหตุผลสองสามประการดังนี้
1) พื้นที่ชุ่มน้ำมิใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ตามคำแถลง ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทหน้าที่ตลอดจนคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิตทั้งมนุษย์ พืช และสัตว์ทั้งทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ผลงานวิจัยเรื่อง Assessing the Value of Krabi River Estuary Ramsar Site Conservation and Development รายงานความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผ่นข้อมูล(Information Sheet)ของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ รวมถึงงานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือที่ชาวประมงพื้นบ้านตั้งชื่อว่า “งานวิจัยมหาลัยเล” อันเป็นงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่อาศัยความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรมมาใช้ในการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และใช้แนวคิดพื้นที่อธิบายถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มนํ้าชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นยืนยันได้อย่างดีถึงบทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม และน่าจะเป็นแสงส่องทางให้แก่ ดร. โสภณ พรโชคชัย ได้บ้าง
2) การใช้ข้อมูลแผนที่ดาวเทียมจาก google เพื่อแสดงทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงแรม/รีสอร์ทท่องเที่ยวที่อยู่รายรอบ การอ้าง review ของโรงแรมต่างๆ ที่รายรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินว่าไม่มีการบ่นเรื่องมลพิษ เพื่อจะสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า “ไม่มีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นั้นดูจะตื้นเขินอยู่มิใช่น้อย การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย กลับมิได้นำมาอ้างอิง คือ การศึกษาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung และผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งตีพิมพ์ใน Procedia-Social and Behavioral Science ปี 2556 พบฝุ่นละอองร่างกายรับเข้าไปจากการหายใจอย่าง PM2.5 ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน Manjung มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดโดย USEPA จากการวัดที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมและกรกฎาคม 2554 ในที่นี้ ต้องเข้าใจว่ามาเลเซียและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM2.5 จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน
3) โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ตั้งอยู่ตรงบริเวณริมฝั่งทะเลตรงปากแม่น้ำ Sungai Pulai ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเช่นเดียวกับพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยะโฮร์แห่งนี้ถูกทำลายอย่างขนานใหญ่จากนโยบายการพัฒนา จากการก่อสร้างท่าเรือ Tanjung Pelepas ไปจนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน Tanjung Bin ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และการรุกทำลายป่าชายเลนอีกกว่า 913 แฮกตาร์ เพื่อสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สื่อมวลชนออนไลน์อย่าง Malaysiakini ถึงกับพาดหัวบทความว่า “นักการเมืองสมสู่กับธุรกิจเลวเพื่อแสวงประโยชน์จาก Sungai Pulai” ส่วนกลุ่มจิตอาสาอย่าง SOS Malaysia นั้นก็เป็นกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานติดตามตรวจสอบผลกระทบจากการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว เอกสารของกลุ่มชื่อ “การกระทำย่ำยีที่ Sugai Pulai” สะท้อนเป็นเสียงของประชาชนที่ทวงสิทธิและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนภายใต้การคุมเข้มของรัฐบาลมาเลเซีย
แม้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในคาบสมุทรมาเลเซียนั้นมีขนาดใหญ่และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ชาวประมงจากเครือข่ายปฏิบัติการประมงชายฝั่งแห่งมาเลเซีย(JARING) เผชิญกับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีต่อระบบนิเวศป่าชายเลน การที่น้ำทะเลที่ใช้หล่อเย็นในโรงไฟฟ้าได้ตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำขนาดเล็ก การปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าลงสู่แหล่งน้ำ พื้นที่ทำการประมงชายฝั่งถูกจำกัด และมลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดฝนกรดและเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลซึ่งส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเล และการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐซาบาห์ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาสู่การอภิปรายถกเถียงด้วย