เรื่อง : ธารา บัวคำศรี (ปี 2543)

ณ ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดือนกุมภาพันธ์ 2543 หนึ่งวันก่อนการประชุม UNCTAD ในกรุงเทพฯ กลุ่มกรีนพีซร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติการบาเซลได้เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพัฒนาซึ่งคือ UNCTAD ยุติการส่งเสริมการส่งออกกากของเสียอันตรายจากประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา โดยชี้ให้เห็นถึงกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น กากของเสียที่มีปรอทปนเปื้อนที่ถูกทิ้ง ณ ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา ในปี 2541 ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มบริษัทฟอร์โมซาพลาสติกในใต้หวัน การรื้อทำลายเรือเดินสมุทรที่หมดอายุในอินเดียและจีน การทิ้งกากของเสียทางการแพทย์จากญี่ปุ่นมายังฟิลิปปินส์ เป็นต้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐอเมริกาที่นำไปทิ้งในจีนแผ่นดินใหญ่โดยอ้างว่าเป็นการรีไซเคิล

การที่ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาบาเซลเมื่อปี 2540 ดูเหมือนจะเป็นสัญญานว่า เราจะรอดพ้นจากปัญหาการทิ้งกากสารพิษข้ามพรมแดนดังที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียได้ประสบกันมา แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

อุบัติสารเคมีระเบิดครั้งร้ายแรง ณ ท่าเรือคลองเตยในปี 2534 เป็นบทเรียนสำคัญของไทย ขณะเดียวกันก็เป็นกรณีฉาวโฉ่กรณีหนึ่งในบรรดาการค้ากากสารพิษในเอเชีย ผลพวงของการระเบิดของสารเคมีลึกลับเหล่านั้นไม่เพียงแต่การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินและสุขภาพอนามัยของประชาชน ยังรวมถึงภาระที่จะต้องจัดการกับกากของเสียที่เหลือซึ่งยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

กรณีการนำเข้ากากของเสียที่ถูกเปิดโปงเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นถึง การค้าสารพิษซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ดำเนินต่อไป แม้ว่าทั่วโลกจะมีกติการะหว่างประเทศออกมาร่วมกันในการยุติปัญหา การรับมือของหน่วยประสานงานและหน่วยงานที่มีอำนาจตามอนุสัญญาบาเซลที่ยังคงไร้ประสิทธิภาพกลายเป็นคำถามที่สำคัญ อนุสัญญาบาเซลซึ่งตระหนักถึงความเสี่ยงของความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุมาจากของเสียอันตรายและของเสียประเภทอื่น และการเคลื่อนย้ายของเสียเหล่านั้นข้ามพรมแดนนั้นมีข้อยกเว้นที่ทำให้ “ธุรกิจการค้าสารพิษในรูปแบบที่แยบยล” เล็ดลอดผ่านไปได้

ความพยายามของกลุ่มประเทศ G77 ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายได้ผลักดันให้มีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นโดยออกสารห้ามการขนส่ง (Basel Ban Amendment) และพิธีสารว่าด้วยความรับผิดชอบและการชดใช้ค่าเสียหาย

สารห้ามการขนส่ง (Basel Ban Amendment) เป็นการห้ามการส่งออกกากของเสียจากกลุ่มประเทศความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) สหภาพยุโรป และลิกเตนสไตน์ไปยังประเทศอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอนุสัญญาบาเซลเดิมอย่างมาก ในแง่ของการอุดช่องโหว่และเสริมความเข้มแข็ง แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากต้องมีประเทศภาคีของบาเซลให้สัตยาบันไม่ต่ำกว่า 62 ประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 28 ประเทศ

ปัญหาใหญ่อยู่ที่บทบาทของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม OECD ที่ยังไม่ลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาบาเซล ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การขัดขวางมิให้เกิดสัตยาบันสารห้ามการขนส่ง สหรัฐอเมริกาใช้ข้อได้เปรียบที่เห็นแก่ตัวดังกล่าวนี้ในการส่งออกกากของเสียไปสู่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีนแผ่นดินใหญ่

ตราบเท่าที่ รัฐบาลของแต่ละประเทศมุ่งเน้นการพัฒนาการค้าเสรีระหว่างประเทศ กากของเสียที่เป็นอันตรายย่อมเป็นหนึ่งในสินค้าเหล่านั้น ตราบเท่าที่ยังคงมีการผลักดันขององค์กรระดับโลกเช่น UNCTAD หรือWTO ในการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติและนโยบายการค้าของประเทศต่าง ๆ เช่น การลดอัตราภาษีศุลกากร การยกเลิกระบบจำกัดโควต้าสินค้า หรือหาแนวทางข้อยกเว้นในการค้ากากของเสียที่เป็นพิษ เป็นต้น การค้ากากสารพิษก็ยังคงเป็นธุรกิจข้ามชาติ และถึงแม้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะปรับกลยุทธ์ในการรับมือต่อความแยบยลของการค้ากากสารพิษทั้งในแง่ของกฎหมายและการเข้มงวดเท่าใดก็ตาม เรายังคงเห็นการค้ากากสารพิษยังดำเนินต่อไปด้วยเหตุที่เรามักเชื่อกันว่า แบบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม การผลิตและการบริโภคของประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าในซีกโลกเหนือเป็นสิ่งที่เราต้องเดินตามอยู่ตลอดเวลา